วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

เรื่องของอำนาจ? / โดย Pegasus

On May 8, 2017

คอลัมน์ : เพื่อชาติประชาชน
ผู้เขียน : Pegasus

เรื่องอำนาจมีคนพูดถึงหลายประเด็น เช่น อำนาจเป็นยาเสพติด ยิ่งเสพยิ่งติด หรืออำนาจจะมีได้ต้องทำให้กลัว เพราะความกลัวไม่ใช่ทั้งรักหรือเกลียด หากหาอำนาจด้วยความรักจะไม่ยั่งยืน เพราะจะกลายเป็นเกลียดได้ หากเกลียดเมื่อไรก็จะมีการต่อสู้ หรือมีอำนาจแล้วจะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด หรือยิ่งกลัวยิ่งใช้อำนาจ ยิ่งใช้อำนาจยิ่งหมดอำนาจ หรือยิ่งบีบยิ่งเล็ด หรือยิ่งตียิ่งโต ฯลฯ

คำพูดเกี่ยวกับอำนาจที่ว่าเป็นยาเสพติดนั้น หมายความว่าไม่มีใครยอมหมดอำนาจหรือถูกขัดขวางการใช้อำนาจ การเมืองส่วนใหญ่จึงนิยมให้มีการเลือกตั้งเป็นวาระ เพื่อให้การเปลี่ยนถ่ายอำนาจเป็นไปอย่างสันติ มิฉะนั้นจะเกิดสงครามกลางเมืองได้
บางคนใช้อำนาจเด็ดขาดแบบเผด็จการทรราช โดยเชื่อว่าเมื่อเอาคนเข้าคุก ยิงเป้า หรือทำให้หายไปแล้วจะมีแต่คนสยบ ไม่มีใครกล้าออกนอกลู่นอกทางเพราะความกลัว ลัทธินาซีใช้วิธีนี้ได้ผล ใช้การยิงเป้าให้เห็นจำนวนมาก ในเกาหลีเหนือก็ไม่ต่างกันนัก เนื่องจากเป็นระบอบเผด็จการ

อย่างไรก็ตาม ภาษิตจีนกล่าวว่า “การชนะใจฮ่องเต้เป็นได้แค่ขุนนาง แต่หากชนะใจราษฎรจะได้ปกครองแผ่นดิน” ดังนั้น การได้มาซึ่งอำนาจที่ยั่งยืนจะใช้ความกลัวอย่างเดียวไม่เพียงพอ ยกตัวอย่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในการรบทหารจะเกรงกลัวพระองค์มากกว่ากลัวข้าศึก เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ดีในการรบ แต่พระองค์ก็ทำให้ราษฎรรักด้วยการประกาศอิสรภาพและสร้างอยุธยาให้เข้มแข็งจนว่างศึกสงครามเป็นเวลานาน ในทางตรงกันข้าม ผู้ปกครองทรราชจำนวนมากในยุโรป แม้มีอำนาจจากกำลังทหาร สุดท้ายก็ถูกโค่นล้ม หลายครั้งถูกโค่นล้มจากทหารของตนเอง

การมีอำนาจทำให้ดูน่าเกรงขาม ผู้ปกครองบางแห่งมีอำนาจทั้งด้านการปกครองและกฎหมาย สามารถเอาผิดหรือสังหารใครก็ได้ตามอำเภอใจ กรณีนี้ราษฎรเปรียบเสมือน “ลูกไก่ในกำมือ” จะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด อาจมีการเล่นละครหรือหาวิธีให้ดูผ่อนคลายบ้าง เช่น ให้มีเวทีประลองกันถึงตายอย่างสมัยโรมันในภาพยนตร์กลาดิเอเตอร์ เป็นต้น

แต่สังคมแห่งการใช้อำนาจมักสั่นคลอน ถ้าไม่เกิดจากการแย่งชิงอำนาจกันเองระหว่างทหารกับผู้ปกครองก็มักเกิดโจรกบฏบ่อยๆ หลายครั้งที่ปราบปรามได้ เพราะปรกติโจรสู้รัฐที่มีเงินทองและกำลังทหารมากกว่าไม่ได้อยู่แล้ว แต่โจรที่รวมกันเป็นขบวนการก็ได้ชัยชนะ เช่น โจรโพกผ้าเหลืองสมัยต้าหมิง และกบฏไท่ผิงในสมัยต้าชิง แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆก็ตาม รวมถึงการประกาศอิสรภาพของอเมริกา การปฏิวัติฝรั่งเศส รัสเซีย จีน จนถึงการแยกตัวเป็นอิสระในหลายประเทศที่คนส่วนใหญ่หรือประชาชนกลุ่มต่างๆไม่พอใจผู้ปกครอง

ทำไมถึงเกิดกบฏต่างๆขึ้น เหตุผลง่ายๆคือ ความกลัว การโกหกตอแหลของผู้ปกครอง บางครั้งจะใช้การปราบปราม อย่างกบฏผีบุญในยุคสมัยต่างๆ ซึ่งเกิดภาวะข้าวยากหมากแพง คนอดอยากยากแค้นก็ต้องหาที่พึ่ง หรือสังคมเมืองปัจจุบันอาจไปหาแชร์ลูกโซ่หวังรวยทางลัด บ้างก็เชื่อไสยศาสตร์ ทำให้ผู้ปกครองกลัวและต้องหาวิธีกำจัด บางครั้งก็ปราบได้ บางครั้งก็ไม่ได้ เช่น กลุ่มคอมมิวนิสต์ หรือกลุ่มผู้นับถือศาสนา เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เป็นการสะท้อนถึงคำว่า “ยิ่งใช้อำนาจยิ่งหมดอำนาจ ยิ่งบีบยิ่งเล็ด ยิ่งตียิ่งโต” เมื่อการใช้อำนาจเป็นไปเพื่อรักษาอำนาจของตนเองโดยไม่สนใจราษฎร ทำให้ราษฎรเอาใจออกห่างหรือถอนตัวจากการสนับสนุนผู้ปกครอง ยิ่งทำให้ผู้ปกครองตกใจและใช้อำนาจมากขึ้นก็จะยิ่งถูกทอดทิ้งมากขึ้น โดยผู้สนับสนุนระบอบการปกครองนั้นจะไม่ให้การสนับสนุนหรือทรยศ ผู้ปกครองก็จะหมดอำนาจ

แม้ไม่มีการทรยศ แต่การใช้อำนาจบีบบังคับ ผู้ถูกกดขี่ก็จะยิ่งหาทางออกที่ผู้ปกครองคิดไม่ถึง หรือใช้การต่อสู้ใต้ดิน จึงมีคำว่า “ยิ่งตียิ่งโต” เพราะญาติพี่น้องและพวกพ้องเห็นความไม่ยุติธรรมมากขึ้นก็ตัดสินใจเข้าร่วมต่อสู้มากขึ้น การก่อตัวจะกลายเป็นการกบฏจนโค่นล้มอำนาจผู้ปกครองได้โดยไม่ต้องใช้กำลังทหารฝ่ายรัฐบาลเดิมหรือการร่วมกันก็เป็นได้ทั้งสิ้น

ดังนั้น หากการใช้อำนาจไม่ชอบธรรมไม่เป็นที่ยอมรับ ประชาชนก็ต้องเอาใจออกห่างเป็นธรรมดา


You must be logged in to post a comment Login