วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2567

คุ้มครองหรือควบคุม? / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On May 4, 2017

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

สัปดาห์ที่ผ่านมาคนไทยทั้งประเทศคงได้ข้อยุติโดยปราศจากข้อสงสัยว่า “เรือดำน้ำ” ถือว่าเป็นอุปกรณ์สำคัญของกองทัพที่ทุกคนพึงพอใจหรือไม่? อย่างไรก็ดี ไม่ว่าทุกท่านจะชอบหรือไม่ชอบอย่างไรก็คงไม่มีผลต่อการตัดสินใจ “ช็อปปิ้ง” ครั้งนี้ เพราะการใช้จ่ายงบประมาณซึ่งมาจาก “ภาษีอากร” ของพวกเราทุกคนอยู่ในการตัดสินใจของคณะรัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจมาจากประชาชน ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องฟังเสียงใครทั้งนั้น แม้ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายก็ตาม

บทเรียนนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรก เพราะประเทศไทยมีประสบการณ์ผ่านการยึดอำนาจมาหลายครั้ง แต่ก็ “แปลกเหลือเกิน” ที่ยังมีคนไทยจำนวนไม่น้อยสนับสนุนให้ทหารออกมาปฏิวัติ แต่ที่ “แปลกยิ่งกว่า” ก็คือ พรรคการเมืองที่ชอบ “ปฏิเสธการเลือกตั้ง” ยินยอมทิ้งอุดมการณ์ประชาธิปไตยเพื่อ “หามเสลี่ยงให้เผด็จการนั่ง”

ใครเป็นใคร หน้าตาเป็นอย่างไร ขณะนี้ก็เปิดเผยตัวตนกันอย่างชัดเจน ไม่ได้อายฟ้าดินแต่อย่างใด ท่านใดที่ยังเชื่อนิยายเรื่อง “การปฏิรูปประเทศ” ก็ขอให้อุ้มชูกันต่อไป ส่วนใครที่อยู่กับความจริงและไม่ชอบ “การแช่แข็งประเทศ” ก็ต้องอดทนรอให้ถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งล่วงเลยมาถึงวันนี้ต้องยอมรับว่ายังไม่รู้ว่าจะมีขึ้นเมื่อไร

ผมนำเรื่องนี้มาบ่นให้ฟังเพราะเชื่อว่าเรื่องเรือดำน้ำเป็นเพียงแค่ “น้ำจิ้ม” เท่านั้น ส่วนอาหาร “จานเด็ด” ทั้งหลายคงทยอยออกจากครัว “คสช.” เรื่อยๆ อาหารปรุงสำเร็จที่ผ่านมามีรสชาติเป็นอย่างไรคงพอได้ยินเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักชิมมืออาชีพและมือสมัครเล่นกันเป็นระยะ แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วทันทีที่อาหารจานล่าสุดได้แก่ “ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน” ปรุงรสผ่านสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ออกมา ต้องบอกว่ามีเสียง “ซู้ดปาก” ตามมาทันที โดยเฉพาะจากฟากของสื่อมวลชน

ยิ่งมีโอกาสได้ติดตามการอภิปรายของสมาชิกผู้ทรงเกียรติซึ่งได้รับการแต่งตั้งเข้าไปทำหน้าที่โดย คสช. แล้ว ต้องบอกว่าท่านผู้อ่านที่ไม่ได้ฟังควรหามาฟังอย่างยิ่ง เพราะหลังจากฟังแล้วจะได้รับความรู้ความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นว่าแต่ละท่านมีทัศนคติต่อสื่อมวลชนอย่างไร และทำไมจึงมีความเห็นผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น

แน่นอนที่สุดผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดหากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในอนาคตอันใกล้ก็คือสื่อมวลชนนั่นเอง ดังนั้น สื่อมวลชนทุกแขนงจึงต้องการทราบวัตถุประสงค์ หลักการ และเหตุผลที่แท้จริงของร่างกฎหมายฉบับนี้ว่ารัฐมีความประสงค์เข้ามาดูแลจริยธรรมสื่อมวลชนตามเนื้อหาในร่างนั้น ที่แท้เพราะรัฐต้องการอำนาจตามกฎหมายเพื่อ “คุ้มครอง” หรือ “ควบคุม” สื่อมวลชนกันแน่?

หากเป็นการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครอง “คนดี” และควบคุม “คนไม่ดี” ผมเชื่อว่าสื่อมวลชนแท้ๆคงไม่มีปฏิกิริยาไปในทางที่ไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน แต่บังเอิญว่าเนื้อหาบางประการในกฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจรัฐเอาไว้มากมายเกินสมควรกว่าที่สื่อทุกฝ่ายจะยอมรับได้ ดังนั้น จึงเกิดคำถามสำคัญออกมาว่า หากกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้แล้ว ผู้มีอำนาจตามกฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมายซึ่งเป็นฝ่ายรัฐจะใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของ “ประชาชน” หรือเพื่อประโยชน์แก่ “ฝ่ายตนและพวกพ้อง”?

แน่นอนว่าคำถามนี้ยังไม่มีคำตอบ แต่ผมเชื่อว่าสื่อมวลชนทุกท่านคงเห็นอนาคตของตัวเอง “กระจ่างใส” หรือ “มืดมน” รออยู่ข้างหน้าเรียบร้อยแล้ว ยิ่งพิจารณาจากที่มาและทัศนคติของผู้มีหน้าที่ออกกฎหมายยิ่งปราศจากข้อสงสัย เราจึงพบการแสดงความไม่เห็นด้วยจากสื่อมวลชนทุกแขนงอย่างกว้างขวาง ตรงไปตรงมา แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีใครแตกแถวเลยแม้แต่คนเดียว

หลังจากนี้คงต้องรอดูต่อไปว่าการประสานเสียงของผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจะมีผลต่อการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับนี้มากน้อยแค่ไหน แต่จากเหตุการณ์ก่อนหน้านี้หรือเรื่อง “เรือดำน้ำ” โอกาสที่ประชาชนหรือสื่อมวลชนที่มีสื่อต่างๆในมือจะมีสิทธิมีเสียงดูท่าจะยากกว่าการ “เข็นครกขึ้นภูเขา” เสียอีก

ผมมีโอกาสได้อ่านบทสัมภาษณ์ของสื่อมวลชนท่านหนึ่ง ขออนุญาตเอ่ยนามเพราะคงไม่มีอะไรเสียหายคือ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ขณะนี้เป็นบรรณาธิการข่าวต่างประเทศหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ให้สัมภาษณ์สื่อรายหนึ่งว่า “ไม่เห็นด้วย” ที่ สปท. มีมติผ่านร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ซึ่งเป็นแนวคิดจะควบคุมสื่อทุกชนิด เพราะเชื่อว่าสื่อมวลชนต้องปฏิรูปตัวเองตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลาอยู่แล้ว ที่สำคัญคือไม่เข้าใจว่าทำไมสื่อบางคนบางสำนัก แม้แต่สื่ออาวุโสบางคนกลับพยายามเข้าร่วมกับรัฐเพื่อออกกฎหมายควบคุมตัวเอง

โดยปรกติสื่อมวลชนถูกควบคุมด้วยสังคมและกฎหมายอยู่แล้ว ทุกวันนี้จะอ้างเสรีภาพสื่อเท่าเทียมกับเสรีภาพประชาชนไม่ได้อีกต่อไป เพราะเสรีภาพประชาชนมีมากกว่าเสรีภาพสื่อด้วยซ้ำ จึงเห็นด้วยที่สังคมและสื่อมวลชนจะต่อต้านร่างกฎหมายควบคุมสื่อ

ที่สำคัญยังประณามการอภิปรายของ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร ที่ว่าควรจะจับสื่อไปยิงเป้ากรณีที่เสนอบทสัมภาษณ์ของผู้ที่วิจารณ์ คสช. อย่างรุนแรง หากสมาชิก สปท. มีความคิดแบบนี้จะนำพาสังคมไทยไปสู่ความตกต่ำเสียหาย ซึ่งสังคมไม่ควรยอมรับความคิดแบบนี้

ท่านผู้อ่านที่เคารพ สัปดาห์นี้ผมนำเรื่องกฎหมายควบคุมสื่อมาบ่นให้ฟัง ไม่ใช่เพราะผมไม่ชอบเผด็จการและรักสื่อมวลชนอย่างไม่ลืมหูลืมตา ผมยอมรับว่ามีสื่อมวลชนหลายท่าน หลายช่อง หลายฉบับ ที่ผมไม่เคยชื่นชอบเลยก็มี แต่ก็สามารถ “รักได้เกลียดได้” ตามประสาผู้ที่รักและยอมรับการอยู่ร่วมกันในระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน และประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกได้อย่างเต็มที่ภายใต้กฎหมาย

แม้ผมจะไม่ชอบบางท่าน บางสื่อ และในใจบางครั้งก็อยากให้มีกฎหมายที่ “เข้มงวด” มา “คุมเข้ม” แต่ยืนยันว่าเป็นเพียงแค่ความคิดที่เกิดจากอารมณ์เท่านั้น เพราะถ้าพวกเราทุกคนยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย เราต้องยืนหยัดอยู่ข้างสื่อมวลชนทุกแขนง เพราะผมเชื่อว่าไม่มีฝ่ายประชาธิปไตยคนไหนที่สามารถทำใจยอมรับกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพและการแสดงออกของประชาชนทุกหมู่เหล่าได้ ไม่ว่าเขาจะเป็นสื่อมวลชนหรือไม่ก็ตาม!


You must be logged in to post a comment Login