วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2567

ทองแท้ไม่แพ้ไฟ / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On May 29, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

การจัดซื้อเรือดำน้ำรุ่นหยวนคลาส S26T มูลค่าโครงการ 36,000 ล้านบาท ที่เป็นประเด็นร้อนก่อนหน้านี้ ได้รับการประทับตราความโปร่งใสจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดย สตง. ตั้งโจทย์ไว้ 10 ข้อ และโครงการผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 10 ข้อ เช่น

การตรวจสอบข้อมูลผ่านเอกสารและหลักฐานของกองทัพเรือที่เสนอของบประมาณประจำปี 2560 พบว่ามีการระบุชัดเจนว่าจะจัดซื้อเรือในหมวดการพัฒนากองทัพ

การจัดซื้อเรือดำน้ำที่มีผลผูกพันงบประมาณไปจนถึงปี 2566 มูลค่ารวม 36,000 ล้านบาท กำหนดการแบ่งจ่ายงบประมาณเป็น 3 ระยะคือ ระยะแรกผูกพันงบประมาณปี 2560 จำนวน 700 ล้านบาท ปีต่อไปผูกพันไม่เกิน 200 ล้านบาท และผูกพันต่อไปจนครบวงเงินที่ 36,000 ล้านบาท ดังนั้น จึงไม่มีความผิดปรกติต่อประเด็นการเสนอของบประมาณ และกรณีดังกล่าวถือว่าผ่านการตรวจสอบโดยตัวแทนของประชาชนแล้ว

การเสนอโครงการจัดซื้อ พบว่าเสนอผ่านสำนักงบประมาณ และได้รับการบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว

กรณีที่ถูกมองว่าการจัดซื้อเป็นไปในรูปแบบสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และเข้าข่ายต้องพิจารณาในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 178 กำหนด

กรณีนี้การลงนามสัญญาที่เป็นผลผูกพันระหว่างรัฐบาลจีนผ่านบริษัทเอกชนต่อเรือกับรัฐบาลไทยผ่านกองทัพเรือนั้น จากการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องไม่เข้าข่ายเป็นสนธิสัญญา และไม่ใช่การจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ เป็นเพียงสัญญาเชิงพาณิชย์ปรกติเท่านั้น ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นยืนยันชัดเจนว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 178

การจัดซื้อเรือดำน้ำจัดอยู่ในหมวดยุทธภัณฑ์หรือยุทโธปกรณ์ จึงถูกยกเว้นเงื่อนไขที่กำหนดขั้นตอนการจัดซื้อที่ต้องใช้ระเบียบทางพัสดุ เพราะประเด็นความมั่นคงต้องคำนึงถึงลักษณะและคุณสมบัติเฉพาะบางประการ ขณะเดียวกันที่ผ่านมาได้ประกาศเชิญชวนให้ประเทศที่สนใจเข้าร่วม และมี 6 ประเทศที่สนใจ แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ คุณภาพ ประโยชน์ใช้สอย ที่สัมพันธ์กับงบประมาณของประเทศ ซึ่งปัจจุบันจีนถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีการพัฒนาอุปกรณ์ที่มีความทันสมัย

กรณีที่มีข่าวว่ามีคนกลางเป็นผู้เจรจาโครงการดังกล่าว จากการตรวจสอบไม่พบคนกลางทั้งจากกองทัพเรือและคนของรัฐบาลจีน ดังนั้น จึงไม่มีความผิดปรกติ

ส่วนกรณีที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าการลงนามตามที่เป็นข่าวเป็นเพียงบริษัทเอกชน ไม่ใช่รัฐบาลจีน แต่ข้อเท็จจริงคือ บริษัทเอกชนดังกล่าวเป็นวิสาหกิจที่รัฐบาลจีนดูแล ถือว่าอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลจีนและหน่วยงานตรวจสอบ เช่น สตง. ประเทศจีนด้วย

“จากที่ สตง. ตรวจสอบและพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาอย่างรอบคอบและละเอียด มิพบข้อเสียหายรวมถึงความเสี่ยงต่อความเสียหายที่จะเกิดในอนาคตตามที่ตั้งประเด็นเชื่อมโยงกับโครงการจัดซื้อเรือเหาะที่ใช้ในภารกิจภาคใต้ ดังนั้น ทางหน่วยงานสามารถดำเนินการได้ ซึ่งประเด็นตรวจสอบนี้ไม่ใช่การฟอกขาวให้กับรัฐบาลหรือหน่วยงานใด เพราะ สตง. จะไม่นำเกียรติประวัติไปติดคุกแทนใคร

หลังจากนี้ สตง. จะตรวจสอบรายละเอียดของโครงการดังกล่าวในขั้นตอนที่เหลือ โดยจะประสานงานร่วมกับ สตง.ประเทศจีนเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบ ขณะนี้ยืนยันได้ว่ากระบวนการดังกล่าวไม่มีความผิดปรกติ เป็นไปตามระเบียบวินัยการเงินการคลัง

ดังนั้น เมื่อปัจจุบันไม่มีความผิดปรกติหรือความผิด แม้จะมีกฎหมายว่าด้วยระเบียบวินัยการเงินการคลังบังคับใช้ในอนาคตก็จะถือว่าไม่มีความผิดอยู่ดี อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าโครงการดังกล่าวจะทำตามขั้นตอนทางสัญญาได้ก่อนที่จะมีร่างกฎหมายว่าด้วยระเบียบวินัยการเงินการคลังที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดแน่นอน”

ทั้งหมดเป็นคำแถลงของนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

เป็นถ้อยแถลงที่เคลียร์ทุกประเด็นที่ถูกตั้งคำถามก่อนหน้านี้ ทั้งประเด็นข้อกฎหมายและข้อสงสัยต่างๆ ประทับตราความโปร่งใส 100% ให้กับโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ

อย่างไรก็ตาม แม้ สตง. จะรับรองความถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมายของโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำแล้ว แต่ยังเหลือการพิจารณาของหน่วยงานตรวจสอบอื่นที่มีผู้ยื่นเรื่องร้องเรียนไป เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน

อย่างที่รู้กันว่าแม้จะมีหน่วยงานตรวจสอบมากมาย แต่มักตรวจไม่พบความผิดปรกติในโครงการต่างๆของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ การเอาเครื่องบินหลวงไปเปิดฝาย การเอาเงินของหน่วยงานมาฝากไว้ในบัญชีส่วนตัว การบรรจุลูกเข้ารับราชการ และอีกหลายกรณีที่ถูกยื่นให้ตรวจสอบความถูกต้องชอบธรรม

หลายโครงการที่ผ่านการตรวจสอบแล้วจะถูกประทับตราความโปร่งใส ชอบธรรม หลายเรื่องที่ยังไม่สรุปก็นั่งทับไว้รอให้เรื่องเงียบไปเอง

ทั้งที่การปราบปรามทุจริตต่อต้านคอร์รัปชันเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของคณะรัฐประหาร แต่ที่ผ่านมากลับมีประเด็นให้สังคมตั้งข้อสงสัยมาตลอดการทำงาน 3 ปี

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับความจริงประการหนึ่งว่า แม้จะไม่พบการทุจริต ความไม่โปร่งใสในหมู่ผู้มีอำนาจในคณะรัฐประหารและรัฐบาลปัจจุบัน แต่ที่ผ่านมาก็สามารถเอาผิดกับคนทุจริตในระดับที่เล็กลงไปได้ แต่ไม่โดดเด่นเท่าที่ควรสมกับเป็นนโยบายหลักที่ประกาศไว้

ถ้ามองในแง่ดี การที่หน่วยงานตรวจสอบทั้งหลายตรวจไม่พบความผิดปรกติในโครงการต่างๆของผู้มีอำนาจในปัจจุบันย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้มีอำนาจในยุคนี้ล้วนเป็นคนใจซื่อมือสะอาด ทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ต่อบ้านมือง เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

ส่วนข้อสังเกต ข้อสงสัย คำถามต่างๆเป็นเรื่องของฝ่ายตรงข้าม เป็นความอคติที่เกิดจากความอิจฉาที่เห็นคนอื่นมีอำนาจ ใช้อำนาจ เท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อหมดอำนาจแล้วมีการตรวจสอบย้อนหลังดูสักหน่อยก็คงจะดี เพราะถ้าเป็นทองแท้ย่อมไม่แพ้ไฟ


You must be logged in to post a comment Login