วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

วัดพุทธญี่ปุ่นร่วงโรย? / โดย ณ สันมหาพล

On May 29, 2017

คอลัมน์ : โลกไม่หยุดนิ่ง
ผู้เขียน : ณ สันมหาพล

วัดพุทธศาสนาในญี่ปุ่นกำลังประสบภาวะตกต่ำและร่วงโรย จากการสำรวจของหนังสือพิมพ์เกียวโต ชิมบุน พบว่าวัด 62,600 แห่งที่สำรวจ จากทั้งหมดประมาณ 75,000 แห่งทั่วประเทศ หรือร้อยละ 80 ปรากฏว่ามีเกือบ 13,000 แห่ง หรือร้อยละ 22 ไม่มีพระจำพรรษา ต้องให้เจ้าอาวาสวัดอื่นดูแล บางรูปต้องดูแลถึง 7 แห่ง

การสำรวจนี้ยังไม่รวมวัดศาสนาชินโต ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ ที่มีจำนวนมาก การสำรวจวัดพุทธครอบคลุมวัดนิกายใหญ่ทั้ง 13 นิกาย รวมทั้งสำนักที่เป็นสาขาด้วย โดยเซนเป็นนิกายใหญ่สุด เฉพาะสำนักโซโตะมีวัดมากถึง 14,520 แห่ง

เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่าวัดพุทธญี่ปุ่นอยู่ในภาวะร่วงโรย ส่วนใหญ่เป็นวัดในชนบทที่หลายทศวรรษที่ผ่านมาประสบปัญหาการอพยพของผู้คนไปยังเมืองใหญ่เพื่อทำงานในโรงงานและมีชีวิตที่ดีกว่า แต่การตกต่ำในระยะหลังมาจากจำนวนพลเมืองที่ลดลง เพราะคนญี่ปุ่นไม่นิยมมีบุตรหลายคน และมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เนื่องจากความเจริญที่เลือกการดำเนินชีวิตได้มากขึ้น

นอกจากนี้ยังเป็นเพราะประเพณีการสืบทอดตำแหน่งเจ้าอาวาสที่ต้องเป็นของตระกูลใดตระกูลหนึ่ง และต้องเป็นบุตรชายที่เป็นทายาท พระในญี่ปุ่นสามารถแต่งงานได้ ถ้าตระกูลใดไม่มีบุตรสืบทอดหรือไม่อาจหาบุตรบุญธรรมได้ วัดนั้นก็จะกลายเป็นวัดร้าง และยังมีเรื่องรายได้ที่ลดลง เพราะผู้คนลดจำนวนลง การประกอบพิธีกรรมต่างๆก็ลดลงด้วย แม้แต่พิธีศพ ซึ่งคนญี่ปุ่นถือเป็นพิธีสำคัญ ต้องทำให้สมเกียรติแก่ผู้ตายและครอบครัว รองลงมาคือพิธีทำบุญในกรณีต่างๆ

ประเด็นที่น่าสนใจคือ คนญี่ปุ่นยังนับถือศาสนาพุทธอย่างเหนียวแน่น จากผลการสำรวจปี 2551 หรือ 9 ปีที่ผ่านมา คนญี่ปุ่นร้อยละ 34 เรียกตัวเองว่า “ชาวพุทธ” สูงขึ้นจาก 2 ทศวรรษก่อน และการสำรวจในปี 2554 ที่ญี่ปุ่นถูกคลื่นสึนามิถล่ม พบว่าร้อยละ 90 เรียกตัวเองว่า “ชาวพุทธ” หรือไม่ก็ “ชาวชินโต” คือนับถือทั้งพุทธและชินโต แสดงว่าคนญี่ปุ่นเกือบทั้งหมดยังมีศาสนา ซึ่งในปีเดียวกันการสำรวจของสำนักงานกิจกรรมวัฒนธรรมระบุว่า คนญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาพุทธมีถึง 89 ล้านคน จากประชากร 127 ล้านคน

จากการสำรวจเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมายังพบว่า ครอบครัวคนญี่ปุ่นกว่าครึ่งมีหิ้งพระในบ้าน จึงน่าแปลกใจว่าทำไมวัดพุทธญี่ปุ่นจึงตกต่ำและจะทำการฟื้นฟูอย่างไร แต่แนวความคิดที่จะฟื้นฟูวัดพุทธญี่ปุ่นก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริงจัง การเสนอว่าจะทำให้วัดพุทธญี่ปุ่นกลับมารุ่งเรืองนั้นต้องใช้วิธีเหมือนร้านสะดวกซื้อกับร้านอาหารจานด่วนที่รุ่งเรืองคือ ต้องเข้าถึงประชาชนและหาวิธีทำให้ประชาชนไม่ละทิ้ง

การเข้าถึงประชาชนนั้นไม่ยาก เพราะศาสนาเป็นเรื่องของจิตใจ คนญี่ปุ่นไม่ว่าหนุ่มสาวหรือวัยชราล้วนมีปัญหาจิตใจ อย่างพนักงานบริษัทเป็นที่ทราบกันดีว่ามีความเครียดกับการทำงานมาก ส่วนคนที่เกษียณก็ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ขาดการคบหาสมาคม ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามจะดึงคน 2 พวกนี้ให้เข้าวัด แต่ไม่สำเร็จ

จึงมีการเสนอวิธีใหม่คือ นำวัฒนธรรมป๊อปมาเป็นหัวหอก ทั้งเพลง ดนตรี ศิลปะ และการดำรงชีวิต ซึ่งมีการทำเป็นตัวอย่างแล้วเมื่อเดือนที่แล้ว โดยมีการจัดคอนเสิร์ตภายในวัด Seigan-ji Temple ใจกลางกรุงโตเกียว วงที่มาแสดงคือ Kissaquo ซึ่งเป็นวงดนตรีพื้นเมืองแนวทันสมัย 2 นักร้องดังคือ Kanho Yakushiji พระสงฆ์ที่โกนศีรษะสวมจีวร กับ Satoshi Yamamoto ที่เรียกตัวเองว่า “มนุษย์ธรรมดา” ทั้งสองร้องเพลง พร้อมเล่นกีตาร์ไฟฟ้าและเป่าหีบเพลง ระหว่างการเล่นก็จะกระตุ้นความรู้สึกคนฟังด้วยคำพูดในเชิงเทศนา โดยทั้งสองร้องทั้งหมด 14 เพลงภายใน 2 ชั่วโมง และก่อนคอนเสิร์ตจบยังมีการพูดชักชวนให้ผู้เข้าชมเกือบ 1,000 คนร่วมกันสวดมนต์

หลังการแสดงทั้งสองยังไปทักทายพูดคุยรวมถึงถ่ายภาพกับผู้เข้าชมด้วย และให้เอาภาพที่ถ่ายส่งต่อไปถึงเพื่อนตามช่องทางต่างๆเพื่อโปรโมตวงและการแสดง ความจริงแล้วทั้งสองก่อตั้งวงดนตรีมานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่ส่วนใหญ่ตระเวนแสดงตามสถานบันเทิงเล็กๆ จนกระทั่งเมื่อ 3 ปีที่แล้ว Yakushiji ต้องออกบวชเพื่อเตรียมรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดที่ครอบครัวครอบครอง ทำให้เขาและเพื่อนคู่หูตระเวนแสดงตามวัดต่างๆในเกียวโตและจังหวัดบนเกาะชิโกกุที่เป็นบ้านเกิด

สิ่งที่ทั้งสองพบระหว่างการแสดงดนตรีคือ วัดเป็นสถานที่ที่เหมาะในการแสดงดนตรี เพราะนอกจากมีพื้นที่กว้างขวางในการนั่งฟังแล้ว พระอุโบสถยังเอื้อต่อการสะท้อนเสียงดนตรีอีกด้วย ผนวกกับบรรยากาศที่เยือกเย็นและศักดิ์สิทธิ์ยิ่งทำให้ผู้ที่เข้าชมมีจิตใจที่สนุกและเป็นมิตรต่อกัน กล้าที่จะทักทายและพูดคุยกับคนรอบข้าง แต่การดึงให้วัดพุทธญี่ปุ่นกลับมาเฟื่องฟูอีกไม่ใช่เฉพาะการเล่นดนตรีและร้องเพลงของทั้งสองเท่านั้น


You must be logged in to post a comment Login