วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ผู้พิชิตโรคเรื้อน / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On June 5, 2017

คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

พยาบาลสาวออกเดินทางไกลหลายพันกิโลเมตร บุกป่าฝ่าดงตามลำพังเพื่อค้นหาสมุนไพรรักษาโรคเรื้อน ความมานะอุตสาหะทำให้เธอได้รับการยกย่องให้เป็นแม่พระ ได้รับการสนับสนุนจากราชวงศ์อังกฤษและรัสเซีย แต่ชื่อเสียงที่สร้างสมมาถูกทำลายลงเพียงเพราะเธอเป็นคนรักร่วมเพศ

เคท มาร์สเดน เริ่มอาชีพนางพยาบาลประจำโรงพยาบาลลอนดอนตั้งแต่อายุ 16 ปี ต่อมาเธอถูกส่งตัวไปช่วยหน่วยกาชาด ทำหน้าที่รักษาพยาบาลทหารรัสเซียที่ประเทศบัลแกเรียในสงครามระหว่างรัสเซียและตุรกีเมื่อปี 1877 หลังสงครามสิ้นสุดลง เธอได้รับพระราชทานรางวัลจากจักรพรรดินีมารีเยีย ฟอโดรอฟนา แห่งรัสเซีย

ช่วงระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ในบัลแกเรีย เคทพบคนป่วยโรคเรื้อนมีสภาพน่าสงสารมาก ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มียารักษา เคททำเรื่องทูลขอพระราชทานทรัพย์สนับสนุนโครงการรักษาโรคเรื้อนจากสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียแห่งอังกฤษ และต่อมาได้เดินทางไปทูลขอพระราชทานทรัพย์จากราชวงศ์รัสเซีย

เคทใช้เงินก้อนนี้เดินทางไปยังประเทศต่างๆค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนเพื่อทำการศึกษาค้นคว้า จนกระทั่งมาถึงเมืองคอนสแตนติโนเปิล ประเทศตุรกี เคทได้พบกับนายแพทย์ชาวอังกฤษคนหนึ่งให้ข้อมูลว่ามีสมุนไพรชนิดหนึ่งมีเฉพาะที่ไซบีเรียเท่านั้นสามารถใช้รักษาโรคเรื้อนได้

เดินทางข้ามโลก

พฤศจิกายน 1890 เคทออกเดินทางจากอังกฤษมุ่งหน้าสู่รัสเซีย โดยมีเอดา ฟิลด์ ทำหน้าที่ล่ามภาษารัสเซีย หลังจากขึ้นจากเรือในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1891 เคทก็เดินทางต่อโดยรถไฟจากกรุงมอสโกจนสุดเส้นทางที่อูรัลส์ แต่ก็ยังไปไม่ถึงไซบีเรีย เธอจึงต้องเดินทางต่อด้วยลากเลื่อน เพราะเขตไซบีเรียเป็นดินแดนที่ถูกปกคลุมด้วยหิมะตลอดทั้งปี

ระหว่างทางเคทได้พบกับพ่อค้าชาวอังกฤษ เขาแนะนำให้เธอเดินทางไปที่เมืองอิรบิต เพราะช่วงเวลานี้มีพ่อค้าจากหลายเมืองจะมาออกร้านประจำปีที่นี่ เธออาจได้ข้อมูลดีๆจากพ่อค้าเหล่านี้เพราะพวกเขาเดินทางไปทั่วประเทศ

เคททำตามคำแนะนำ เดินทางไปยังเมืองอิรบิตทันที เมื่อไปถึงก็พบพ่อค้าหลายคนมาออกร้านที่นี่จริงๆ แม้ว่าจะไม่มีใครเคยได้ยินเรื่องสมุนไพรรักษาโรคเรื้อน แต่พ่อค้าคนหนึ่งบอกว่าเคยเห็นคนป่วยโรคเรื้อนที่เมืองยาคุตสค์

เมื่อถึงเมืองออมสค์ ซึ่งเป็นเมืองชายแดนไซบีเรียฝั่งตะวันตก เคทก็ต้องเดินทางด้วยรถม้าตามลำพัง จนกระทั่งถึงแม่น้ำลีนาก็อาศัยเรือบรรทุกสินค้าเพื่อเดินทางไปยังเมืองยาคุตสค์ พบว่าผู้ป่วยโรคเรื้อนถูกแยกให้ไปอยู่ในสถานกักกันในป่าลึกที่เรียกว่าหมู่บ้านซอสนอฟกา

ผู้ไม่พึงประสงค์

เคทขี่ม้าไปอีกหลายวัน ในที่สุดก็เดินทางมาถึงหมู่บ้านซอสนอฟกาในสาธารณรัฐซาฮา ซึ่งอยู่ทางชายแดนฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของรัสเซีย เธอพบผู้ป่วยโรคเรื้อนอาศัยอยู่รวมกันราว 80 คน การเดินทางทั้งหมดใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง

ดินแดนแห่งนี้อยู่ห่างไกลชุมชน ถูกใช้เป็นเขตเนรเทศผู้ที่ไม่พึงประสงค์ และเป็นเขตกักกันผู้ป่วยโรคเรื้อน เคททำการศึกษาโรคเรื้อนและเก็บสมุนไพรที่เชื่อว่าเป็นยารักษาโรคเรื้อนก่อนจะเดินทางกลับกรุงมอสโก รวมเวลาการเดินทางทั้งสิ้น 11 เดือน

ระหว่างเดินทางกลับ เคทแวะเยี่ยมจวนผู้ว่าฯเมืองอิร์คุตสค์ แนะนำตัวว่าเธอเดินทางมาช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเรื้อนภายใต้การอุปถัมภ์ของจักรพรรดินีมารีเยีย ฟอโดรอฟนา จะขอรณรงค์หาเงินช่วยเหลือผู้ป่วย เคทได้รับเงินก้อนแรกจำนวน 20,000 รูเบิล หลังจากนั้นก็ได้แวะตามเมืองต่างๆระหว่างเดินทางกลับเพื่อรณรงค์หาเงินเพิ่มเติม เงินที่ได้รับบริจาคถูกนำไปใช้ในการสร้างสถานบำบัดผู้ป่วยโรคเรื้อน

หลังจากเดินทางกลับอังกฤษ เคทได้รับการเสนอชื่อเป็นสมาชิกสมาคม Royal Geographic Society ของประเทศอังกฤษ ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญในวงการแพทย์คนหนึ่งจากการอุทิศตนเพื่อหาวิธีรักษาโรคเรื้อน

น้ำตาลขม

เคทเดินทางไปยังนิวซีแลนด์เพื่อดูแลลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งซึ่งป่วยด้วยโรควัณโรค เธออาศัยอยู่ในนิวซีแลนด์เป็นเวลา 5 ปี สุดท้ายญาติของเธอก็เสียชีวิต เคทเดินทางออกจากนิวซีแลนด์มุ่งหน้าไปทวีปยุโรป ระหว่างการเดินทางเธอพบกับเอลเลน เฮวิตต์ ทั้งคู่สนิทสนมกันอย่างรวดเร็วและตัดสินใจท่องยุโรปไปด้วยกัน

ดูเหมือนว่าเอลเลนจะกลายเป็นสปอนเซอร์ให้กับเคท เพราะเธอเป็นคนออกค่าใช้จ่ายเกือบทั้งหมดระหว่างท่องเที่ยว ในที่สุดเอลเลนก็สุดจะทน เอ่ยปากต่อว่าเคทที่เอาเปรียบ ความสัมพันธ์ขาดสะบั้นลง เอลเลนเดินทางกลับนิวซีแลนด์ ป่าวประกาศให้ทุกคนระวังตัวหากจะคบหาสมาคมกับเคท

ไม่เพียงแค่นั้น เอลเลนยังสืบหาข้อมูลจนพบว่าเคทมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเงินๆทองๆมากมาย เช่น เป็นนายหน้าขายเฟอร์นิเจอร์ให้กับเพื่อนที่ย้ายบ้าน แต่งุบงิบเอาเงินที่ขายได้ไว้เอง ไม่ส่งไปให้เพื่อน โกงเงินจากบริษัทประกันชีวิตด้วยการแจ้งค่ารักษาพยาบาลที่เธอไม่ได้ป่วยจริง

เหยียบให้จมดิน

เรื่องราวด้านมืดของเคทได้ยินถึงหูอิซาเบล ฮาพกูด นักเขียนชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับรัสเซีย จะด้วยเหตุผลใดก็ตามเธอตั้งธงที่จะโค่นล้มเคทให้ได้ อิซาเบลเขียนบทความโต้แย้งว่าการเดินทางไปไซบีเรียของเคทเป็นเรื่องยกเมฆทั้งสิ้น เธอหลอกเอาเงินสนับสนุนจากราชวงศ์อังกฤษและรัสเซียเพื่อสนองความต้องการส่วนตัวเท่านั้น ไม่ได้มีการศึกษาวิธีรักษาโรคเรื้อนตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด

เมื่อบทความนี้เผยแพร่ออกไป ทั้งอังกฤษและรัสเซียตั้งคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงพบว่า สมุนไพรที่เคทไปตามหานั้นคือต้นคัตชุตกา ซึ่งเป็นสมุนไพรที่คนยุโรปใช้รักษาโรคเรื้อนกันทั่วไป ไม่ใช่ตำรายาสูตรลับที่ต้องดั้นด้นเดินทางหลายพันกิโลเมตรเพื่อตามหา

เพื่อความยุติธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา คณะกรรมการขอให้เคทส่งตัวอย่างสมุนไพรที่เก็บมาให้ทำการพิสูจน์ แต่เคทก็ไม่เคยส่งตัวอย่างสมุนไพรให้กับคณะกรรมการ อย่างไรก็ตาม เคทได้เดินทางไปไซบีเรียจริงๆ คณะกรรมการจึงไม่สามารถเอาผิดในเรื่องนี้ได้ ต่อให้สมุนไพรตัวอย่างที่เธอนำกลับมาด้วยเป็นต้นคัตชุตกาจริงๆก็ตาม

เมื่อไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ต้องเอาด้วยกล คณะกรรมการเรียกตัวเคทมาสอบสวนเรื่องการหลอกเงินจากเอลเลนและการมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับเพศเดียวกัน เคทปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าเอลเลนเป็นผู้อุปถัมภ์ค่าใช้จ่ายขณะท่องเที่ยวยุโรป แต่ยอมรับว่ามีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับเอลเลน

เคทถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหากระทำการผิดจารีตประเพณี ชื่อของเธอถูกลบออกจากสมาชิกสถาบันต่างๆเพียงเพราะคนในยุคสมัยนั้นไม่ยอมรับรสนิยมทางเพศของเธอ ขณะที่ชาวเมืองซอสนอฟกาในสาธารณรัฐซาฮาสร้างพิพิธภัณฑ์เล็กๆและอนุสาวรีย์ยกย่องคุณงามความดีให้กับเคท มาร์สเดน ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับพวกเขา


You must be logged in to post a comment Login