วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

อัตวิสัยกับประวัติศาสตร์ วิถีของอำนาจและการเมือง / โดย เรืองยศ จันทรคีรี

On May 22, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี

โดยปรกติทั่วไปวิธีคิดและให้เหตุผลของมนุษย์มีอยู่ 2 ประการคือ ประการแรกเรียกว่า Subjectivity หรืออัตวิสัย หมายความว่าเป็นการคิดและนึกให้เหตุผลสิ่งต่างๆไปจากความเชื่อของตัวเอง และอีกประการเรียกว่า Objectivity หรือปรวิสัย เป็นการอธิบายและให้เหตุผลไปจากข้อเท็จจริง

ประการแรกอาจมองอีกอย่างได้ว่าเป็นจิตนิยม ส่วนประการหลังมีแนวโน้มเป็นวัตถุนิยม

ผมได้แลกเปลี่ยนความคิดโดยการสนทนากับ ดร.ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก ผ่านการศึกษาในระดับปริญญาเอกด้านปรัชญา เห็นว่ามนุษย์เรามีแนวโน้มเข้าข้างตัวเอง มักมองหรือพิจารณาอะไรด้วยความเห็นส่วนตัวเป็นหลักและเข้าข้างตัวเองอยู่แล้ว

ด้วยทรรศนะเช่นนี้ผมจึงเห็นด้วยว่ามนุษย์เรานั้น ไม่ว่าจะเป็นชนชาติหรือชนชั้นใดๆมักหนีไม่พ้นเรื่องของ Ego และ Desire สรุปสั้นๆคือ หนีไม่พ้นกิเลส ตัณหา และราคะ นั่นเอง แม้จะสร้างภาพและแสดงออกให้ดีต่อหน้าอย่างไร แต่ลึกๆก็ไม่พ้นเหตุผล 2 ตัวตามที่กล่าว

หันไปพิจารณาประวัติศาสตร์คงต้องยอมรับว่า Subjectivity มีอิทธิพลมากต่อการเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นอำนาจและการเมืองทั่วโลก ยกตัวอย่างครั้งสมัยอยุธยายุคพระบรมไตรโลกนาถเป็นกษัตริย์ ได้เกิดสงครามใหญ่ระหว่างอยุธยากับเชียงใหม่หรือล้านนา สาเหตุจริงๆมาจากเรื่อง Subjectivity นี้เอง กล่าวคือ พระยาเมืองพิษณุโลกนามว่า “พระยายุทธิษฐิระ” ซึ่งมีเชื้อสายทั้งราชวงศ์สุพรรณภูมิและราชวงศ์พระร่วง ไม่พอใจเป็นส่วนตัว เนื่องจากพระบรมไตรโลกนาถเคยสัญญาว่าจะแต่งตั้งพระยายุทธิษฐิระให้เป็นพระมหาธรรมราชา ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์ของราชวงศ์พระร่วงตามประเพณี และก่อนหน้านั้นพระยายุทธิษฐิระก็กินเมืองศรีสัชนาลัยสืบตามลำดับต่อจากพระอัยกาของตนเอง

ดังนั้น ถ้ามองตามการสืบต่อตามราชประเพณีของราชวงศ์พระร่วง พระยายุทธิษฐิระต้องเป็นพระมหาธรรมราชา แต่เมื่อบรรดาข้าราชการขุนนางทั้งหลายได้กราบทูลให้พระบรมไตรโลกนาถครั้งยังดำรงพระยศเป็น “พระราเมศวร” ขึ้นครองเมืองพิษณุโลก ทำให้พระยายุทธิษฐิระพูดไม่ออก ต้องจำยอมด้วยเกรงบารมี

พระยายุทธิษฐิระหลบหนีไปหา “พระเจ้าติโลกราช” กษัตริย์แห่งเชียงใหม่ ซึ่งขณะนั้นอาณาจักรล้านนาได้ขยายอำนาจลงมาทางใต้ เมื่อเห็นช่องทางเช่นนั้นพระเจ้าติโลกราชจึงแต่งตั้งให้พระยายุทธิษฐิระปกครองดูแลล้านนาตะวันออก ซึ่งมีเขตแดนติดต่อถึงสุโขทัยและอยุธยา มีเมืองที่อยู่ในการปกครองดูแล เช่น เมืองงาว เมืองพร้าว เมืองกาวน่าน และเมืองพะเยา ซึ่งในหลักฐานทางเหนือมีคนเชื่อว่าพระยายุทธิษฐิระคือพระร่วงองค์ที่ 6 และพระเจ้าติโลกราชรับเอาพระยายุทธิษฐิระเป็นบุตรบุญธรรม ประเด็นนี้นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่าพระยายุทธิษฐิระชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน

พระเจ้าติโลกราชสามารถรอมชอมและตกลงกับพระบรมไตรโลกนาถได้ และให้พระยายุทธิษฐิระดูแลปกครองเมืองพะเยาต่อไป จนพระเจ้าติโลกราชเริ่มระแวง เพราะเห็นว่าอำนาจของพระยายุทธิษฐิระมีมากขึ้นทุกวันจึงขอเมืองคืน ก่อนจะถึงจุดนี้ได้เกิดสงครามใหญ่ระหว่างอยุธยากับล้านนา ต่อมามีการแต่งเป็นลิลิตเพื่อสรรเสริญพระบรมไตรโลกนาถคือลิลิตยวนพ่าย จนถึงวาระสุดท้ายเมื่อขอเมืองพะเยาคืนมา พระเจ้าติโลกราชยังทรงเมตตาต่อพระยายุทธิษฐิระต่อไป โดยให้ช่วยว่าราชการในเมืองเชียงใหม่

เรื่องราวทั้งหมดสะท้อนว่า Subjectivity หรือความคิดความเห็นส่วนตัวนั้น สามารถก่อสงครามและเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ได้

อีกตัวอย่างที่ชัดเจนคือ สงครามระหว่างฝ่ายอยุธยากับหงสาวดี พระมหาธรรมราชาซึ่งเป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตกเป็นจำเลยทางประวัติศาสตร์ด้วยข้อหาว่าขายชาติ แต่ถ้าเข้าใจในข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์แล้วคงต้องหาข้อสรุปใหม่ตั้งแต่เหตุผลว่าในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีเรื่องรักชาติ มีแต่อาณาจักรอยุธยา อาณาจักรพิษณุโลก และอาณาจักรหงสาวดี เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พระมหาธรรมราชาต้องไปเข้าข้างพระเจ้าบุเรงนอง เพราะพระมหินทราธิราชวางแผนการให้พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งอาณาจักรล้านช้างกำจัดพระมหาธรรมราชา โดยอยุธยาจะยกพระเทพกษัตรีให้พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเพื่อหวังผูกสัมพันธ์กับล้านช้าง เหตุการณ์ตรงนี้จึงบีบบังคับให้พระมหาธรรมราชาต้องร่วมมือกับหงสาวดีในการโจมตีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2112

นี่เป็นอีกตัวอย่างที่ชัดเจนมากว่า ความเห็นส่วนตัวหรือ Subjectivity มีอิทธิพลต่อการสร้างสงครามเปลี่ยนแปลงทั้งประวัติศาสตร์ อำนาจ และการเมือง

นั่นเป็นเรื่องในอดีตของประวัติศาสตร์อยุธยา แต่ถ้าเราสะท้อนในปัจจุบันแล้วจะเห็นว่าเรื่องของอำนาจและการเมืองก็เป็นไปในลักษณะไม่แตกต่างกัน แม้แต่ในโลกโซเชียลมีเดียก็เห็นชัดว่าฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายรัฐมักจะใช้เรื่องของ Subjectivity จนก่อเป็นผลขัดแย้งได้ตลอดเวลา หรือแม้แต่ฝ่ายเหลืองกับฝ่ายแดง หรือในระหว่างฝ่ายกันเองก็ล้วนเกิดความขัดแย้งกันเพราะ Subjectivity ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วแต่ละฝ่ายควรจะเข้าใจพื้นฐานว่าอัตวิสัยของฝ่ายหนึ่งนั้นก็คือ ภววิสัยของตัวเอง

นี่เป็นมุมมองมุมหนึ่งที่จะทำให้เราเข้าใจความจริงและความเท็จในเรื่องของประวัติศาสตร์หรืออำนาจและการเมืองได้


You must be logged in to post a comment Login