วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

อนาคตเสธ.ทร.

On May 5, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

เรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำ แม้ผู้มีอำนาจทั้งหลายจะไม่อยากให้พูดถึงสักเท่าไหร่ โดยอ้างเรื่องความมั่นคง แต่ก็ยังมีประเด็นให้ต้องติดตามอยู่พอสมควร โดยเฉพาะเรื่องการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใสในการจัดซื้อครั้งนี้

การเดินทางไปพบ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ของ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการระดับผู้ใหญ่ใน สตง. อีกจำนวน 5 คน เพื่อขอรายละเอียดสัญญาการจัดซื้อโครงการเรือดำน้ำ ทั้งกระบวนการใช้งบประมาณ ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำ TOR ขึ้นไป มาตรวจสอบตามหลักสากลซึ่งเป็นไปลักษณะของการทดสอบการใช้งบประมาณ บัญชีการจัดซื้อ รวมถึงค่าใช้จ่ายต่อจากนี้ในการดูแล มีความคืบหน้าที่น่าสนใจคือ

1.สตง.จะตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาเพื่อตรวจสอบโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำโดยเฉพาะ คณะกรรมการชุดนี้มี 5 คนที่รับผิดชอบในงานตรวจสอบทางด้านการจัดหาพัสดุ และบัญชีการเงิน และมีผู้ช่วยอีก 2 คน

2.เอกสารที่ตรวจสอบเป็นเอกสารลับที่ไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณชนได้ โดยจะใช้เวลาตรวจสอบประมาณ 1 สัปดาห์ และเนื่องจากเป็นเอกสารลับ สตง.ไม่สามารถนำออกจากกองทัพเรือไปตรวจสอบได้ โดยจะใช้วิธีส่งคณะกรรมการมาตรวจสอบที่กองทัพเรือทุกวันจนกว่างานจะเสร็จ

3.ประเด็นตรวจสอบจะดูที่เหตุผลความจำเป็นในการจัดซื้อ ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนหรือไม่ มีการเปรียบเทียบข้อมูลคุณสมบัติเรือหลายประเทศหรือไม่ และเหตุผลที่เลือกเรือดำน้ำจากประเทศจีน

4.นอกจากการตรวจสอบเอกสารแล้วจะนำข้อสงสัยของฝ่ายต่างๆที่มายื่นเรื่องกับสตง. เช่น ข้อสงสัยของนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสามคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่ตั้งไว้ 7 – 8 ประเด็น และจะนำข้อมูลที่กองทัพเรือแถลงข่าวมาประกอบการพิจารณาด้วย

ที่น่าสนใจคือระหว่างที่การตรวจสอบยังไม่ได้ข้อสรุป กองทัพเรือสามารถเซ็นสัญญาซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนได้ เพราะไม่มีกฎข้อห้ามลงนามจัดซื้อ อย่างไรก็ตาม ระหว่างทำการตรวจสอบหากพบข้อมูลที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศ สตง.จะส่งให้กองทัพเรือใช้ประกอบการตัดสินใจเป็นระยะ

ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมา สตง.เคยตรวจสอบการจัดซื้อโครงการต่างๆของกองทัพเรือ เช่น การจัดซื้อเรือฟริเกต เรือ ต.3 และโครงการการจัดซื้อเรือดำน้ำมือ 2 จากเยอรมนี 6 ลำ เมื่อ สตง.ให้ข้อสังเกตไปสุดท้ายก็ไม่ได้ซื้อ กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน หากมีข้อสังเกตใด สตง.จะส่งให้กองทัพเรือใช้ประกอบการพิจารณา ส่วนจะยับยั้งการจัดซื้อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกองทัพเรือ

อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบจัดซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้จะทำอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นการตั้งงบประมาณแบบผูกพันหลายปี เมื่อซื้อมาแล้วก็ต้องตามไปตรวจสอบว่าการจ่ายเงินงวดตรงกับเนื้องานในสัญญาหรือไม่ ซึ่งทราบว่างวดแรกจะจ่ายกัน 700 ล้านบาท และต่อไปตั้งงบประมาณผูกพันปีละไม่เกิน 2,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ แม้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของ สตง.และใช้เวลาไม่นานประมาณ 1 สัปดาห์ แต่กองทัพเรือจะไม่รอข้อสังเกตหรือข้อแนะนำของ สตง.เพราะมีสื่อหลายสำนักรายงานข่าวตรงกันว่า สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ ได้รับแจ้งจากบริษัท CSOC ของจีน ว่า ได้ประสานงานกับรัฐบาลจีน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจีน จัดเตรียมเอกสารต่างๆไว้เรียบร้อยแล้ว และมีความพร้อมในการลงนามในข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำ ลำที่ 1 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จึงมีความประสงค์ขอเชิญผู้แทนรัฐบาลไทยไปเยือนจีน และลงนามในข้อตกลง

เมื่อฝ่ายขายพร้อม ฝ่ายซื้อก็อยากได้ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ จะเป็นตัวแทนเดินทางไปลงนามจัดซื้อที่กรุงปักกิ่งภายในสุดสัปดาห์นี้ (7 พ.ค.)

เมื่อลงนามจัดซื้อไปแล้ว แม้ สตง.จะพบข้อสังเกตที่ไม่เหมาะสมก็คงไม่มีความหมายเพราะสัญญามีผลแล้ว

การทำงานของสตง.จะมีความหมายก็ต่อเมื่อเกิดความผิดพลาดในการจัดซื้อจนทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ และหากเกิดความเสียหายพล.ร.อ.ลือชัย ในฐานะผู้ลงนามจัดซื้อก็ต้องรับผิดชอบเป็นคนแรก

หลังลงนามพล.ร.อ.ลือชัย คงใจตุ๊มๆต่อมๆไปอีกหลายปี เพราะต้องลุ้นว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามสัญญาที่ลงนามกันไว้หรือไม่


You must be logged in to post a comment Login