วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ตรรกะป่วย?

On June 9, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

กรณีที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายไปร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบข้อร้องเรียนรัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบัน 9 คนมีคุณสมบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีผลบังคับใช้แล้ว ส่วนจะต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่อยู่ที่กกต.จะมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดหรือไม่ และส่งไปแล้วศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินออกมาอย่างไร

อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ ว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไรให้รอลุ้น เพราะบรรดารัฐมนตรีทั้ง 9 รายที่ถูกตรวจสอบยังชิลๆ ทำงานตามปรกติ เนื่องจากการสอบต้องใช้เวลารวบรวมหลักฐานประกอบการตัดสินใจของกกต.อีกระยะหนึ่ง

แม้การสอบคุณสมบัติเป็นการทำตามหน้าที่ที่มีคนร้องเรียนมา แต่ก็ยังมีคนมองเรื่องนี้ในมุมทางการเมืองโดยเอาไปผูกโยงกับเรื่องที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีข้อเสนอให้เซตซีโร่กกต.เพื่อทำการสรรหาชุดใหม่ มาทำหน้าที่แทน

เรื่องนี้จะเป็นเรื่องทางการเมืองหรือไม่ หรือเป็นแค่การทำหน้าที่ตามปรกติเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่สิ่งที่เราได้เห็นชัดเจนจากกรณีนี้คือความสองมาตรฐานในการบังคับใช้กฎหมายที่ยังคงมีอยู่

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. พูดตอนหนึ่งในการเป็นประธานเปิดงานสัมมนารับฟังความเห็นต่อร่างยุทธศาสตร์แผนสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560-2579 ภายใต้ทิศทางยุทธศาสตร์ 20 ปี เกี่ยวกับการสอบคุณสมบัติรัฐมนตรีไว้น่าสนใจว่า

“ไม่ค่อยสบายใจที่มีการวิจารณ์ว่า กกต.ยื้อ หรือ เอาคืน จากกรณีที่มีการตรวจสอบ 9 รัฐมนตรี ซึ่งคำว่ายื้อไม่อยู่ในทัศนคติของผม แต่เรื่องที่เกิดขึ้นต้องพิจารณาบนหลักการที่ถูกต้องคือ หลักนิติธรรมต่อคนที่มีคุณสมบัติครบแล้วถูกให้ออกไป หลักของความเป็นมาตรฐานถ้าใช้กับองค์กรนี้ต้องใช้กับองค์กรอื่นหรือไม่ หลักเรื่องปลาสองน้ำถูกต้องหรือไม่ เพราะปลาสองน้ำเกิดขึ้นในทุกองค์กร ผมไม่ได้ยื้อ แต่เล่าสิ่งที่เป็นเหตุผลให้สังคมตระหนักว่าเหตุผลที่ถูกต้องคืออะไร

ส่วนประเด็นที่บอกว่ากกต.เอาคืนนั้น ยืนยันว่า กกต.ไม่ได้เอาคืน เพราะการตรวจสอบคุณสมบัติ 9 รัฐมนตรีนั้นเป็นไปตามคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ที่ยื่นเรื่องตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 60 และดำเนินการตามขั้นตอนมาโดยลำดับ จนเข้าสู่การประชุมของกกต. ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. ก่อนที่จะมีการเซตซีโร่กกต. แต่ไม่ได้พิจารณาเพราะกกต. อยู่ไม่ครบห้า ส่วนที่มีรัฐมนตรีบางคนออกมาชี้แจงว่าตัวเองเข้ามาตามรัฐธรรมนูญเก่านั้น ในส่วนของกกต.ก็มาภายใต้รัฐธรรมนูญเก่า แต่มีการกำหนดคุณสมบัติที่สูงขึ้นจึงบอกว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนตามรัฐธรรมนูญใหม่

กรณีมีการโต้แย้งว่ากกต.มีอำนาจหน้าที่หรือไม่นั้น ทางฝ่ายกฎหมายพิจารณาแล้วรัฐธรรมนูญระบุว่าถ้าเป็นเรื่องส.ส. ส.ว. หรือรัฐมนตรีขาดคุณสมบัติเป็นหน้าที่กกต. แต่ผู้ชี้ขาดคือศาลรัฐธรรมนูญ และที่มีการพูดว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหามาจากคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญเก่าทำไมต้องเดือดร้อนด้วยเมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ ด้วยประโยคเดียวกันองค์กรอิสระหรือกกต.เองก็มาภายใต้รัฐธรรมนูญเก่าแต่เมื่อมีการกำหนดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญใหม่ก็มีการคัดคนที่มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนออก ก็ต้องดำเนินการตามนั้น อย่างไรก็ตาม กกต.เป็นแค่บุรุษไปรษณีย์ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่ารัฐมนตรีจำเป็นต้องมีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่”

สิ่งที่นายสมชัยพูดช่วยยืนยันให้สังคมเห็นอย่างชัดเจนอีกครั้งว่าเรื่องการบังคับใช้กฎหมายแบบสองมาตรฐานที่พูดกันมาตลอดนั้นมีอยู่จริงไม่ใช่เรื่องที่มโนหรือคิดกันไปเอง แม้แต่ในยุคปฏิรูปที่มีเป้าหมายต้องการทำให้เกิดความเท่าเทียม ความสมานฉันท์ปรองดองแต่การบังคับใช้กฎหมายแบบสองมาตรฐานก็ยังปรากฏให้เห็น


You must be logged in to post a comment Login