- กลืนเลือดไม่ให้เสียใจPosted 2 days ago
- ระลึกถึงพ่อหลวง ร.9Posted 2 days ago
- 5 ธ.ค.วัดสวนแก้วแตกแน่Posted 3 days ago
- จะกลับมาแบบไหนPosted 4 days ago
- เลือกงานให้โดน บริหารคนให้เป็น ตาม“ลัคนาราศี”Posted 4 days ago
- ต่างศาสนา ต่างชาติพันธุ์ อยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างPosted 4 days ago
- โลภ•ลวง•หลง เกมพลิกชีวิต รีแบรนด์หรือรีบอร์นPosted 4 days ago
- กูไม่ใช่ไก่ต้มเว้ย! อย่ามาต้มกูเลย..Posted 4 days ago
- หยุดความรุนแรง-ลวงโลกPosted 5 days ago
- อ.เบียร์ช่วยวัดสวนแก้วPosted 1 week ago
เผด็จการไม่เคารพความเป็นมนุษย์ / โดย สุรพศ ทวีศักดิ์
คอลัมน์ : ทรรศนะแสงสว่าง
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์
ปัญหาพื้นฐานอย่างหนึ่งในปรัชญาการเมืองคือ “เสรีภาพวางอยู่บนรากฐานของอะไร?”
มีคำตอบจากปรัชญาเสรีนิยม (Liberalism) 2 กลุ่มหลักๆคือ ปรัชญาเสรีนิยมสายประโยชน์นิยม (Utilitarian Liberalism) ตอบว่า เสรีภาพวางอยู่บนรากฐานของประโยชน์ส่วนรวม และปรัชญาเสรีนิยมสายคานท์ (Kantian Liberalism) ตอบว่า เสรีภาพวางอยู่บนรากฐานของศักดิ์ศรีของมนุษย์
อย่างไรก็ตาม ในทางปรัชญาการเมืองถือว่าการปกครองทุกระบบในโลกต่างก็อ้างว่าปกครองเพื่อ “ประโยชน์ส่วนรวม” รัฐศาสนาและระบบเผด็จการที่ปฏิเสธเสรีภาพของปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมืองก็อ้างประโยชน์ส่วนรวม ขณะที่เสรีประชาธิปไตยที่ปกป้องเสรีภาพของปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมืองก็อ้างประโยชน์ส่วนรวมเช่นกัน
รัฐไทยไม่ใช่รัฐศาสนา (Religious State) แบบ “รัฐอิสลาม” เพราะไม่ได้ใช้ความเชื่อทางศาสนามาเป็นหลักการปกครองและการบัญญัติกฎหมาย เช่น รัฐอิสลามมีกฎหมายชารีอะห์ เป็นต้น แต่รัฐไทยก็ไม่ใช่รัฐโลกวิสัย (Secular State) เพราะไม่ได้แยกรัฐกับศาสนจักรเป็นอิสระจากกัน รัฐไทยยังมีองค์กรศาสนาของรัฐ และถือว่าศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์รัฐคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
การที่อุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดของรัฐไทย ทำให้รัฐไทยไม่สามารถเป็นรัฐโลกวิสัยและเสรีประชาธิปไตยได้ จึงส่งผลให้รัฐไทยไม่สามารถให้หลักประกันเสรีภาพทางศาสนาและเสรีภาพทางการเมืองตามกรอบเสรีนิยมได้ เนื่องจากเสรีภาพทางศาสนาและเสรีภาพทางการเมืองในรัฐไทยเป็นเพียงเสรีภาพในกรอบความหมายตามอำนาจนิยามของชนชั้นปกครอง หรือเสรีภาพตามที่ชนชั้นปกครอง “ยินยอม” ให้มีได้ ซึ่งมีได้เท่าที่ไม่กระทบต่อความมั่นคงของสถานะอำนาจของชนชั้นปกครองเท่านั้น
แต่เสรีภาพทางศาสนาและเสรีภาพทางการเมืองในรัฐโลกวิสัยที่เป็นเสรีประชาธิปไตยเป็นเสรีภาพที่เป็นสัญญาประชาคมของ “คนเสมอกัน” คือเป็นเสรีภาพที่นิยามจากการยืนยันความเป็นคนเสมอกันของประชาชนทุกคนในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเท่าเทียมกัน เสรีภาพจึงมาจากความยินยอมของประชาชนทุกคนในฐานะความเป็นคนเท่ากัน ไม่ใช่เสรีภาพตามที่ชนชั้นปกครองยินยอมหรืออนุญาตให้มีได้เท่าที่ไม่กระทบต่อสถานะ อำนาจของพวกเขา
ถามว่าเสรีภาพตามที่ชนชั้นปกครองอนุญาตให้มีได้วางอยู่บนรากฐานของอะไร คำตอบคือ วางอยู่บนรากฐาน “ความมั่นคง” ของรัฐ ประชาชนชาวไทยสามารถมีเสรีภาพทางศาสนาและทางการเมืองได้ตราบที่ไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐคือ ความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
เมื่อมองจากกรอบคิดเสรีนิยมสายประโยชน์นิยม รัฐจำเป็นต้องให้หลักประกันเสรีภาพทางศาสนาและเสรีภาพทางการเมืองแก่ประชาชนอย่างเต็มที่ เพราะการมีเสรีภาพดังกล่าวจำเป็นต่อการสร้างประโยชน์สุขส่วนรวมและความก้าวหน้าของมนุษยชาติ ฉะนั้นเสรีภาพจึงเป็น “วิถี” (means) สู่ “เป้าหมาย” (end) คือประโยชน์ส่วนรวม เสรีภาพจึงไม่ได้มีคุณค่าในตัวมันเอง เพราะคุณค่าของเสรีภาพอยู่ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ส่วนรวม
ปรัชญาเสรีนิยมสายคานท์โต้แย้งว่า การวางคุณค่าของเสรีภาพไว้บนรากฐานของ “ประโยชน์ส่วนรวม” ทำให้เสรีภาพอยู่ในภาวะง่อนแง่น เนื่องจากนิยามของ “ประโยชน์ส่วนรวม” ไม่มีความแน่นอน แต่เปลี่ยนแปลงลื่นไหลไปได้เรื่อยๆ เช่น ชนชั้นปกครองไทยอาจนิยามประโยชน์ส่วนรวมแบบหนึ่ง นักปรัชญาประโยชน์นิยมนิยามอีกแบบหนึ่ง หรือแต่ละสังคมก็นิยามประโยชน์ส่วนรวมแตกต่างกันไป หากสังคมนั้นๆเห็นว่าเสรีภาพขัดกับประโยชน์ส่วนรวมตามนิยามของพวกเขา การมีเสรีภาพก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป
นักปรัชญาเสรีนิยมสายคานท์จึงเสนอว่า เสรีภาพต้องวางอยู่บนรากฐานของ “ศักดิ์ศรีของมนุษย์” คือรัฐต้องให้หลักประกันเสรีภาพบนพื้นฐานของการเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ ในฐานะที่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล (Rational Being) และมีอิสรภาพในตัวเอง (Autonomy)
ความเป็นมนุษย์ที่มีเหตุผลและอิสรภาพในตัวเองคือ “ความเป็นคนเท่ากัน” ของทุกคน ไม่ว่าจะเพศ ผิว ชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรมอะไร ความเป็นคนเท่ากันนี้เป็นสากลและไม่เปลี่ยนแปลง เสรีภาพที่วางอยู่บนศักดิ์ศรีของมนุษย์คือความเป็นคนเท่ากันจึงเป็นเสรีภาพที่มีค่าในตัวเอง เป็นสากล และไม่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคมและวัฒนธรรม
แนวคิดเรื่องเสรีภาพในปรัชญาเสรีนิยมสายคานท์กลายเป็นรากฐานสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิของมนุษย์” ในศตวรรษที่ 18 ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่า “หลักสิทธิมนุษยชนสากล” เพราะถือว่า “สิทธิ” (และเสรีภาพ) ด้านต่างๆวางอยู่บนรากฐานของการเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ในฐานะเป็น “คนเท่ากัน” โดยไม่เลือกเพศ ผิว ชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม
มองจากปรัชญาเสรีนิยมสายคานท์ ระบอบประชาธิปไตยที่ให้หลักประกันเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนสากลเท่านั้นที่เป็นระบอบการปกครองที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนได้จริง ระบบเผด็จการย่อมเป็นระบบที่ไม่เคารพความเป็นมนุษย์ของประชาชน หรือเป็นระบบที่ใช้ความเป็นมนุษย์ของประชาชนเป็นเครื่องมือเพื่อรักษาความมั่นคงแห่งสถานะ อำนาจของชนชั้นปกครอง
ฉะนั้นตราบที่สังคมไทยไม่เป็นประชาธิปไตยที่ให้หลักประกันเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชน การไม่เคารพความเป็นมนุษย์ของประชาชนอย่างกรณีลักลอบเปลี่ยน “หมุดหน้าใส” แทน “หมุดคณะราษฎร” และความไม่โปร่งใสในกรณีอื่นๆ ย่อมจะเป็นปัญหาที่หนักหนาสาหัสขึ้นเรื่อยๆ
You must be logged in to post a comment Login