วันพฤหัสที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

แบบนี้ก็ได้หรือ / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On April 3, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

ข่าวที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโมโตจีพีโดยใช้งบประมาณปีละ 100 ล้านบาท ต่อเนื่องกัน 3 ปี ถึงจะไม่มีใครให้ความสนใจมากนัก

แต่ต้องถามว่าทำกันอย่างนี้ก็ได้หรือ

ในเมื่อสนามที่จะใช้จัดการแข่งขันเป็นของเอกชน โดยมีชื่อของอดีตนักการเมืองอย่างนายเนวิน ชิดชอบ เป็นโต้โผใหญ่

เอางบประมาณรัฐจากภาษีประชาชนไปใช้สนับสนุนการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในพื้นที่เอกชน

งบประมาณจากภาษีประชาชนเอาไปจัดการแข่งขันโมโตจีพีสูงถึงปีละ 100 ล้านบาท

แม้เหตุผลข้ออ้างที่ยกมาอย่างสวยหรูคือ ใช้กีฬาสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ ใช้กีฬาดึงดูดนักท่องเที่ยว และคาดการณ์กันว่าในช่วงที่มีการแข่งขันจะทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นคึกคัก เพราะจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปชมการแข่งขันจำนวนมาก

มีคำกล่าวอ้างของผู้เกี่ยวข้องว่า การลงทุนปีละ 100 ล้านบาทของรัฐบาล คิดเป็นเพียง 40% ของเงินทั้งหมดที่จะใช้จัดการแข่งขันเท่านั้น การเป็นเจ้าภาพ 3 ปี ต้องหาเงินมาใช้จ่ายในส่วนต่างๆอีกประมาณ 900 ล้านบาท แต่จะสามารถดึงเม็ดเงินกลับเข้าประเทศได้กว่าหมื่นล้านบาท รวมทั้งสร้างแบรนด์ในเรื่องมอเตอร์สปอร์ตให้แก่ประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

เรียกว่ามองมุมไหนก็คุ้มค่า

แต่ช้าก่อน…ก่อนที่ไทยจะเสนอตัวชิงสิทธิการเป็นเจ้าภาพนั้น การแข่งขันโมโตจีพีในแต่ละฤดูกาลแข่งขันจะมี 20 สนาม ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีประเทศที่ได้รับสิทธิเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันครบทั้ง 20 สนามแล้ว

การที่ไทยจะได้สิทธิเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันย่อมหมายความว่าต้องมีประเทศหนึ่งประเทศใดสละสิทธิในการเป็นเจ้าภาพ ซึ่งตามข่าวระบุว่าประเทศที่ถอนตัวจากการเป็นเจ้าภาพคือประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์

คำถามคือ หากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลกให้ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชื่อเสียงประเทศหรือเงินทองที่จะเข้าไปในพื้นที่จริง ทำไมประเทศที่เคยเป็นเจ้าภาพอยู่แล้วจึงยอมปล่อยมือ ไม่รักษาสิทธิ รักษาผลประโยชน์ของประเทศตัวเอง

“เสธ.ยอด” พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย ประธานสหพันธ์สมาคมกีฬาชาติ ชี้ว่า โมโตจีพีคืออีเวนต์กีฬา ไม่ใช่การพัฒนากีฬาอาชีพ อยากให้พิจารณาให้รอบคอบ เพราะหลายครั้งที่การจัดกิจกรรมกีฬาในไทยล้มเหลวทั้งผู้ชมทั้งรายได้ ที่เห็นได้ชัดคือเอเชี่ยนบีชเกมส์ที่ไทยเคยเป็นเจ้าภาพก็ไม่ประสบความสำเร็จ

ก่อนหน้านี้มีความพยายามที่จะใช้งบประมาณจัดการแข่งขันจากกองทุนพัฒนากีฬาอาชีพของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) แต่ถูกหลายฝ่ายคัดค้านอย่างหนักว่าไม่เหมาะสม เป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์

เมื่อใช้งบประมาณจากกองทุนพัฒนากีฬาอาชีพไม่ได้ ฝ่ายที่ผลักดันให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันก็ไม่ลดละ จนในที่สุดสามารถชงเรื่องให้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้

ถามว่าทำไมคณะรัฐมนตรีต้องรีบเร่งให้ความเห็นชอบเรื่องนี้

คำตอบคือ หากไทยอยากได้สิทธิเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันจะต้องเซ็นสัญญากับทาง “ดอร์น่า” ผู้ถือลิขสิทธิ์โมโตจีพี ภายในเดือนเมษายนนี้ ไม่เช่นนั้นสิทธิจะถูกยกให้เป็นของประเทศอื่นที่สนใจ

อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามที่ต้องรอคำตอบอีกว่าใครจะเป็นผู้ลงนามในสัญญากับ “ดอร์น่า” ในเมื่อเงินส่วนหนึ่งที่จะจ่ายเป็นค่าลิขสิทธิ์จัดการแข่งขันเป็นงบประมาณจากภาษีประชาชน

ตามข่าวแจ้งว่าหากไทยลงนามในสัญญาทันตามกำหนดจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฤดูกาลแรกในช่วงเดือนมีนาคมปีหน้า

แม้ก่อนหน้านี้จะมีข้อท้วงติงว่าการจัดการแข่งขันโมโตจีพีอาจจะเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดไปยังประชาชน เพราะไทยเป็นประเทศที่มีอุบัติเหตุในการใช้จักรยานยนต์มากเป็นอันดับต้นๆของโลก การนำเสนอข้อมูลเป็นการมองแต่ในแง่ดีเท่านั้น ควรศึกษาข้อมูลด้านอื่นๆด้วย

แต่ข้อท้วงติงต่างๆคงไม่มีความหมายอะไรแล้ว

เมื่อข้อท้วงติงไม่มีความหมาย ยังมีคำถามน่าสนใจว่า หากเป็นการอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่มีนักการเมืองเป็นผู้นำประเทศจะสามารถทำได้หรือไม่ โดยเฉพาะการอนุมัติงบประมาณจัดการแข่งขันในสนามที่นักการเมืองในฝ่ายเดียวกับตัวเองมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอยู่

ที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมาไทยเคยมีบทเรียนในการเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาระดับโลกเพื่อใช้ประชาสัมพันธ์ประเทศและสร้างเศรษฐกิจมาแล้วหลายกรณี เช่น การจัดการแข่งขันเทนนิส พัทยาโอเพ่น ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักและมาท่องเที่ยวพัทยา รายการนี้เอกชนเป็นคนจัดมายาวนาน 24 ปี และต้องคืนสิทธิการเป็นเจ้าภาพไปเพราะขาดทุนต่อเนื่องมาตลอด 24 ปี

หรือการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเทนนิส เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ที่บริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ลงทุนควักกระเป๋าจัดแข่งขันมา 11 ปี ซึ่งก็มีเป้าหมายเดียวกันคือประชาสัมพันธ์ประเทศดึงนักท่องเที่ยว แต่ทนขาดทุนทุกปีไม่ไหวจึงต้องคืนสิทธิการเป็นเจ้าภาพไป

ทั้ง 2 กรณีเป็นเรื่องของเอกชน แต่กรณีการแข่งขันโมโตจีพีที่รัฐใช้ภาษีประชาชนไปอุดหนุนปีละ 100 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปี หากเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า เสียเปล่า คำถามคือ ใครจะรับผิดชอบกับภาษีประชาชนที่ถูกละลายทิ้งไปในครั้งนี้

ไม่รู้ว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ขยันตรวจสอบความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐจะสนใจตรวจสอบการใช้งบประมาณก้อนนี้หรือไม่


You must be logged in to post a comment Login