วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2567

ภารกิจ กปปส.

On May 31, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ภาพอดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) อาทิ นายวิทยา แก้วภราดัย, นายถาวร เสนเนียม, นายอิสสระ สมชัย, นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์, นายชุมพล จุลใส, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ฯลฯ ตบเท้ากลับเข้าสังกัดพรรคประชาธิปัตย์เพื่อแต่งตัวรอลงสมัครเลือกตั้ง กลับเล่นการเมืองตามกติกาประชาธิปไตย แม้ไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมาย แต่ถือว่า “เสี่ยง”

แน่นอนว่าใครก็รู้ กปปส.กับพรรคประชาธิปัตย์นั้นเนื้อเดียวกัน เพียงแต่แยกตัวออกไปทำภารกิจ เมื่อภารกิจเสร็จสิ้นตามเป้าหมายก็กลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลก

แต่ที่บอกว่าเป็นความเสี่ยงนั้นเพราะสถานการณ์บ้านเมืองวันนี้คนไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลทหารคสช.

เมื่อไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลทหารคสช.ก็ย่อมไม่พอใจคณะบุคคลที่พากันเป่านกหวีดเรียกทหารออกมาทำรัฐประหารไปด้วย

จริงอยู่ว่าทั้งพรรคประชาธิปัตย์ แกนนำ อดีตแกนนำ กปปส.นั้นเป็นนักการเมืองประเภทมีแฟนพันธุ์แท้ให้ความรักอย่างเหนียวแน่น ชนิดไม่สนใจว่าเคยหรือไม่เคยทำอะไรมาบ้าง เมื่อถึงเวลาก็พร้อมกาบัตรลงคะแนนให้

แต่ต้องไม่ลืมว่าคะแนนฐานจากพวกแฟนพันธุ์แท้จะมีจำนวนเท่าเดิม ไม่เพิ่มขึ้น และอาจส่อไปในทางลดลง

ไม่อย่างนั้นคงไม่มีข่าวหลุดออกมาก่อนหน้านี้ว่ามีคนในพรรคประชาธิปัตย์ตัดพ้อว่ายิ่งรัฐบาลทหารคสช.อยู่ยาว คะแนนของพรรคคู่แข่งอย่างเพื่อไทยมีแต่จะเพิ่มขึ้น เพราะคู่แข่งมีจุดแข็งตรงที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามรัฐบาลทหารคสช.อย่างชัดเจน

ไม่อย่างนั้นคงไม่มีข่าวเล็ดรอดออกมาว่ามีการตำหนิกันเองว่ากปปส.แสดงตนเป็นทาสรับใช้ใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารคสช.มากเกินไป จนเกรงว่าหากกลับเข้ามาสู่ระบบเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์อาจดึงคะแนนพรรคตกต่ำไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ความกังวลดังกล่าวดูเหมือนว่าจะไม่มีผลอะไรกับอนาคตทางการเมืองของบรรดาอดีตแกนนำกปปส. ไม่อย่างนั้นคงไม่ปรากฏภาพการหารือร่วมกันอย่างชื่นมื่นระหว่างอดีตแกนนำ กปปส. กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวาน (30 พ.ค.) ที่ผ่านมา

การหารือร่วมกันนั้นคงจะต้องทำอย่างเปิดใจกันพอสมควร เพราะก่อนหน้านี้มีข่าวไม่ค่อยกินเส้นกันเท่าไหร่นักระหว่างพรรคประชาธิปัตย์สายนายอภิสิทธิ์ กับสายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ทำให้มีข่าวลือมาตลอดก่อนหน้านี้ว่ามีความเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคจากนายอภิสิทธิ์ไปเป็นบุคคลอื่น

แต่เมื่อวาระการเป็นหัวหน้าพรรคของนายอภิสิทธิ์ยังอยู่อีกนาน ไม่หมดวาระก่อนเลือกตั้งจึงต้องจับมือกันเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งที่รออยู่เบื้องหน้าไปก่อน
จึงปรากฏข้อตกลงจากการหารือกันครั้งนี้ว่านักการเมืองสาย กปปส.จะสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แม้นายสุเทพจะประกาศสนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหลังเลือกตั้ง โดยบิดประเด็นเป็นความเห็นส่วนของนายสุเทพ ที่ไม่ลงเลือกตั้งแน่นอน และไม่ต้องกังวลว่าส.ส.ในสังกัดกปปส.จะเข้ามาเพื่อจับมือกับสมาชิกวุฒิสภา 250 คนที่รัฐบาลทหารคสช.จะแต่งตั้งไว้ก่อนหมดอำนาจควบคุมทิศทางการโหวตเลือกนายกฯในสภา

ส่วนข้อตกลงที่ว่านี้จะเป็นจริงหรือไม่ ภารกิจของอดีตแกนนำ กปปส.ที่ตบเท้ากลับเข้าพรรคประชาธิปัตย์ที่แท้จริงคืออะไร รอดูคำตอบพร้อมกันหลังเลือกตั้ง


You must be logged in to post a comment Login