วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

ย้อนการต่อสู้คนเสื้อแดง 2552 / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

On April 3, 2017

คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ศาลจังหวัดพัทยาได้อ่านคำพิพากษา “คดีอริสมันต์” กรณีประท้วงปิดโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2552 ตัดสินให้จำคุก 4 ปีโดยไม่รอลงอาญา และปรับ 200 บาท จำเลยมี 13 คน ได้แก่ นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง นายนิสิต สินธุไพร นายพายัพ ปั้นเกตุ นายวรชัย เหมะ นายวันชนะ เกิดดี นายพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง นายศักดา นพสิทธิ์ พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ นายนพพร นามเชียงใต้ นายสำเริง ประจำเรือ นายสมยศ พรหมมา นพ.วัลลภ ยังตรง และนายสิงห์ทอง บัวชุม โดยยกฟ้องนายธงชัย ศักดิ์มังกร และ พ.ต.อ.สมพล รัฐบาล ซึ่งพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ทำให้จำเลยต้องรับโทษทันที โอกาสยื่นฎีกาคดีนี้มีน้อยมาก

คำตัดสินครั้งนี้ถูกวิจารณ์เรื่องสองมาตรฐานตลอดมา เพราะฝ่ายพันธมิตรเสื้อเหลืองที่มีคดียึดทำเนียบรัฐบาลและปิดสนามบินซึ่งเกิดขึ้นก่อนคดีอริสมันต์ ยังมิได้มีการนำมาพิจารณาคดีในศาลเลย และอีกบริบทของเหตุการณ์ที่คนจำนวนมากอาจนึกไม่ออกว่ากรณีนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ของคนเสื้อแดงเมื่อ พ.ศ. 2552 หลังจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยอาศัยเสียงสนับสนุนจากพรรคขนาดเล็กและการเปลี่ยนข้างสนับสนุนของกลุ่มนายเนวิน ชิดชอบ พรรคพลังประชาชน

กลุ่มคนเสื้อแดงที่นำโดย นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) เห็นว่าไม่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย แต่กลับได้รับการสนับสนุนจากกองทัพและชนชั้นสูง จึงมีการเคลื่อนไหวคัดค้าน มีการชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวงตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2552 ผู้นำการชุมนุม เช่น นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายจักรภพ เพ็ญแข และ นพ.เหวง โตจิราการ เป็นต้น วันต่อมา นปช. เคลื่อนมาตั้งเวทีประท้วงยืดเยื้อที่ข้างทำเนียบรัฐบาล โดยแกนนำเสนอหลักการให้มีการปฏิวัติประชาธิปไตยโดยประชาชนด้วยสันติวิธี ซึ่งมีประชาชนคนเสื้อแดงร่วมชุมนุมจำนวนมาก โดยเฉพาะวันที่ 8 เมษายน ประมาณว่ามีผู้เข้าร่วมการชุมนุมมากถึง 300,000 คน ถือเป็นการชุมนุมที่มีคนเข้าร่วมมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย

ขบวนการ นปช. ได้ยื่น 3 ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลตอบใน 24 ชั่วโมงคือ 1.พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ซึ่งถูกมองว่าอยู่เบื้องหลังตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ ให้พิจารณาตัวเองจากตำแหน่งองคมนตรี 2.นายอภิสิทธิ์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 3.การบริหารราชการแผ่นดินต้องดำเนินไปตามครรลองระบอบประชาธิปไตยตามหลักสากล

เมื่อครบ 24 ชั่วโมงไม่ได้คำตอบ การชุมนุมได้ยกระดับ โดยกลุ่มแท็กซี่คนเสื้อแดงได้เคลื่อนขบวนไปปิดถนนประท้วงรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รัฐบาลจึงประกาศให้วันที่ 10 เมษายน เป็นวันเริ่มต้นหยุดยาวช่วงสงกรานต์ กลุ่มคนเสื้อแดงถูกโจมตีอย่างหนักจากสื่อกระแสหลักและกลุ่มเสื้อเหลืองว่าทำให้การจราจรติดขัดขณะที่ประชาชนกำลังกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ และถูกใส่ร้ายว่าปิดทางเข้าโรงพยาบาลราชวิถี ฝ่ายคนเสื้อแดงจึงยุติการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

วันที่ 10 เมษายน กลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งเดินทางไปโรงแรมรอยัล คลีฟ บีช รีสอร์ท พัทยา ขณะที่กำลังมีการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอาเซียน วันที่ 11 เมษายน กลุ่มคนเสื้อแดงนำโดยนายอริสมันต์และนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ นำมวลชนไปยื่นข้อเรียกร้องตัวแทนเลขาธิการสมาคมอาเซียนคัดค้านความชอบธรรมของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ แต่เกิดการปะทะกับกองกำลังจัดตั้งเสื้อน้ำเงิน นายอริสมันต์จึงนำคนเสื้อแดงบุกเข้าไปในโรงแรม โดยอธิบายว่าถูกคนเสื้อน้ำเงินยิงได้รับบาดเจ็บ ทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการหาตัวผู้กระทำผิดภายใน 1 ชั่วโมง

การเคลื่อนไหวของฝ่ายคนเสื้อแดงทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องประกาศยกเลิกการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน และถือโอกาสประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอันร้ายแรงในเขตพัทยาและชลบุรี ทำให้เกิดกระแสโจมตีความชอบธรรมของฝ่ายคนเสื้อแดงว่าทำลายภาพลักษณ์ของประเทศในสายตานานาชาติและโจมตีนายอริสมันต์เป็นเป้าหมายหลัก

วันที่ 12 เมษายน กลุ่มคนเสื้อแดงได้ข่าวว่านายอภิสิทธิ์จะออกรายการโทรทัศน์เพื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงไปขัดขวางและพยายามปิดกั้นรถยนต์ของนายอภิสิทธิ์ ทำให้เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ ในที่สุดรัฐบาลก็ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอันร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพฯและเมืองโดยรอบเพื่อควบคุมสถานการณ์

เช้าวันที่ 13 เมษายน เกิดความรุนแรงที่บริเวณแยกดินแดง เมื่อกำลังทหารและตำรวจบุกเข้ามาสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงและมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต กองทัพแถลงว่าแค่ยิงกระสุนจริงขึ้นฟ้า แต่องค์กรสิทธิมนุษยชนยืนยันว่ากองทัพยิงกระสุนจริงใส่ผู้ชุมนุม กรณีนี้ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตชัดเจน ขณะที่มีผู้นำรถแก๊สไปจอดที่แฟลตดินแดงโดยโจมตีว่าคนเสื้อแดงเตรียมก่อการร้าย กลุ่มคนเสื้อแดงตอบโต้โดยยึดรถโดยสารประจำทางขวางถนนหลายสาย จนเวลากลางคืนได้เกิดเหตุปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับชาวบ้านบริเวณตลาดนางเลิ้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย

วันที่ 14 เมษายน เวลา 10.00 น. แกนนำ นปช. โดยนายวีระประกาศยุติการชุมนุมเพื่อป้องกันการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นและเข้ามอบตัวต่อรัฐบาล ทำให้มีการโจมตีว่านายวีระ “หักดิบ” ประกาศยุติการชุมนุมโดยพลการ แกนนำ นปช. หลายคนแสดงความไม่พอใจ โดยเฉพาะนายจักรภพได้ลี้ภัยทางการเมืองไปต่างประเทศ

หลังจากเหตุการณ์ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความวุ่นวายที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท และนำมาสู่การดำเนินคดีกรณีการเคลื่อนไหว พ.ศ. 2552 ที่ถูกเรียกว่า “สงกรานต์เลือด” ซึ่งวันนี้แทบจะถูกลืมเลือนไปแล้ว เพราะในปี พ.ศ. 2553 มีการเคลื่อนไหวใหญ่ที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น การเคลื่อนไหว พ.ศ. 2552 จึงเหมือนการ “ซ้อม” ของกลุ่มคนเสื้อแดงและมีบทเรียนหลายเรื่อง เช่น ความพร้อมด้านจิตใจในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย วิธีการต่อสู้ที่ดูรุนแรง ไม่มีระบบ ไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน

อีกด้านหนึ่งก็ชี้ว่าชนชั้นปกครองไม่ได้สนใจเสียงของประชาชน และพร้อมจะใช้ทุกเหตุการณ์ใส่ร้ายป้ายสีเพื่อจะใช้ความรุนแรงในการปราบปราม ส่วนชนชั้นกลางจำนวนมากและสื่อกระแสหลักก็แสดงท่าทีต่อต้านประชาธิปไตยตามหลักสากลโดยการสนับสนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์และร่วมมือสร้างกระแสบิดเบือนภาพลักษณ์ของคนเสื้อแดง นี่เป็นจุดสำคัญที่นำมาสู่การสนับสนุนความชอบธรรมของการรัฐประหารในระยะต่อมา


You must be logged in to post a comment Login