วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

นักสู้ธุลีดิน / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

On May 22, 2017

คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

บทเพลง “นักสู้ธุลีดิน” เป็นหนึ่งในเพลงที่น่าประทับใจที่แต่งโดยกุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ หรือจิ้น กรรมาชน เพื่อสดุดีการต่อสู้ของประชาชนเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ซึ่งจบลงด้วยการปราบปรามของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในโอกาสครบรอบ 7 ปี จึงจะย้อนทบทวนเหตุการณ์ โดยเฉพาะการเข่นฆ่าประชาชนครั้งใหญ่ตั้งแต่วันที่ 13-15 พฤษภาคม

การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ มีประชาชนคนเสื้อแดงเข้าร่วมหลายหมื่นคน ฝ่ายรัฐบาลตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ควบคุมสถานการณ์ โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ขณะนั้น) เป็นผู้รับผิดชอบ ได้เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงมาแล้วเมื่อวันที่ 10 เมษายน เมื่อรัฐบาลปฏิบัติการ “ขอคืนพื้นที่” บริเวณถนนราชดำเนิน ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 22 ราย เป็นสื่อมวลชนต่างประเทศ 1 ราย ขณะที่ฝ่ายทหารเสียชีวิต 5 ราย หลังจากนั้นฝ่าย นปช. ย้ายที่ชุมนุมไปที่สี่แยกราชประสงค์ และเพิ่มข้อเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบโดยการนำบุคคลที่รับผิดชอบในการสลายการชุมนุมมาลงโทษ

การชุมนุมที่แยกราชประสงค์ดำเนินมาจนถึงวันที่ 6 พฤษภาคม ศอฉ. ได้ตั้งด่านทหารและตำรวจ 6 ด่านรอบที่ชุมนุม อ้างว่าเพื่อป้องกันการนำอาวุธสงครามเข้ามาในพื้นที่ ฝ่ายประชาชนที่ชุมนุมตอบโต้โดยตั้งบังเกอร์ป้องกันการปราบปราม วันที่ 11 พฤษภาคม ศอฉ. ยื่นคำขาดให้ นปช. ยุติการชุมนุมภายในวันที่ 12 พฤษภาคม มิฉะนั้นจะใช้มาตรการกดดันให้ออกนอกพื้นที่ให้เร็วที่สุด วันที่ 13 พฤษภาคม ศอฉ. เริ่มต้นมาตรการ “กระชับวงล้อม” โดยเคลื่อนกำลังทหารพร้อมอาวุธสงคราม รถหุ้มเกราะ และพลซุ่มยิง ปิดล้อมพื้นที่ราชประสงค์อย่างสมบูรณ์

ความรุนแรงในการปราบปรามเริ่มเมื่อเย็นวันที่ 13 พฤษภาคม จากการสังหาร พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง) ผู้สนับสนุนการรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุม โดยใช้พลแม่นปืนยิงที่ศีรษะระหว่างให้สัมภาษณ์สำนักข่าวต่างประเทศ วันต่อมากำลังทหารได้ปะทะกับฝ่าย นปช. โดยดำเนินไปได้ 5 วัน ศอฉ. ก็ใช้กำลังขั้นเด็ดขาดล้อมปราบวันที่ 19 พฤษภาคม จน นปช. ยอมยุติการชุมนุมและให้จับกุมในเวลา 13.20 น. ผลการปราบปรามวันที่ 13-19 พฤษภาคม มีประชาชนเสียชีวิตถึง 58 คน เป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศ 1 คน และที่น่าตกใจคือ การสังหารประชาชน 6 ศพที่วัดปทุมวนารามเย็นวันที่ 19 พฤษภาคม ทั้งที่เป็นเขต “อภัยทาน” และการชุมนุมสลายลงแล้ว

การปราบปรามเมื่อ พ.ศ. 2553 กลายเป็นการปราบปรามประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดและมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยนับตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ทำให้ข้อเสนอเรื่องการปรองดองสมานฉันท์จากฝ่ายชนชั้นนำกลายเป็นเรื่องเหลือเชื่อ ไม่ว่าจะตั้งกรรมการปรองดองสมานฉันท์กี่ชุดก็ตาม

ปัญหาที่น่าสนใจคือ การกวาดล้างปราบปรามเกิดขึ้นกลางเมืองหลวง โดยการเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก ไม่สามารถอธิบายความผิดตามกฎหมายได้เลยว่าเหตุใดประชาชนจึงต้องถูกสังหาร ถ้าพิจารณาจากการชุมนุมเพื่อเรียกร้องทางการเมืองก็ไม่ใช่ความผิดถึงขั้นประหาร กรณีนี้รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมตนเอง จึงมีการดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์ในฐานะนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. ข้อหาร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำ หรือฐานพยายามฆ่า และฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา แต่วันที่ 28 สิงหาคม 2556 ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพด้วยเหตุผลว่าศาลไม่มีอำนาจพิจารณาคดี แต่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อมาวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ป.ป.ช. มีมติไม่ฟ้องนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และ พล.อ.อนุพงษ์ และวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ

ขณะที่อีกด้านหนึ่งมีรายงานเรื่อง “ความจริงเพื่อความยุติธรรม” ว่าการสลายการชุมนุมนำมาซึ่งการจับกุมประชาชนทั่วประเทศถึง 1,857 คน ซึ่งบางคนไม่ได้ร่วมชุมนุมและถูกดำเนินคดีถึง 1,763 คน โดยกรุงเทพฯเป็นพื้นที่ที่มีคดีมากที่สุด รองลงมาคือภาคอีสาน แยกลักษณะการฟ้อง 2 ลักษณะคือ คดีฝ่าฝืนพระราชกำหนดภาวะฉุกเฉิน และคดีร่วมกับคดีอาญา บางคดีถูกฟ้องร่วมกับคดียาเสพติด โดยการดำเนินคดีมีการรวบรัด หลายคดีศาลชั้นต้นตัดสินโดยลงโทษจำคุก 1 ปี เมื่อจำเลยอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ยกฟ้องเพราะการดำเนินคดีในศาลชั้นต้นผิดระเบียบ แต่มีถึง 27 คดีที่ศาลตัดสินจำคุกมากกว่า 10 ปี แม้จะมีความพยายามให้มีการนิรโทษกรรมประชาชนแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

ฝ่ายรัฐบาลอภิสิทธิ์อ้างความชอบธรรมในการปราบปรามว่า มีกลุ่ม “ชายชุดดำ” อยู่กับผู้ชุมนุมและทำร้ายเจ้าหน้าที่ แม้กระทั่งกรณี 6 ศพที่วัดปทุมฯ ก็อ้างมี “ชายชุดดำ” ซุ่มโจมตีทหารอยู่ภายในวัด พบอาวุธและกระสุนมากมายในวัด แต่ระหว่างการปราบปราม 13-19 พฤษภาคม ไม่มีรายงานเจ้าหน้าที่เสียชีวิตในการต่อสู้แม้แต่รายเดียว นอกจากนี้หากพิจารณารายงานการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ศอฉ. ระดมกำลังทหารถึง 67,000 นาย ใช้กระสุนจริงกว่า 117,000 นัด และกระสุนสไนเปอร์กว่า 2,000 นัด

บทเรียนการต่อสู้ของประชาชนคนเสื้อแดงเมื่อ พ.ศ. 2553 แรกที่สุดคงต้องสดุดีจิตใจที่กล้าเสียสละ กล้าต่อสู้ของประชาชนที่ไม่หวาดกลัวแม้แต่ทหารที่ติดอาวุธสงคราม เราจึงพบเรื่องเล่าจำนวนมากเกี่ยวกับวีรกรรมขนาดย่อยของประชาชนจนถึงปัจจุบัน แม้การต่อสู้จะไม่ได้รับชัยชนะ แต่คนเสื้อแดงก็ถือเป็นความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมการต่อสู้

สำหรับเพื่อนที่เสียชีวิต คนเสื้อแดงจำนวนมากยังมั่นใจว่าจะรอให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้น แม้จะสวนทางกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 2557 ก็ตาม บทความนี้ขอจบที่เพลง “นักสู้ธุลีดิน” เพื่อสะท้อนความคิด ความฝัน และสดุดีการต่อสู้ของคนเสื้อแดงดังนี้

แผ่นดินร่ำร้องระงม ผู้คนทับถมสะอื้น

ผ่านวันและคืน ลบเลือนจางหาย

ไหม้มอดเป็นเถ้าธุลี คนกล้ากว่านี้มีไหม

ถึงวันที่สุดท้าย พร้อมตายเคียงกัน

หากคนหยัดยืนทะนง ตั้งหลักปักธงไม่หวั่น

อย่ายอมแพ้มัน เท่านั้นก็พอ

นี่คือความจริงที่เป็น เหนื่อยยากลำเค็ญไม่ท้อ

ใช้เลือดเท่าไหร่หนอ ล้างสังคมทราม

ข้างหน้า อนาคตงดงาม

แม้ไฟลุกลาม จะแผดเผา

พรุ่งนี้ เปรียบชีวิตของเรา

คล้ายเป็นดังเงา หนึ่งเถ้าธุลี

เกียรติภูมิอยู่กลางสนาม นักสู้นิรนามไม่สิ้น

ผองธุลีดิน จักพลิกชะตา


You must be logged in to post a comment Login