วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

Mandala วัฒนธรรมทางอำนาจ ระบอบการปกครองรัฐไทยในประวัติศาสตร์ / โดย เรืองยศ จันทรคีรี

On May 8, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี

สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เข้าใจประวัติศาสตร์ไทยได้ยาก รวมทั้งมีความขัดแย้งในทรรศนะของนักประวัติศาสตร์กระแสหลักและนักประวัติศาสตร์กระแสรองก็คือ การไม่เข้าใจระบอบการปกครองและระบอบของอำนาจที่ต่างกัน ทำให้เข้าใจความหมายความรักชาติที่แตกต่างกัน จึงเกิดการตีความทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะการศึกษาประวัติศาสตร์ยุคก่อนสุโขทัยคือศรีวิชัยหรือก่อนหน้าศรีวิชัย รวมทั้งมีผลคาบเกี่ยวจนในสมัยของอยุธยาด้วย

งานเขียนของ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริสโตเฟอร์ จอห์น เบเคอร์ เรื่องประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ซึ่งปรับปรุงเป็นภาษาไทยจากงานเขียนชื่อ “A history of Thailand” เขียนถึงระบอบการปกครองแบบ “Mandala” หรือ “มณฑล” ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“หลักการของพันธมิตรในทางการเมืองเมื่อครั้งรัฐไทยโบราณหรือรวมทั้งรัฐต่างๆในอุษาคเนย์ เจ้าเมืองใหญ่จะไม่ทำให้เมืองเล็กถูกกลืนเอาไว้ในเมืองใหญ่ แต่จะช่วยส่งเสริมให้เข้มแข็งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อจะกลายเป็นเมืองขึ้นที่เพิ่มอำนาจและชื่อเสียงให้กับเมืองใหญ่”

ระบอบการปกครองเช่นนี้เมืองใหญ่จะไม่โอ้อวดถึงอาณาเขตที่กว้างใหญ่ไพศาล แต่จะกล่าวถึงจำนวนเมืองที่ขึ้นอยู่กับตนเอง ระบอบเช่นนี้เรียกทางวิชาการว่า Emboxment หรือการเก็บเอาไว้ในกรอบ ด้วยหลักการดังกล่าวนี้ หมู่บ้านจึงถูกครอบครองเอาไว้ในเมือง และเมืองเล็กก็ถูกครอบให้อยู่ภายใต้อิทธิพลของเมืองที่ใหญ่กว่า โดยจะมีหลายระดับ ตรงนี้เองที่นักวิชาการเรียกว่ามณฑล หรือรัฐแบ่งแยก (Segmentary state) หรือเรียกอีกอย่างว่ากลุ่มรัฐ (Galactic polity) ซึ่งเป็นระบบที่แตกต่างจากรัฐเดี่ยว

ผมเห็นว่านี่เป็นการอธิบายให้เห็นถึงกลไกที่อยู่เบื้องหลังอำนาจและการปกครอง ซึ่งการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของศรีวิชัยหรือรัฐไทยโบราณก่อนหน้านั้น ถ้าไม่เข้าใจระบอบแบบมณฑลก็จะสับสนและไม่เข้าใจประวัติศาสตร์เลย ดังนั้น ระบอบแบบศรีวิชัยจึงเป็นระบอบที่เรียกว่าสหมณฑลรัฐ กล่าวคือ เมืองหลายเมืองรวมกันเป็นแว่นแคว้น และแว่นแคว้นหลายแว่นแคว้นก็รวมกันเป็นอาณาจักร ในแต่ละอาณาจักรก็คือ mandala หนึ่ง

ด้วยเหตุผลเช่นนี้ผมจึงชี้ให้เห็นว่าตำแหน่งของพระมหากษัตริย์ในยุคศรีวิชัยมีอยู่หลายตำแหน่ง สูงสุดคือมหาจักรพรรดิ และมีผู้ช่วยตำแหน่งที่ 2 เรียกว่านายก ซึ่งในหลักฐานจีนออกเสียงว่า “นายีเกีย” เข้าใจว่าเป็นที่มาของคำว่านายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน อีกตำแหน่งที่สำคัญมากคือจักรพรรดิ ซึ่งถือเป็นแม่ทัพหลักของประเทศ และกษัตริย์ในตำแหน่งจักรพรรดิของสหมณฑลรัฐศรีวิชัย หรือถ้าจะเรียกให้ถูกต้องต้องเรียกว่าสหมณฑลรัฐศรีโพธิ์ นั่นก็คือ จักรพรรดิศรีไชยนาศ ซึ่งเป็นผู้สร้างตามการยกย่องของนักประวัติศาสตร์ชั้นนำทั่วโลกให้เป็น 1 ใน 5 ของจักรวรรดิที่ใหญ่ที่สุดในโลก เทียบเท่ากับอาณาจักรกรีกและโรมัน หรือถือได้ว่าเป็นจักรวรรดิทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก

อรรถาธิบายอย่างเดียวกันนี้อาจพาดพิงถึงอยุธยาได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเรื่องของอำนาจแบบ mandala แม้จะมีเจ้าราชาธิราชที่อยู่บนยอดพีระมิดสูงสุดก็ไม่ใช่เป็นเพียงผู้เดียวหรือกลไกเดียวที่จะกดปุ่มอำนาจให้เกิดการขับเคลื่อนหรือเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย

การอธิบายลักษณะนี้คงเป็นไปทำนองเดียวกันกับปรัชญาในนวนิยายเรื่องสงครามและสันติภาพ ของ Leo Tolstoy ซึ่งสรุปว่าวีรบุรุษเพียงผู้เดียวหรือกษัตริย์เพียงผู้เดียวย่อมไม่อาจทำให้ยุคสมัยและประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์และยุคสมัยใดๆนั้นต้องอาศัยพลังของทั้งแผ่นดิน รวมทั้งคนเล็กคนน้อยต่างๆด้วย

นอกจากนี้ความเป็นสหมณฑลก็สามารถเกิดความขัดแย้งขึ้นภายในมณฑลหรือระหว่างมณฑลด้วยกันได้ ระบอบอำนาจเช่นนี้มองอีกด้านก็คือ ระบอบขาใหญ่ หรือระบอบมาเฟียนั่นเอง

ผมเข้าใจว่าระบอบอำนาจขาใหญ่ในประวัติศาสตร์ ซึ่งคงไม่ใช่เพียงประเทศไทย แต่เป็นทั่วไปในอุษาคเนย์นั้น ล้วนเป็นระบอบเช่นนี้ทั้งสิ้น

เมื่อเราเชื่อมโยงถึงเหตุการณ์ปัจจุบันอธิบายวิถีของการใช้และขับเคลื่อนอำนาจก็อยากจะฝากให้คิด อย่างนายกรัฐมนตรีถ้าเป็นในยุคศรีวิชัยก็ถือเป็นกษัตริย์อีกตำแหน่งหนึ่ง แต่ในการใช้อำนาจเพื่อหวังจะให้ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงคงจำเป็นต้องมองทุกบริบทอำนาจ เมื่อครั้งสหมณฑลรัฐศรีวิชัยต้องล่มสลายลงเป็นเพราะอีก mandala อย่างรัฐสุพรรณภูมิโดยมหาราชาเจ้าทองอินน์ได้รับการหนุนหลังอำนาจโดยฮ่องเต้จีนผ่านนายพลเจิ้งเหอร่วมกันบุกทำลายศูนย์กลางของศรีวิชัยที่ไชยา โดยจีนต้องการโค่นล้มศรีวิชัยเพื่อยึดช่องแคบมะละกา และใช้เจ้าทองอินน์เป็นเครื่องมือ พร้อมทั้งให้เจ้าทองอินน์ทำการรัฐประหารสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นรัชกาลที่ 6 ของอยุธยา

นี่คือความจริงของประวัติศาสตร์ที่เราไม่เคยสอนกันมาก่อนว่าประวัติศาสตร์แนวดิ่งนั้นเป็นเรื่องที่ผิดพลาด โดยแท้จริงแล้วทั้งอยุธยา สุโขทัย และศรีวิชัย หรือเสียมหลอไชยานั้น คือบ้านเมืองที่อยู่ในยุคสมัยเวลาเดียวกัน

ตอนนี้ถ้ามองตามปรัชญาอำนาจแบบ mandala หรือแบบปรัชญาของสงครามและสันติภาพ ผมอยากจะติงว่าวิธีขับเคลื่อนอำนาจแบบนี้ไม่มีใครคนหนึ่งคนใดที่จะกดปุ่มหรือสั่งการได้เพียงผู้เดียว จะคิดจะทำอะไรก็ต้องคำนึงด้วยว่าบรรดาคนเล็กคนน้อยก็เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์และยุคสมัยด้วย


You must be logged in to post a comment Login