วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ความเชื่อเทศกาลเชงเม้ง / โดย ภูริวรรณ วรานุสาสน์

On May 8, 2017

คอลัมน์ : China Today
ผู้เขียน : ภูริวรรณ วรานุสาสน์

ศาสตราจารย์เหมา โซ่วหลง แห่งมหาวิทยาลัยประชาชนจีน ได้เขียนบทความเกี่ยวกับแรงปะทะกันระหว่างประเพณีกับความเชื่อในเทศกาลเชงเม้ง

เทศกาลเชงเม้ง หรือในภาษาจีนกลางออกเสียงว่า ชิงหมิง หมายถึง เทศกาลที่ชาวจีนจะกลับไปปัดกวาดเช็ดถูดูแลสุสานบรรพบุรุษในช่วงต้นเดือนเมษายน ที่ต้องดูแลสุสานบรรพบุรุษให้สวยงามนั้นเป็นเพราะ ชาวจีนเชื่อเรื่องความกตัญญู การทำความสะอาดสุสานของการระลึกถึงบรรพบุรุษและเชื่อกันว่า หากสุสานบรรพบุรุษดีก็จะส่งผลให้ลูกหลานเจริญรุ่งเรือง

ตามธรรมเนียมปฏิบัติ ลูกหลานก็จะไปเคารพสุสานและช่วยกันทำความสะอาด แต่ปัจจุบัน กลับเพิ่มกิจกรรมต่างๆมากมาย บางครอบครัวก็ท่องบทสวดมนต์ บางครอบครัวก็จุดธูปเทียนเพื่ออธิษฐานให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ รวมไปถึงการจุดประทัดไล่วิญญาณร้าย

นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่แทบจะเรียกได้ว่ากลายเป็นประเพณีกันไปแล้วก็คือ การเผากระดาษเงินกระดาษทองบททางเท้าหรือมุมตึก แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดมลภาวะแก่สิ่งแวดล้อมและกับประชาชนคนเดินถนน ซึ่งไม่เพียงแค่กระดาษเงินกระดาษทองเท่านั้น หากแต่สมัยนี้ยังมีการเผาบ้านกระดาษ รถลัมโบกินีกระดาษ ไอโฟนกระดาษ หรือแม้แต่ยาไวอะกร้ากระดาษให้แก่ญาติผู้ล่วงลับอีกด้วย

ศาสตราจารย์เหมาเห็นว่า กิจกรรมดังกล่าวเพิ่มโอกาสให้เกิดอัคคีภัย โดยเฉพาะการเผาบริเวณสุสานที่อยู่ตามเชิงเขาก็อาจจะก่อให้เกิดไฟไหม้ป่าและลุกลามเสียหายได้ เพราะตามประเพณีแล้ว กิจกรรมเหล่านี้ไม่ใช่กิจกรรมในวันเชงเม้ง แต่ปัจจุบัน กลายเป็นกิจกรรมสำหรับคนเป็นที่คิดแทนคนที่ตายไปแล้ว

แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นทุกคน กิจกรรมตามประเพณีอย่างการปลูกดอกไม้ประดับสุสานหรือการนำดอกไม้มาเซ่นไหว้หรือการเล่นเพลงที่ใช้ในวันเชงเม้งก็ยังมีกลุ่มคนที่ปฏิบัติกันอยู่

ในยุคสมัยโลกอินเทอร์เน็ต คนเริ่มหันมาหาวิธีการใหม่ๆในการเคารพสุสาน ยกตัวอย่างเช่น การเปิดเว็บไซต์รำลึกออนไลน์เมื่อปี ค.ศ.2000 ซึ่งเป็นสถานที่ที่เก็บเสียงและความทรงจำทั้งหมดของผู้ที่ล่วงลับ ที่สำคัญใครๆก็สามารถเข้ามาไว้อาลัยได้ทุกที่ทุกเวลา สามารถส่งดอกไม้ จุดเทียนหรือมอบเพลงวันเชงเม้งให้อย่างไรก็ได้โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ทางเมืองปักกิ่งก็ได้ริเริ่มโครงการรณรงค์ให้ประชาชนหันมาฝังเถ้ากระดูกแทนการฝังโลงศพในสวนชิงชุน เขตเฉาหยาง โดยเริ่มแรกมีอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 30 ครอบครัว และคาดว่าในอนาคตจะมีคนหันมาทำแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

ประเพณีการทำความสะอาดสุสานนั้นแตกต่างกันตามแต่ละสถานที่ ตามแต่ละครอบครัว แต่ก็มีหลายความเชื่อที่เหมือนกันทั่วประเทศ ซึ่งความเชื่อนี้เองที่มีเส้นบางๆระหว่างประเพณีและความน่าขบขันขั้นอยู่

ในสังคมโลกปัจจุบัน ความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติกับประเพณีที่ล้าสมัยกำลังกลายเป็นสิ่งที่น่าขบขันและไม่น่าสนใจสำหรับคนยุคใหม่ แต่หากเจ้าของธุรกิจไหนหัวใสหน่อย ก็จะสามารถนำความเชื่อที่ล้าสมัยเหล่านั้น มาก่อให้เกิดรายได้และสร้างสินค้าทางวัฒนธรรมขึ้นกลายเป็นจุดขาย รวมไปถึงการให้บริการเพิ่มความสะดวกแก่คนรุ่นใหม่อย่างการรับจ้างทำความสะอาดสุสาน การรับจ้างทำเว็บไซต์รำลึกถึงผู้ตาย เป็นต้น


You must be logged in to post a comment Login