วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ-การค้า / โดย เรืองยศ จันทรคีรี

On April 17, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี

ผมและ ดร.ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ในการค้นคว้าและศึกษาประวัติศาสตร์เราจำเป็นจะต้องมองป่าทั้งป่าให้เห็น นั่นคือการมองภาพรวมนั่นเอง ซึ่งเราต้องยอมรับว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม จึงหนีเรื่องการเมืองและอำนาจไปไม่ได้ ดังนั้น ในการมองประวัติศาสตร์จำเป็นต้องมองไปที่เรื่องของระบบอำนาจและประวัติศาสตร์การเมืองในช่วงนั้นๆ ส่วนข้อมูลหลักฐานอื่นๆ เช่น หลักฐานทางโบราณคดี เป็นเพียงส่วนย่อยที่เราจะต้องเอาเข้ามาสนับสนุนเพื่อให้มีความสมเหตุสมผลในการอธิบายถึงความถูกต้องของข้อเท็จจริงในเรื่องอำนาจและการเมืองมากยิ่งขึ้น

ถ้าเราอ่านงานประวัติศาสตร์แล้วมักจะเห็นว่านักประวัติศาสตร์กระแสหลักมองข้ามตรงนี้ คือไม่มองภาพรวมก่อน แต่ไปจับเอาเรื่องปลีกย่อย เช่นเรื่องหลักฐานโบราณคดี เอามาเป็นประเด็นหลักในการเขียนประวัติศาสตร์ แล้วเอาเรื่องหลักคือเรื่องของอำนาจและการเมืองในประวัติศาสตร์เป็นเพียงประเด็นย่อยเข้าไปสนับสนุนสมมุติฐานที่เกี่ยวข้องกับโบราณคดีของตัวเอง

ตรงนี้จึงเป็นจุดผิดเพี้ยนของประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วในประวัติศาสตร์มีเรื่องการเมืองอยู่ และการเมืองก็อยู่ในประวัติศาสตร์นั้นๆอย่างปฏิเสธไม่ได้ คือการเมืองและอำนาจผูกติดอยู่กับผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและการค้า

ยกตัวอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสตกลงและทำสัญญาลับๆจะใช้ประเทศไทยเป็นรัฐกันชนของตนเอง โดยแบ่งไทยออกเป็น 2 ส่วนคือ ด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเขตอิทธิพลของอังกฤษ ซึ่งตอนนั้นอังกฤษยึดครองพม่าแล้ว ขณะที่ด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาฝรั่งเศสคิดจะตัดเฉือนดินแดนของสยามไป ซึ่งต่อมาก็กระทำได้สำเร็จ เช่น การได้ดินแดนของลาวและเขมรเอาไปครอบครองโดยใช้ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือและข้ออ้าง เข้าใจว่าได้มีการกดดันให้นักวิชาการของไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 ยอมรับว่าขอมคือบรรพบุรุษของเขมร และอะไรที่เคยเป็นของขอมก็ต้องเป็นของเขมร ดังนั้น เมื่อเขมรเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ดินแดนที่เป็นของขอมก็เป็นของฝรั่งเศสด้วย

จากจุดนั้นเองเราจึงกล่าวได้ว่าประเทศไทยเป็นจุดที่ประวัติศาสตร์ไทยถูกเขียนขึ้นมาใหม่ ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงทั้งหมด โดยเขียนให้สอดคล้องกับเหตุผลที่ดูดีขึ้นในการเสียดินแดน นี่คือตัวอย่างประการหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนว่าเหตุผลของเศรษฐกิจและการค้าคือเงื่อนไขประการสำคัญต่อการศึกษาและอธิบายประวัติศาสตร์

อีกกรณีหนึ่งที่ ดร.ณัฐวุธเห็นว่าเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดนั่นก็คือ การล่มสลายของอาณาจักรศรีวิชัย ทั้งนี้ เพราะจีนต้องการยึดช่องแคบมะละกากลับคืนมา ซึ่งก่อนหน้านั้นช่องแคบมะละกาอยู่ในความครอบครองของอาณาจักรศรีวิชัย จึงสร้างความมั่งคั่งให้ศรีวิชัยเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ในภูมิภาคนี้ โดยนักประวัติศาสตร์ชั้นนำทั่วโลกยกย่องว่าศรีวิชัยคือ 1 ใน 5 ของจักรวรรดิที่ใหญ่ที่สุดในโลกเทียบเท่าอาณาจักรกรีกและโรมัน และยังถือว่าเป็นจักรวรรดิทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่ประวัติศาสตร์โลกเคยมีมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ 1 ของศรีวิชัย ซึ่งมีตำแหน่งกษัตริย์สูงสุดคือ มหาจักรพรรดิพ่อหะนิมิต ในขณะที่ตำแหน่งของแม่ทัพใหญ่ได้แก่ จักรพรรดิศรีไชยนาศ มีรูปแบบการปกครองที่ต้องเรียกอย่างถูกต้องว่า “สหมณฑลนครรัฐศรีวิชัย”

ความมั่งคั่งและยิ่งใหญ่ของศรีวิชัยได้ทำลายผลประโยชน์การค้าสำเภาของจีน ฮ่องเต้จีนในยุคนั้นจึงจับเจ้านครอินทร์จากสุพรรณบุรีเป็นเครื่องมือเข้ายึดอำนาจในกรุงศรีอยุธยา และส่งกองทัพเรือของนายพลเจิ้งเหอเข้าร่วมกับเจ้านครอินทร์บุกโค่นล้มศูนย์กลางอำนาจรัฐของศรีวิชัยที่เมืองไชยา และยึดช่องแคบมะละกากลับไปเป็นของจีน นี่คือข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ที่ไม่มีเนื้อหาบรรจุอยู่ในประวัติศาสตร์แห่งชาติ

อีกกรณีตัวอย่างที่อยากจะยกอธิบายให้เห็นความสำคัญกับเรื่องของการค้าและเศรษฐกิจก็คือเรื่องคอคอดกระ ซึ่งเคยคิดจะขุดเชื่อมทะเลทั้ง 2 ด้านมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ฝรั่งเศสที่กำลังแข่งขันอำนาจอยู่ในสุวรรณภูมิกับอังกฤษได้เสนอกับราชสำนักไทยที่จะขุดช่องแคบดังกล่าว สร้างความไม่พอใจให้กับอังกฤษ เพราะถ้ากระทำเช่นนั้นได้อังกฤษจะสูญเสียผลประโยชน์อย่างมหาศาลที่เมืองท่าสิงคโปร์และปีนัง จึงเกิดการต่อรองกับราชสำนักไทย อันเป็นสาเหตุให้ต้องเสียดินแดนปะลิส ไทรบุรี ตรังกานู และกลันตัน ในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมา รวมทั้งต้องยอมให้อังกฤษเอาไม้สักในภาคเหนือขนส่งกลับประเทศได้โดยลดหย่อนภาษีให้

นี่เป็นการกล่าวถึงเรื่องเศรษฐกิจกับประวัติศาสตร์ ทีนี้มองกลับมาถึงในปัจจุบัน ซึ่งในข้อเขียนตอนที่แล้วได้กล่าวถึงโครงการคลองไทยที่มีคนพยายามชงเรื่องให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจดำเนินการโครงการนี้ ถ้ามองเผินๆอาจคิดว่าดี แต่เมื่อสอบถามผู้รู้ก็มีปัญหาน่าคิด 3 ประการคือ 1.เป็นโครงการที่ผิดเวลาเสียแล้ว ไม่มีประโยชน์อะไรมากมายอย่างที่คิดตามการชงเรื่องของกลุ่มที่พยายามขับเคลื่อน

2.การมองในแง่โลจิสติกส์ เรือที่จะใช้บริการคงจะแย่งมาจากช่องแคบมะละกาไม่ได้ เพราะเรือขนส่งขนาดใหญ่พวกนี้จะไปมองแบบรถทัวร์ที่เดินทางระหว่างจุดหัวและท้ายคงไม่ได้ ต้องมองแบบรถเมล์ที่ต้องมีผู้ขึ้นและลงตลอดระยะทาง เส้นทางเดิมที่ผ่านมะละกานั้นมีลูกค้ามากมายในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ตรงนี้เองคือเหตุผลที่บอกว่าความสนใจของสายการเดินเรือระดับโลกคงจะมีไม่มากเท่าที่ควรและคงไม่คุ้มค่าในการลงทุน

3.การรู้จักประวัติศาสตร์นั้นแท้จริงก็เพื่อรู้จักอนาคต จึงมีความเป็นไปได้ว่าถ้าโครงการคลองไทยเกิดขึ้น เราก็จะกลายเป็นเพียงเครื่องมือของจีน และมีคำถามว่าเงินลงทุน 40,000-50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ว่าจีนจะร่วมลงทุนนั้นจริงหรือไม่ เพราะถ้าพิจารณาในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันจีนก็ไม่ต่างกับปิศาจเศรษฐกิจดีๆนี่เอง ไม่ดีและอาจเลวกว่าสหรัฐอเมริกาก็ได้

ดังนั้น เมื่อเรามองย้อนไปในประวัติศาสตร์จึงเป็นไปได้ว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์คงไม่กล้าตัดสินใจเดินหน้าโครงการนี้อย่างแน่นอน รวมทั้งวิธีคิดแบบนักการทหารที่หวาดวิตกเรื่องความมั่นคง กลัวการแยกประเทศเป็น 2 ส่วน

ข้อเขียนในตอนนี้ไม่ได้เชียร์หรือคัดค้านเรื่องขุดคลองไทย แต่กำลังจะบอกว่าเรื่องของเศรษฐกิจและการค้านั้นคือมิติและเงื่อนไขที่สำคัญอีกประการหนึ่งในงานประวัติศาสตร์


You must be logged in to post a comment Login