วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ท่านผู้นำถังแตก / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On May 15, 2017

คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

การลงทุนที่ผิดพลาดทำให้อดีตประธานาธิบดีอเมริกาหมดเนื้อหมดตัว เงินเก็บที่สะสมมาตลอดชีวิตมลายไปกับสายลมเพียงชั่วเวลาข้ามคืน แถมยังมีหนี้สินอีกนับแสนดอลลาร์ เขาจำเป็นต้องลุกขึ้นสู้อีกครั้งเพื่อฝ่าฟันมรสุมชีวิตครั้งนี้ไปให้ได้

ยูลิสซีส ซิมป์สัน แกรนต์ เป็นประธานาธิบดีคนที่ 18 ของสหรัฐอเมริกา เกิดเมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1822 ในรัฐโอไฮโอ เดิมมีชื่อว่า ไฮรัม ยูลิสซีส แกรนต์ เมื่ออายุได้ 17 ปี บิดาส่งเข้าเรียนโรงเรียนทหารเวสต์พอยต์ เหตุผลง่ายๆก็คือสมัยนั้นเรียนฟรี

เพียงวันแรกที่ย่างเท้าเข้าโรงเรียนทหาร แกรนต์ก็พบว่าเจ้าหน้าที่จัดทำรายชื่อพิมพ์ชื่อเขาผิดเป็นยูลิสซีส ซิมป์สัน แกรนต์ ซึ่งเขาชอบมันมาก เพราะเวลาเขียนชื่อย่อจะเป็น ยู.เอส. แกรนต์ ในขณะที่ชื่อที่ถูกต้องของเขาเวลาเขียนชื่อย่อจะเป็น เอช. ยู. จี. (H.U.G.) ซึ่งแปลว่าอันธพาล แกรนต์จึงใช้ชื่อใหม่นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

ปี 1846 แกรนต์ถูกส่งตัวไปเข้าร่วมสงครามเม็กซิกัน-อเมริกัน แม้ว่าเขาจะไม่เห็นด้วยกับการใช้กองกำลังที่แข็งแกร่งกว่าโจมตีกองทัพข้าศึกที่ด้อยกว่ามาก แต่การเป็นทหารชั้นผู้น้อยจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด

ปี 1848 แกรนต์เข้าพิธีวิวาห์กับจูเลีย เดนต์ บิดาของเจ้าสาวเป็นคนหัวรั้นและฝักใฝ่ลัทธิการใช้แรงงานทาส พ่อแม่เจ้าบ่าวจึงคัดค้านการแต่งงาน แกรนต์ไม่เชื่อฟัง แต่งงานกับคนรักโดยไม่สนใจคำคัดค้าน

ค้าไม่ขึ้น

เงินเดือนทหารมีเพียงน้อยนิด และชีวิตทหารอเมริกันก็บังเอิญตรงกับสำนวนของคนไทยที่ว่า เป็นเมียทหารต้องนอนนับขวด เพราะแกรนต์ใช้เงินไปกับการดื่มสุราจนแทบไม่เหลือ

อย่างไรก็ตาม แกรนต์พยายามหารายได้พิเศษด้วยการลงทุนค้าขาย เขาร่วมหุ้นกับเพื่อนนำน้ำแข็งจากอาร์กติกมาขาย แต่น้ำแข็งก็ละลายระหว่างการเดินทาง เมื่อถึงปลายทางเหลือก้อนเล็กนิดเดียว ขายได้ไม่พอค่าบริหารจัดการ

การลงทุนทำไร่มันฝรั่งและหัวหอมก็ประสบการขาดทุนย่อยยับ หลังจากนั้นแกรนต์ก็ร่วมหุ้นกับเพื่อนเปิดร้านขายของชำในค่ายทหาร ซึ่งเขายอมให้ซื้อเงินเชื่อ และก็เจอกับหนี้สูญจำนวนมากในเวลาต่อมา

ปัญหาทางการเงินยิ่งทำให้แกรนต์ดื่มเหล้าหนักขึ้น จนถึงขั้นเมาเข้าประจำการ ในที่สุดก็ถูกผู้บังคับบัญชาเชิญให้มาเขียนใบลาออกไปเสีย

เก็บฟืนขาย

ช่วงเวลานั้นแกรนต์มีลูกชายตัวเล็กๆ 2 คน เขาหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการเก็บฟืนขาย ต่อมาบิดาของเดนต์เสียชีวิต ทิ้งมรดกบ้านไร่พร้อมที่ทำกินผืนใหญ่ 850 เอเคอร์ และทาสผิวดำ 1 คน แกรนต์จึงพาครอบครัวไปอาศัยที่บ้านไร่ในฐานะทายาท และมีลูกสาวตัวเล็กๆอีก 2 คน

แม้ว่าตอนนั้นพวกเขาจะไม่มีเงินติดตัว แต่สิ่งแรกที่แกรนต์ทำคือลงนามในหนังสือปลดปล่อยทาสให้เป็นอิสระ ขณะที่ค่าตัวทาสร่างกำยำในสมัยนั้นมีราคาราว 1,500 ดอลลาร์ หรือจะให้คนเช่าเอาไปใช้แรงงานก็จะทำเงินได้มากกว่านั้น

ปี 1861 สงครามกลางเมืองเริ่มปะทุขึ้น แกรนต์สมัครเป็นทหารอีกครั้ง แต่ประวัติที่เสียหายทำให้กองทัพไม่ค่อยเต็มใจรับเขา แกรนต์ถูกส่งตัวไปเป็นผู้บังคับบัญชากองพลเหลือขอ ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นกองพลที่ไร้ระเบียบวินัยมากที่สุดในกองทัพฝ่ายเหนือ

แกรนต์ปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาแบบพี่น้อง ไม่บ้าอำนาจสั่งลูกเดียว ทำให้เขาได้ใจผู้ใต้บังคับบัญชา บทเรียนจากครั้งก่อนทำให้แกรนต์ถอยห่างจากขวดเหล้าหันมาสูบซิการ์ และสูบอย่างหนักเพื่อทดแทนความอยากแอลกอฮอล์

ตัวตายตัวแทน

อย่างที่ทราบกันดีว่ากองทัพฝ่ายเหนือมีชัยชนะในสงครามกลางเมือง และอับราฮัม ลินคอล์น ถูกลอบสังหารหลังจากกองทัพฝ่ายใต้ยอมแพ้เพียง 5 วัน ส่งผลให้แอนดรูว์ จอห์นสัน ขึ้นนั่งตำแหน่งประธานาธิบดี

แต่นโยบายการบริหารประเทศของจอห์นสันไม่สอดคล้องกับแนวทางของลินคอล์น ทำให้บรรดาสมาชิกคองเกรสเฟ้นหาบุคคลที่มีแนวความคิดไปในทางเดียวกับลินคอล์น ซึ่งบุคคลนั้นก็คือแกรนต์ ในที่สุดแกรนต์ก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 18 ของอเมริกา

แกรนต์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างปี 1869-1877 หลังจากสิ้นสุดวาระเขาออกเดินทางรอบโลกเพื่อพักผ่อนด้วยเงินเก็บส่วนตัวซึ่งมีอยู่ไม่มากนัก เพราะในสมัยนั้นไม่มีเงินบำนาญเลี้ยงดูประธานาธิบดีที่พ้นวาระไปแล้ว และไม่ได้รับบำนาญจากการรับราชการทหารเพราะเขาลาออกเสียก่อนเพื่อไปเล่นการเมือง

ระหว่างการเดินทางแกรนต์พบกับมาร์ก ทเวน นักประพันธ์ชื่อดัง ทเวนแนะนำให้แกรนต์เขียนบทความเล่าเรื่องจากความทรงจำสมัยที่ออกรบในสงครามกลางเมืองเพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเองหลังเกษียณ แต่แกรนต์ปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าเขาเขียนหนังสือไม่เก่ง

นั่งเฉยๆก็ได้เงิน

บั๊ก ลูกชายคนที่สอง นำเงินไปลงทุนกับเฟอร์ดินันด์ วอร์ด ก่อตั้งบริษัทตัวแทนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ แต่ยังขาดเงินอยู่อีก 100,000 ดอลลาร์ จึงชักจูงแกรนต์ให้มาร่วมลงทุน

กิจการแกรนต์แอนด์วอร์ดไปได้สวย ดำเนินกิจการได้ไม่ถึงปีก็มีมูลค่าบริษัทราว 2.6 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 70 ล้านดอลลาร์ในค่าเงินปัจจุบัน ในช่วงเวลาเดียวกันนิตยสารเซ็นจูรี่ติดต่อแกรนต์ให้เขียนบทความเล่าเรื่องราวสมัยสงครามกลางเมืองโดยจะจ่ายค่าตอบแทนให้ตอนละ 500 ดอลลาร์

แกรนต์ปฏิเสธด้วยเหตุผลเดิมว่าเขาไม่ถนัดงานเขียนบทความ อีกทั้งกิจการในตลาดหลักทรัพย์กำลังไปได้สวย เขาไม่มีความกังวลเรื่องรายได้

จนกระทั่งวันหนึ่งวอร์ดมาหาแกรนต์ที่บ้านแล้วบอกว่าบริษัทหมุนเงินไม่ทัน ต้องการเงินสด 150,000 ดอลลาร์อย่างเร่งด่วน แกรนต์คิดในใจว่าเขาไม่เคยช่วยเหลือบริษัทเลยสักครั้งเดียว ได้แต่นำเงินไปลงทุนเท่านั้น นี่เป็นโอกาสดีที่เขาจะมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือบริษัท

แต่ปัญหาคือเงิน 100,000 ดอลลาร์ที่เขาให้ไปตอนเปิดบริษัทเป็นเงินเก็บทั้งหมดที่เขามี แกรนต์บากหน้าไปขอยืมเงินวิลเลี่ยม แวนเดอร์บิลต์ มหาเศรษฐีเจ้าของธุรกิจเดินรถไฟที่เป็นเพื่อนเก่า

แม้ว่าแวนเดอร์บิลต์จะไม่ค่อยมั่นใจการทำธุรกิจของบริษัทแกรนต์แอนด์วอร์ด แต่ความเป็นเพื่อนทำให้เขาไม่ถามอะไรแล้วเซ็นเช็ค 150,000 ดอลลาร์ให้กับแกรนต์

การลงทุนมีความเสี่ยง

แกรนต์นำเช็คไปให้วอร์ด หลังจากนั้น 48 ชั่วโมง ก็มีฝูงชนไปห้อมล้อมบริษัทแกรนต์แอนด์วอร์ดเรียกร้องขอเงินลงทุนคืน เพราะราคาหุ้นตกอย่างวินาศสันตะโร ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ปั่นป่วนถึงขั้นวิกฤต

เงินเก็บทั้งชีวิตของแกรนต์มลายหายไปในชั่วข้ามคืน แถมยังเป็นหนี้แวนเดอร์บิลต์อีก 150,000 ดอลลาร์ เนื่องจากแกรนต์แอนด์วอร์ดทำธุรกิจไม่โปร่งใส นำทรัพย์สินไปจำนองเพื่อนำเงินมาจ่ายปันผลให้กับผู้ลงทุน แล้วก็นำทรัพย์สินเดิมนี้ไปจำนองซ้ำกับอีกสถาบันการเงิน หมุนเวียนกันแบบนี้หลายครั้งจนกระทั่งครบทุกสถาบันการเงิน

ยอดเงินที่บริษัทแกรนต์แอนด์วอร์ดกู้ยืมสถาบันการเงินรวมกันทุกแห่ง 16.7 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ทรัพย์สินที่นำไปจำนองมีมูลค่าเพียง 67,000 ดอลลาร์เท่านั้น

แกรนต์สิ้นเนื้อประดาตัว เหลือเงินติดกระเป๋าเพียง 81 ดอลลาร์ ส่วนภรรยามีเงิน 130 ดอลลาร์ นั่นคือเงินทั้งหมดที่เขามีในเวลานั้น แกรนต์ติดต่อนิตยสารเซ็นจูรี่ตอบตกลงว่าจะเขียนบทความให้ด้วยค่าจ้าง 500 ดอลลาร์ต่อตอนตามที่ทางนั้นเคยเสนอมา

นิตยสารเซ็นจูรี่ยื่นข้อเสนอใหม่ให้เขียนรวมเล่มด้วย โดยจะจ่ายค่าลิขสิทธิ์ 10 เปอร์เซ็นต์ของยอดขาย แกรนต์ไม่มีทางเลือกอื่น เขาตอบตกลงทันที

หนังสือขายดี

มาร์ก ทเวน ได้ข่าวว่าแกรนต์จะเขียนหนังสือให้กับนิตยสารเซ็นจูรี่แลกกับค่าตอบแทนรายได้จากยอดขายเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เขาจึงรีบติดต่อแกรนต์แล้วบอกว่านิตยสารเซ็นจูรี่ให้ราคาถูกเกินไป อัตรานี้เป็นเงินตอบแทนสำหรับนักเขียนหน้าใหม่ ไม่มีชื่อเสียง

ทเวนยื่นข้อเสนอว่า หากแกรนต์มอบลิขสิทธิ์ให้ เขายอมจ่าย 70 เปอร์เซ็นต์จากยอดขาย แต่แกรนต์ลังเล เพราะเขารับปากนิตยสารเซ็นจูรี่ไปแล้วแม้จะยังไม่ได้ทำสัญญา

ทเวนรับหน้าเสื่อติดต่อกลับไปที่นิตยสารเซ็นจูรี่เพื่อยกเลิกข้อตกลง แกรนต์ใช้เวลาไม่ถึงปีเขียนบทความจากความทรงจำความยาว 275,000 คำ ขณะที่นักเขียนมืออาชีพทั่วไปต้องใช้เวลาเขียนนานกว่า 3 ปี

ในช่วงเวลานี้แกรนต์ป่วยด้วยโรคมะเร็งจากการสูบซิการ์จัดติดต่อกันนานหลายปี เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1885 ทันเวลาที่หนังสือออกวางแผง แต่เขาไม่รู้ว่าจะขายได้มากน้อยเท่าไร

ทเวนมอบเงินค่าลิขสิทธิ์งวดแรกจำนวน 200,000 ดอลลาร์ให้กับภรรยาม่าย และหลังจากเคลียร์ยอดขายหนังสือ ทเวนมอบให้อีก 450,000 ดอลลาร์ หรือราว 12 ล้านดอลลาร์เมื่อเทียบกับค่าเงินปัจจุบัน

ในที่สุดแกรนต์ก็สามารถหาเงินจุนเจือครอบครัวให้ได้อยู่อย่างสุขสบายโดยไม่ขัดสนเงินทองด้วยลำแข้งของเขาเองได้สำเร็จ


You must be logged in to post a comment Login