วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

We-self กายภาพและจิตวิญญาณ ประวัติศาสตร์และวาทกรรม Thai-Un Thai / โดย เรืองยศ จันทรคีรี

On May 15, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี

บทความฉบับนี้เขียนขึ้นท่ามกลางการปะทะกันทางความคิดในโลกโซเซียลมีเดีย จึงขอนำเสนอบทความที่อาจหาคำตอบได้ว่าลึก ๆแล้วสำนึกและความขัดแย้งของสังคมไทยสืบเนื่องมาจากปมความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ในเรื่องอะไร?

คงต้องเริ่มต้นที่ Edward Said นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียง ที่เสนอว่า วาทกรรมเกี่ยวกับประเทศและประชาชนที่อยู่นอกทวีปยุโรป โดยเฉพาะชาวตะวันออก ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์เชิงอำนาจของยุโรปที่ต้องการสถาปนาความเป็นคนอื่น (The other) ขึ้นมา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อตอกย้ำอัตลักษณ์และความเหนือกว่าของมหานครแห่งยุโรปมากกว่าที่จะบันทึกว่าจริงๆแล้วคนเอเชียหรือคนตะวันออกเป็นอย่างไร?

ต่อมาบรรดานักวิชาการตะวันตกเห็นว่า นี่คืออคติที่คนยุโรปกระทำต่อชาวตะวันออกมาเป็นเวลายาวนานพอสมควร ซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับลัทธิล่าเมือง ในยุคนั้นฝรั่งยุโรปต้องการให้ทั่วโลกตระหนักว่ายุโรปเป็นศูนย์กลางของโลก เราอาจจะเรียกอีกอย่างว่า Euro Centrism หรือลัทธิยุโรปเป็นศูนย์กลาง ตรงนี้เองทำให้เกิดการปะทะกันทางวิชาการ เพราะขณะที่ลัทธิบูรพคดีวิทยา (Orientalism) โดยพื้นฐานแล้วเป็นความรู้เกี่ยวกับคนอื่นของอารยธรรมตะวันตก

สรุปแล้วในวิวาทะทางวิชาการเรื่อง Orientalism นักวิชาการตะวันตกเกิดสำนึกถึงอนาคตที่มีต่อตะวันออก จึงพยายามรักษาโรคลัทธิยุโรปเป็นศูนย์กลาง ซึ่งมีนักวิชาการฝรั่งเห็นอกเห็นใจคนในพื้นถิ่น แต่ในเมืองไทยคงมีอะไรที่ผิดแปลกกว่าวันยังค่ำ นักวิชาการไทยๆปฏิเสธความเป็นไทยในสายตาต่างประเทศ แต่สถาปนาเรื่องราวชาติพันธุ์ของความเป็น Thai และ In-Thai แม้แต่ในทางความคิดและโลกทัศน์ที่กลายเป็นคนและสังคมพันธุ์พิเศษที่สุดแสนล้ำเลิศจนไม่สามารถหาคำตอบหรือข้อสรุปใดๆแก่สังคมได้ เป็นไปในทุกสีทุกเหล่า แม้แต่ชนชั้นปกครองซึ่งมองเห็นทุกอย่างกว้างไกลสุดขอบฟ้าดุจหิ่งห้อยที่บินอยู่ในครอบพลาสติกใส แต่ขังตัวเองไม่สามารถบินออกมานอกครอบได้ ซ้ำยังคิดว่าแสงหิ่งห้อยของตนดุจแสงอาทิตย์จนถึงแสงจันทร์และแสงดาวในห้วงเวหา นี่แหละไทยแลนด์ในครอบพลาสติกใส!

เรื่องของคนไทยเป็นความรู้เรื่องของเรา (We) หรือตัวตนของคนคนหนึ่ง โดยความเป็นจริงสิ่งที่ถูกกล่าวถึงหรือศึกษาเป็นเรื่องของจินตนาการ ไม่ใช่การศึกษาคู่ตรงกันข้าม (counter part) แต่เป็นเรื่องของตัวเราในสังคมรวมหมู่

ดังนั้น เรื่องชุมชนของชาติ ตลอดจนมิติทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นชาตินิยม ความรักชาติ อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ภาพลักษณ์ โลกทัศน์ และอื่นๆ จึงไม่ได้เป็นเพียงหัวข้อการศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นตัวเรา (we-self) ทั้งในทางกายภาพและจิตวิญญาณ!

ด้วยการเข้าใจถึง we self ตามที่นำเสนอมา มาตรฐานต่างๆทั้งวัฒนธรรม ประเพณี ค่านิยม ประวัติศาสตร์แบบไทยๆ จึงเป็นลัทธิ และเมื่อผลิตสร้างแปรรูปเป็นวาทกรรม แม้แต่ด้านอำนาจและการเมืองก็มักต้องอ้างอิงพระราชดำรัส และถ้าในปัจจุบันก็อาจเป็นผู้บัญชาการทหารบก หรือนายกรัฐมนตรี รวมถึงองคมนตรี ทั้งหมดอาจกล่าวได้ว่ามีผลมาจากการตีความและเข้าใจประวัติศาสตร์จาก Thai และ In Thai ที่ฝังลึกจนเป็นรากฐานของความขัดแย้งที่สืบเนื่องมาจากประวัติศาสตร์จนลุกลามอย่างเห็นได้ชัดถึงสงครามในโลกโซเชียลมีเดีย

จึงเป็นปัญหาในความคิดของนักประวัติศาสตร์กระแสหลัก เพราะมีฐานะส่วนหนึ่งเป็นวาทกรรม เท่าที่ผ่านมาเรื่องของไทยศึกษาที่กระทำโดยนักวิชาการไทยทำให้เกิดความน่าเชื่อถือด้วยเป็นทรรศนะของคนในที่บอกว่าอะไรคือสิ่งที่ดีหรือเลว อะไรเป็นไทยหรือไม่เป็นไทย (Thai-Un Thai)

ผมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักวิชาการหลายคน รวมทั้ง ดร.ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก มีความเห็นคล้ายกันว่า การเขียนประวัติศาสตร์หนีไม่พ้นการเข้าข้าง ห่วงหาอาลัย หรือคลั่งไคล้ใหลหลง เป็นไปตามสายตา ความคิด พฤติกรรม และการรับรู้ ซึ่งเป็นเรื่องปรกติของนักประวัติศาสตร์หลายคน ซ้ำอาจสอดใส่ความคิดส่วนตัวที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์อะไร?

ข้อเขียนหรือข้อวิจารณ์ชิ้นนี้ไม่ได้ปฏิเสธว่าสังคมที่มีแบบฉบับลักษณะเฉพาะตัวจะไม่มีอยู่ แต่ต้องการจะชี้ว่าวาทกรรมเกี่ยวกับความเป็นตัวเรานั้นไม่ใช่การกล่าวอ้างเกินจริงถึงลักษณะเฉพาะของตน ซึ่งสังคมไทยตอกย้ำและผลิตซ้ำในแบบมากเกินไป ความเป็น Thai หรือ Un Thai นอกจากจะเป็นการอวดอ้างแล้วยังมีผลต่ออำนาจในสังคมไทยด้วยการแปรเป็นวาทกรรมที่ครอบงำสังคม แม้จะอ้างอิงว่าเราเป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ จนเป็นที่มาของการแตกแยกทางความคิดที่เถียงกันไม่รู้จบและหาข้อสรุปไม่ได้

การนำเสนอทั้งหมดเห็นว่า การคิดทั้งเรื่องประวัติศาสตร์และการเมืองหนีไม่พ้นความเป็นตัวเอง เพียงแต่ความเป็นตัวเองนั้นมีส่วนถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ และสุดท้ายก็อยากจะฝากว่า โลกทัศน์ของความเป็นตัวเองในสังคมไทยที่น่ากลัวที่สุดคือ แนวความคิดแบบหิ่งห้อยในครอบพลาสติกใส ซึ่งมองผ่านพลาสติกเห็นไกลไปถึงท้องฟ้า แต่ไม่สามารถบินออกจากครอบพลาสติกใสได้ ซ้ำร้ายยังคิดว่าแสงหิ่งห้อยของตัวเองคือดวงดาวเจิดจรัสในท้องนภา

การเป็นหิ่งห้อยในครอบพลาสติกใสที่มองเห็นทุกๆอย่างแต่ออกมาไม่ได้ช่างน่ากลัวกว่ากบในกะลาครอบ เพราะกะลาครอบไม่ให้เห็นอะไรเลย จึงฝากข้อคิดแสบๆคันๆให้ไปคิดต่อ!


You must be logged in to post a comment Login