วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On April 17, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทยประกาศใช้แล้วอย่างเป็นทางการ

ตามความเข้าใจของประชาชนทั่วไปเข้าใจเหมือนกันว่ารัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดที่ใช้ปกครองประเทศ จะมีอะไรมาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้

แต่นั่นเป็นความเข้าใจผิด ต้องทำความเข้าใจกันใหม่

ในยามที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะปรกติรัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุด แต่ในยามที่บ้านเมืองไม่อยู่ในภาวะปรกติรัฐธรรมนูญทั้งฉบับมีศักดิ์ศรีด้อยกว่าอำนาจที่ถูกเขียนไว้เพียงมาตราเดียวคือมาตรา 44

เป็นที่ทราบกันว่าแม้รัฐธรรมนูญใหม่จะประกาศใช้แล้วอย่างเป็นทางการ แต่อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปี 2557 ที่สิ้นสภาพบังคับใช้ไปยังคงอยู่ และถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญใหม่ มาตรา 265

บทบัญญัติในมาตรา 44 ระบุว่า ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของคณะ คสช. มีอํานาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทําการใดๆได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่ง หรือการกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด

ทั้งนี้ เมื่อได้ดําเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว

จะเห็นได้ว่ากฎหมายนี้ให้อำนาจหัวหน้า คสช. กระทำการได้ทุกอย่าง และเหนือกว่าทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ และเป็นคำสั่งที่เป็นผลที่สุด มีผลผูกพันต่อทุกองค์กร โดยไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย

ชัดเจนว่าอำนาจมาตรา 44 มาตราเดียวอยู่เหนือรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ทำให้เกิดลักษณะอำนาจซ้อนอำนาจ โดยมีอำนาจหนึ่งเหนือกว่าอำนาจตามรัฐธรรมนูญ

ต่อกรณีนี้ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ให้ความเห็นเอาไว้น่าสนใจว่า

“หลายฝ่ายเห็นว่าหัวหน้า คสช. ควรใช้มาตรา 44 อย่างรอบคอบมากขึ้น เมื่อมีรัฐธรรมนูญปี 2560 แล้ว ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องใช้ เพราะมาตรา 44 คือคราบไคลของความเป็นเผด็จการ คือตัวตนของเผด็จการ แล้วจะตอบสังคมโลกอย่างไร วันนี้เมื่อบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยแล้วบรรยากาศก็ควรจะเป็นประชาธิปไตย ดังนั้น หากไม่นำมาใช้เลยคงจะดีกว่า ตอนนั้นใช้เพราะยังไม่มีรัฐธรรมนูญก็พอเข้าใจได้ แต่เมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้วทุกอย่างควรยึดรัฐธรรมนูญเป็นแม่บทแม่แบบ ไม่เช่นนั้นรัฐธรรมนูญจะไม่ศักดิ์สิทธิ์ กลายเป็นว่ามาตรา 44 ศักดิ์สิทธิ์กว่าสิ่งใดในโลกสำหรับประเทศไทย”

แน่นอนว่าเมื่อมีคนไม่เห็นด้วยย่อมมีคนเห็นต่าง โดยเฉพาะคนในฝ่ายคุมอำนาจ

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า

“คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ดำเนินการแปลรัฐธรรมนูญเป็นภาษาอังกฤษเพื่อส่งให้กระทรวงการต่างประเทศนำไปแจกจ่ายแก่คณะทูตต่างชาติ เพื่อที่ต่างชาติจะได้เข้าใจเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต่างชาติให้ความสนใจในวันนี้ นอกจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ยังมีเรื่องของโรดแม็พที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง ทั้งนี้ จากการชี้แจงของรัฐบาลที่ผ่านมาได้สร้างความเข้าใจต่อต่างชาติเป็นอย่างดี และการประกาศโรดแม็พครั้งล่าสุดหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีขั้นตอนต่างๆตามกรอบเวลาเพื่อจะนำไปสู่การเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรืออื่นๆ ไม่พบว่ามีส่วนใดที่อยู่ในความกังวลหรือติดใจของต่างชาติ

ส่วนเรื่องการคงอำนาจมาตรา 44 ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เชื่อว่าไม่มีใครติดใจอะไรมาก เพราะผู้ที่สนใจต่างตรวจตราการใช้มาตรา 44 มาโดยตลอด ต่างก็รู้ว่ารัฐบาลใช้อย่างสร้างสรรค์ ช่วยให้งานเดินหน้าได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น ต่างประเทศจึงไม่ติดใจ และไม่ส่งผลต่อภาพลักษณ์”

ความเห็นนี้ไม่ต่างจากนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ยืนยันว่า

“หลังรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ มาตรา 44 จะใช้มากหรือใช้น้อยครั้งไม่ใช่ปัญหาถ้าใช้แล้วทำให้งานลุล่วงรวดเร็วเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ที่มีบางคนวิจารณ์ไม่พอใจก็ให้เขาพูดไป คนพูดต้องดูผลกระทบโดยรวมด้วย อย่าจ้องติเรือทั้งโกลน เหมาว่าการใช้มาตรา 44 ไม่ดีไปเสียหมด รัฐบาลจึงไม่ต้องไปกังวล ไม่อย่างนั้นจะแก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย ควรยึดหลักใช้อย่างระมัดระวังมากขึ้นเท่าที่จำเป็น อย่าไปตั้งหลักว่าต้องเพิ่มหรือลดจำนวนการใช้”

เหรียญมีสองด้าน ทุกอย่างมีสองมุม อยู่ที่ใครจะมองมุมไหน อย่างไร

ฝ่ายคุมอำนาจมองว่าอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยังมีความจำเป็น เพราะบ้านเมืองไม่ได้อยู่ในภาวะปรกติ และการมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงการมีตัวตนอยู่ของคณะรัฐประหาร

ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าเป็นการทำลายหลักการของกฎหมาย เพราะอำนาจมาตราเดียวใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และให้อำนาจคนใช้เพียงคนเดียวคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.

แม้ตัวกฎหมายจะกำหนดว่าก่อนหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจมาตรา 44 ประกาศบังคับใช้เรื่องใดต้องนำเข้าที่ประชุม คสช. เพื่อขอความเห็นชอบก่อน และเมื่อใช้แล้วต้องรายงานให้นายกรัฐมนตรีและประธาน สนช. รับทราบโดยเร็ว

แต่ในความเป็นจริง พล.อ.ประยุทธ์คือผู้มีอำนาจสูงสุดใน คสช. และการที่หัวหน้า คสช. คือ พล.อ.ประยุทธ์ต้องรายงานให้นายกรัฐมนตรีซึ่งก็คือ พล.อ.ประยุทธ์รับทราบโดยเร็วก็ไม่มีความหมาย เพราะเป็นการออกคำสั่งเองรับทราบเอง แม้มีข้อกำหนดว่าต้องรายงานต่อประธาน สนช. ด้วยก็เป็นเพียงวาระเพื่อทราบ คือแจ้งให้ทราบว่าได้ใช้อำนาจกระทำการใดลงไปเท่านั้น ไม่ได้กำหนดให้ประธาน สนช. ตรวจสอบการใช้อำนาจว่าเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่ และไม่ได้กำหนดให้ประธาน สนช. มีอำนาจวีโต้การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช. ได้

ก่อนหน้านี้เวลาบ้านเมืองเกิดเหตุไม่ปรกติ ไม่เป็นไปตามกระบวนการที่ควรจะเป็น เรามักได้ยินคำพูดว่าผู้มีบารมีเหนือรัฐธรรมนูญเป็นผู้ออกคำสั่ง โดยที่ไม่เคยรู้ว่าคนที่ถูกพูดถึงนั้นเป็นใคร

แต่วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์คือผู้มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญตัวเป็นๆที่เราสามารถมองเห็นและสัมผัสได้
อย่างไรก็ตาม ทุกอำนาจต่างมีต้นทุน

หากใช้อย่างไม่ระวัง แม้จะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแค่ไหนก็เสื่อมได้ ดังที่มีบทเรียนมาแล้วจากกรณีที่ถูกประชาชนปฏิเสธการใช้อำนาจมาตรา 44 ประกาศห้ามนั่งโดยสารท้ายรถกระบะ


You must be logged in to post a comment Login