วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

บัตรสวัสดิการสังคม / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On May 22, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

ปิดรับลงทะเบียนคนจนรอบสองปี พ.ศ. 2560 ในรัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่ายอดลงทะเบียนทั่วประเทศพุ่งกว่า 14 ล้านราย

สำหรับคุณสมบัติผู้ที่เข้าข่ายลงทะเบียนกับรัฐได้ต้องเป็นผู้ที่มีเงินฝาก พันธบัตรรัฐบาล สลากออมทรัพย์ รวมกันแล้วมูลค่าไม่เกิน 100,000 บาท เป็นผู้มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 100,000 บาท มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เป็นผู้ว่างงาน และถือครองอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าไม่เกินกว่าที่กำหนด

รัฐบาลเปิดลงทะเบียนคนจนมาแล้วครั้งหนึ่งในปี 2559 ที่ผ่านมา มีผู้มาลงทะเบียนทั้งสิ้น 8,370,000 ราย ผ่านการตรวจคุณสมบัติรับโอนเงินช่วยเหลือจากรัฐ 7,710,000 ราย และมีผู้ได้รับเงิน 7,520,000 ราย ที่เหลือไม่ได้รับโอนเพราะไม่มาติดต่อ หรือไม่มีบัญชีเงินฝาก บัญชีถูกอายัด ไม่สามารถโอนเงินให้ได้

สำหรับสวัสดิการที่รัฐบาลเตรียมไว้แจกรอบสอง เช่น สิทธิในการลดค่าน้ำ-ค่าไฟสำหรับผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของมิเตอร์ สิทธิในการลดหย่อนค่ารถโดยสารสำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในเขตที่ได้สิทธิขึ้นรถเมล์ รถไฟฟรี บัตรส่วนลดราคาแก๊สหุงต้ม

นอกจากนี้ยังมีมาตรการเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เช่น การจัดสรรที่ดินทำกิน การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อการลงทุน

ทั้งนี้ สิทธิพิเศษต่างๆจะแปรผันไปตามจำนวนคนจนที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ หากผ่านมากสวัสดิการที่จะได้รับจากรัฐจะน้อยลงเพราะไม่ต้องการให้เป็นภาระงบประมาณแก่รัฐมากเกินไป แต่หากผ่านน้อยจะได้สิทธิและส่วนลดต่างๆมากขึ้น โดยรัฐบาลตั้งงบประมาณช่วยเหลือคนจนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนปีละประมาณ 30,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การลงทะเบียนคนจนเคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุครัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีคนแห่มาลงทะเบียนจำนวนมาก แต่ยังไม่ทันได้ออกมาตรการช่วยเหลืออย่างจริงจังเป็นระบบ

หลายคนนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นทางการเมืองว่ารัฐบาลไม่ควรดีใจที่มีผู้มาลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นการสะท้อนถึงผลงานการบริหารประเทศที่ไม่สามารถแก้ปัญหาคนจนได้ด้วยนโยบาย จึงต้องออกสวัสดิการเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อน

อย่างไรก็ตาม หากมองอย่างเป็นธรรม การลงทะเบียนคนจนถือเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดและยั่งยืน หากรัฐมีความจริงใจในการแก้ปัญหา ไม่ต้องการนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นทางการเมือง

ใครจะมองว่าเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะคนไทยทุกคนควรได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ หรือมองว่าต้องจนเท่านั้นถึงจะมีสิทธิรับเงินจากรัฐ แต่การลงทะเบียนคนจนก็มีมุมดีให้มองสำหรับคนที่คิดบวก ไม่คิดอะไรเป็นการเมืองไปเสียทั้งหมด

ข้อดีของการลงทะเบียนคนจนคือ ทำให้รัฐได้รับรู้จำนวนผู้ที่มีรายได้น้อยที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างลำบาก เพื่อให้การช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด

ยกตัวอย่างเช่น โครงการขึ้นรถเมล์-รถไฟฟรีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุครัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ถูกโจมตีอย่างมากว่าเป็นโครงการหาเสียง เป็นภาระงบประมาณ แก้ปัญหาไม่ตรงจุด แต่ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาไม่มีใครกล้ายกเลิก เพราะเป็นโครงการที่ช่วยลดภาระให้ผู้มีรายได้น้อย

เมื่อไม่กล้ายกเลิกจึงใช้วิธีออกมติคณะรัฐมนตรีต่ออายุโครงการ โดยปีหนึ่งๆจะใช้งบประมาณเพื่ออุดหนุนโครงการนี้ประมาณ 5,000 ล้านบาท

บางคนมองว่าควรยกเลิกโครงการนี้เพราะเป็นการเลือกปฏิบัติ มีผู้ได้รับประโยชน์น้อย มีคนที่ไม่อยู่ในเขตที่สามารถใช้รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี เป็นจำนวนมากกว่า และคนเหล่านั้นไม่ได้รับสวัสดิการอย่างอื่นทดแทน

หลังการทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ต้องการจะแก้ปัญหาเหล่านี้มาตลอด และถูกโจมตีมาตลอดว่ากำลังคิดรังแกคนจนด้วยการตัดสวัสดิการที่ควรได้รับ

เพื่อเป็นการเกาให้ถูกที่คัน การลงทะเบียนคนจนจึงเป็นทางออกหนึ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เลือกใช้ก่อนที่จะยกเลิกโครงการรถเมล์-รถไฟฟรี และค่าไฟฟ้าฟรีสำหรับผู้ที่ใช้ไม่เกิน 50 หน่วย

หลังจากนี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะประกาศยกเลิกสวัสดิการเหล่านี้ โดยให้สิทธิการนั่งรถไฟฟรี รถเมล์ฟรี ค่าไฟฟ้าฟรีเฉพาะคนจนที่มีบัตรแสดงตนเท่านั้น เท่ากับว่าคนที่จะได้รับสวัสดิการเหล่านี้ต้องผ่านการตรวจคุณสมบัติจากรัฐเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แม้ใครจะมองว่าเป็นการเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำให้ผู้ที่ได้รับสวัสดิการของรัฐรู้สึกต่ำต้อย เพราะต้องแสดงบัตรคนจนจึงจะได้รับสิทธิการยกเว้นหรือส่วนลดต่างๆที่รัฐบาลมอบให้

แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด และช่วยลดภาระงบประมาณภาครัฐ

หลักคิดของการแก้ปัญหาแบบนี้คือ ให้สิทธิเฉพาะผู้ที่เดือดร้อน ส่วนใครที่พอมีกำลังจ่ายก็ให้จ่ายตามปรกติ

เชื่อว่าหลังออกบัตรประจำตัวคนจนแล้ว รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะใช้บัตรนี้กับอีกหลายโครงการที่รัฐใช้งบประมาณอุ้มอยู่จำนวนมาก และที่ประชาชนกลัวกันมากคือ โครงการบัตรทองหรือโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ต่อไปการรักษาฟรีอาจจะมีเฉพาะในหมู่ประชาชนที่มีบัตรคนจน ส่วนคนที่มีรายได้เกินกว่าจะลงทะเบียนเป็นคนจนอาจต้องใช้สิทธิแบบร่วมจ่าย ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันมีแนวคิดแบบนี้มาตลอด แต่ยังไม่กล้าแตะ เพราะกระทบต่อคนหมู่มาก พูดถึงเมื่อไรเป็นประเด็นทางการเมืองขึ้นมาทันที โดยจะมีคนนำไปโยงว่ามีงบซื้ออาวุธ ขึ้นเงินข้าราชการ แต่ไม่มีงบสำหรับดูแลประชาชน ทั้งที่เป็นคนละมิติ

เมื่อลงทะเบียนคนจนเรียบร้อยแล้วอาจมีการขยับทำเรื่องนี้ เพราะถ้าไม่ทำในยุครัฐบาลทหารที่มีอำนาจเต็มมือคงไม่สามารถทำได้ในยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะมีผลกระทบต่อฐานเสียงทางการเมือง

หลักคิดการแก้ปัญหาแบบนี้ถือเป็นหลักการที่ถูกต้อง

แต่การลงทะเบียนคนจนควรทำทุกปี เพื่อใช้เป็นเครื่องมือประเมินผลงานการบริหารประเทศของรัฐบาลในด้านอื่นๆด้วยว่าสามารถพัฒนาประเทศให้เติบโตขึ้นได้หรือไม่ โดยใช้จำนวนคนจนที่มาลงทะเบียนเป็นตัวชี้วัด

หากมาลงทะเบียนคนจนมากแสดงว่ารัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้เรื่อง ทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่จนส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน ซึ่งรัฐบาลควรพิจารณาระดับความสามารถของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม หากจะใช้บัตรคนจนเป็นตัวกำหนดสวัสดิการต่างๆที่ประชาชนควรได้รับก็ควรขยับฐานรายได้ให้สูงขึ้น เพื่อให้คนอีกส่วนที่มีรายได้มากกว่าเกณฑ์แต่ไม่มากพอที่จะใช้จ่ายได้มีโอกาสรับสวัสดิการจากรัฐด้วย

อาจใช้วิธีแบ่งระดับรายได้เพื่อแบ่งระดับการได้รับสวัสดิการจากรัฐ เช่น รายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ได้รับสวัสดิการเต็ม คนที่มีรายได้เกิน 100,000-200,000 บาท รายได้ 200,000-300,000 บาท ได้รับสวัสดิการบางส่วน มีส่วนลดให้ เพื่อให้คนไทยทุกคนเข้าถึงสวัสดิการของรัฐอย่างเป็นระบบ

ถ้าไม่มองในแง่การเมือง โครงการนี้ควรได้รับการปรบมือ เพียงแต่ขอให้ทำอย่างจริงจัง เป็นระบบ และถ่างสวัสดิการช่วยเหลือในสิ่งที่ประชาชนควรได้รับจากรัฐให้ครอบคลุมทั่วถึง

ทั้งนี้ หากเลิกเรียกชื่อว่าบัตรคนจนแล้วเรียกว่าบัตรสวัสดิการสังคมแทน เชื่อว่าจะลดปมดราม่าทางสังคมได้มาก


You must be logged in to post a comment Login