วันพฤหัสที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ธรรมาภิบาล

On June 7, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ในช่วงที่ชมรมคนไม่อยากให้มีเลือกตั้งก่นด่านักการเมือง และแสดงความกังวลว่าหลังเลือกตั้งแล้วจะได้รัฐบาลที่ไม่มีธรรมาภิบาลเข้ามาบริหารปกครองประเทศ จึงอยากให้รัฐบาลทหาร คสช.อยู่บริหารประเทศต่อไปก่อน เพราะเชื่ออย่างหมดใจว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่มีธรรมภิบาลมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

แต่อยู่ดีๆกลับมีข้อมูลปรากฏออกมาโต้แย้งจากสื่อดังอย่างบีบีซีไทย ที่นำเสนอรายงานในหัวข้อ “สามปีหลังรัฐประหาร ท่ามกลางสัญญาปฏิรูป”

รายงานชิ้นนี้จับจ้องไปที่การเพิ่มจำนวนนายทหารเข้าไปนั่งเป็นประธานในคณะกรรมการ หรือบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่เพิ่มจำนวนขึ้นถึง 5 เท่าตัวในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และมีจำนวนทหารอดีตทหารเข้าเป็นกรรมการในบอร์ดเพิ่มขึ้นเกือบ 100% ใน 40 รัฐวิสาหกิจ

รายงานยังระบุว่ารัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่งจาก 15 กระทรวง มีสินทรัพย์รวมกัน 14 ล้านล้านบาท สร้างรายได้ต่อปีถึง 4.3 ล้านล้านบาท โดยเป็นกำไรสุทธิถึง 1.9 แสนล้านบาท ทำให้ถูกมองว่าเป็น “ไข่ทองคำ” ที่ผู้มีอำนาจพยายามเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเสมอ ไม่ว่าจะในยุคพลเรือน หรือ ทหาร

ที่ผ่านมานักการเมือง มักตกเป็นจำเลยว่านิยมตั้งคนที่ไม่มีความเหมาะสมเข้าไปนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ทำให้เกิดปัญหาบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ ขาดทุนซ้ำซาก ไปถึงขั้นมีข้อครหาเรื่องทุจริต เมื่อทหารในนามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจในปี 2557 หนึ่งในวาระเร่งด่วนคือ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ คสช.ออกคำสั่ง ที่75/2557 ตั้งคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ “ซูเปอร์บอร์ด” ให้นายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานขึ้นมาผ่าตัดด้วยตัวเอง

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ในฐานะประธานอนุกรรมการชุดหนึ่งของซูเปอร์บอร์ด เคยระบุว่า หนึ่งในวาระสำคัญในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ คือการตั้งบอร์ดที่ “มีความรู้และประสบการณ์ตรงกับงานของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ”

บีบีซีไทย ตรวจสอบรายชื่อบอร์ดรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง จากชุดก่อนหน้าที่ คสช. จะเข้ามา ผ่านรายงานประจำปี 2556 ของทุกรัฐวิสาหกิจ กับชุดปัจจุบัน ผ่านรายงานประจำปี 2559 หรือเว็บไซต์ของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ พบว่ารายชื่อทหารที่เข้ามานั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 42 คน ใน 24 แห่ง เป็น 80 คน ใน 40 แห่ง หรือเกือบหนึ่งเท่าตัว และจำนวนรัฐวิสาหกิจที่มี ประธานบอร์ดเป็นทหาร ไม่ว่าจะยังรับราชการอยู่หรือเกษียณอายุราชการแล้ว เพิ่มขึ้นจาก 3 แห่ง เป็น 16 แห่ง หรือมากกว่า 5 เท่าตัว

นอกจากนี้ ทหารบางคนนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจมากกว่า 1 แห่ง บางคนเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ควบคู่กันไปด้วย ทำให้เกิดข้อสงสัยเรื่องประสิทธิภาพในการทำงาน เนื่องจากต้องทำงานหลายแห่งในเวลาเดียวกัน

นั่นเป็นส่วนที่เป็นไฮไลท์ของรายงานชิ้นนี้ ส่วนใครที่อยากอ่านรายละเอียดเข้าไปหาอ่านได้ที่ http://www.bbc.com/thai/thailand-40121632?ocid=socialflow_facebook

รายงานชิ้นนี้อาจทำให้หลายคนฉุกคิดเรื่องธรรมภิบาลในยุคนี้ขึ้นมาได้บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเอาไปเปรียบเทียบกับความรู้สึกที่เห็นพรรคการเมืองในรัฐบาลแต่งตั้งคนของตัวเองเข้าไปเป็นประธานบอร์ด หรือกรรมการในรัฐวิสาหกิจ

คำว่าระบบบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี หรือธรรมาภิบาล (GOOD GOVERNANCE) หมายถึง แนวทางในการจัดระเบียบเพื่อให้สังคมของประเทศทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และตั้งอยู่ในความถูกต้องเป็นธรรม ตามหลักพื้นฐานการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี อันประกอบด้วย

1.หลักนิติธรรม (The Rule of Law) 2.หลักคุณธรรม (Morality) 3.หลักความโปร่งใส (Accountability) 4.หลักการมีส่วนร่วม (Participation) 5.หลักความรับผิดชอบ (Responsibility) และ 6.หลักความคุ้มค่า (Cost)

เมื่อพิจารณาองค์ประกอบที่ทำให้เกิดธรรมภิบาลทั้ง 6 ข้อแล้วก็น่าคิดว่าการบริหารประเทศภายใต้รัฐบาลปัจจุบันนั้นมีครบทั้ง 6 ข้อที่ทำให้เกิดธรรมาภิบาลหรือไม่ ซึ่งรายงานเรื่องการตั้งคนเข้าไปนั่งในรัฐวิสาหกิจของบีบีซีไทยเป็นเพียงส่วนย่อยที่สามารถนำมาใช้พิจารณาเรื่องความมีธรรมาภิบาลได้

ไม่ต้องห่วงว่าในอนาคตจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ ไม่ต้องตั้งคำถามกับประชาชนว่าหากหลังเลือกตั้งแล้วถ้าได้รัฐบาลที่ไม่มีธรรมาภิบาลจะทำอย่างไร จะเรียกร้องหาใครเมื่อหัวหน้าคณะรัฐประหารไม่อยู่แล้ว เพราะนั่นเป็นเรื่องของอนาคต

เอาแค่รัฐบาลที่ท่านเป็นผู้นำอยู่ทำให้เกิดธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาประชาชนให้ได้ก่อน โดยเริ่มต้นจากอธิบายให้ประชาชนเข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องเพิ่มทหารจำนวนมากเข้าไปนั่งเป็นประธานบอร์ดและกรรมการในรัฐวิสาหกิจ โดยที่บางคนถ่างขาควบหลายเก้าอี้ในเวลาเดียวกันว่ามันทำให้เกิด “ธรรมาภิบาล” ได้อย่างไร


You must be logged in to post a comment Login