วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567

แสตมป์หายาก / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On April 3, 2017

คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

กรมไปรษณีย์อเมริกาผลิตแสตมป์ที่ระลึกเพื่อร่วมเฉลิมฉลองความสำเร็จการบินเชิงพาณิชย์ครั้งแรกของโลกจำนวนกว่า 3 ล้านดวง แต่เกิดความผิดพลาดทางเทคนิคบางอย่างทำให้ต้องทำลายแสตมป์ทิ้งทั้งหมดหลังจากวางจำหน่ายไปได้เพียงแค่ 2 เดือน

วันที่ 18 กันยายน 1928 เรือเหาะกราฟ แซปปลิน ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อทำการทดสอบสมรรถภาพ หลังจากนั้นก็มีการนำเรือเหาะบินไปยังเมืองต่างๆในประเทศเยอรมันอีก 6 ครั้ง จนกระทั่งมั่นใจว่าสามารถพาผู้โดยสารเดินทางไปจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัย

เดือนตุลาคม 1928 กราฟ แซปปลิน ทดลองออกเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมุ่งหน้าสู่ประเทศอเมริกา และตามด้วยการทดสอบบินรอบโลกในเดือนสิงหาคม 1929

เรือเหาะกราฟ แซปปลิน วัดจากหัวจดหางมีลำตัวยาว 775 ฟุต หรือยาวพอๆกับความสูงของสะพานโกลเดนเกต มีลูกเรือ 36 คน เหลือที่ให้บรรทุกผู้โดยสารได้ 20 คน เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายในการนำเรือเหาะขึ้นบินตกประมาณ 4 ดอลลาร์ต่อไมล์ (ประมาณ 54 ดอลลาร์ในค่าเงินปัจจุบัน) ทำให้อัตราค่าโดยสารเรือเหาะแพงหูฉี่ เช่น การเดินทางจากเยอรมันไปอเมริกาเสียค่าโดยสาร 590 ดอลลาร์ (ค่าเงินปัจจุบันกว่า 10,000 ดอลลาร์)

แม้ค่าโดยสารเรือเหาะจะแพงมาก แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายการเดินทางแต่ละเที่ยว ดังนั้น บริษัทเจ้าของเรือเหาะจึงต้องหาวิธีสร้างรายได้ทางอื่นโดยไม่พึ่งการจำหน่ายตั๋วโดยสาร ซึ่งได้ข้อสรุปว่าจะผลิตแสตมป์พิเศษออกวางจำหน่าย จดหมายที่ติดแสตมป์พิเศษนี้เท่านั้นจะได้รับการจัดส่งไปยังจุดหมายปลายทางด้วยเรือเหาะ

แสตมป์พิเศษ

เดิมทีนั้นบริษัทเจ้าของเรือเหาะพยายามหารายได้จากการเก็บค่าชมเรือเหาะสำหรับผู้ที่ต้องการชมใกล้ๆ แต่ปรากฏว่าไม่มีใครยอมเสียเงินเพื่อชมใกล้ๆ ขอชมฟรีไกลๆดีกว่า บริษัทเจ้าของเรือเหาะจึงหันมาทดลองหารายได้จากการออกแสตมป์พิเศษ

การส่งไปรษณีย์ระหว่างประเทศในสมัยนั้นยังขนส่งกันทางเรือซึ่งกินเวลาหลายวันมาก การส่งจดหมายทางอากาศใช้เวลาน้อยกว่า หากประเทศใดที่อยู่ในเส้นทางบินของเรือเหาะต้องการส่งจดหมายทางอากาศจะต้องออกแสตมป์พิเศษ เพราะเรือเหาะจะรับขนส่งจดหมายที่ติดแสตมป์พิเศษเท่านั้น

ประเทศที่ผลิตแสตมป์พิเศษจะต้องจ่ายค่าบริการขนส่งจดหมายเป็นจำนวน 93 เปอร์เซ็นต์ของราคาที่ระบุไว้บนแสตมป์ ซึ่งหมายความว่าประเทศที่ผลิตแสตมป์พิเศษจะมีรายได้เพียงแค่ 7 เปอร์เซ็นต์ของราคาที่ระบุไว้บนแสตมป์

ประเทศที่เห็นดีเห็นงามผลิตแสตมป์พิเศษประกอบด้วย บราซิล โบลิเวีย สเปน และเยอรมัน หลังจากที่เรือเหาะมีตารางบินประจำมายังอเมริกาก็มีการสุมหัวระดมความคิดหาวิธีทำรายได้เข้าประเทศเป็นกอบเป็นกำจากการออกแสตมป์พิเศษร่วมกับเยอรมัน

แสตมป์ 3 สี

อเมริกาลงมติยอมจ่าย 93 เปอร์เซ็นต์จากมูลค่าที่ตราไว้บนแสตมป์พิเศษให้กับบริษัทเจ้าของเรือเหาะตามที่เรียกร้อง และทำการผลิตแสตมป์พิเศษออกมา 3 แบบ 3 ราคา

แสตมป์แบบแรกสีเขียว ราคา 65 เซ็นต์ เป็นภาพเรือเหาะกราฟ แซปปลิน ลอยเหนือท้องทะเลหันหัวไปทางขวา แสตมป์ราคานี้ใช้ติดบนโปสการ์ดส่งจากอเมริกาไปยังสเปน หรือบราซิล หรือเยอรมัน ประเทศใดประเทศหนึ่ง

แสตมป์แบบที่ 2 สีน้ำตาล ราคา 1.30 ดอลลาร์ เป็นภาพเรือเหาะกราฟ แซปปลิน หันหัวไปทางซ้าย ขอบแสตมป์ด้านซ้ายเป็นภาพทวีปอเมริกา ขอบแสตมป์ด้านขวาเป็นภาพทวีปยุโรป แสตมป์ราคานี้ใช้ติดบนซองจดหมายส่งจากอเมริกาไปยังประเทศปลายทางในยุโรปประเทศใดประเทศหนึ่งบนเส้นทางบินของเรือเหาะ

แสตมป์แบบสุดท้ายสีน้ำเงิน ราคา 2.60 ดอลลาร์ เป็นภาพเรือเหาะกราฟ แซปปลิน หันหัวไปทางซ้ายลอยท่ามกลางหมู่เมฆ เบื้องหลังเป็นภาพลูกโลก แสตมป์ราคานี้ใช้ติดบนซองจดหมายไปประทับตราไปรษณีย์ว่าได้เดินทางรอบโลกก่อนจะวกกลับมาส่งคืนให้กับผู้ส่งจดหมาย ประมาณว่าเป็นการส่งจดหมายไปเที่ยวรอบโลกแล้วเอามาเก็บเป็นที่ระลึก

แสตมป์สะสม

กรมไปรษณีย์อเมริกาให้เหตุผลว่า ผลิตแสตมป์พิเศษชุดนี้ออกมาเพื่อเป็นการแสดงความยินดีกับชาวเยอรมันที่สามารถทำการขนส่งทางอากาศได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก แสตมป์ชุดนี้จึงเป็นแสตมป์พิเศษที่พิมพ์จำหน่ายเพียงครั้งเดียว ควรค่าแก่การสะสมเป็นอย่างยิ่ง

อย่างที่บอกเอาไว้ว่าบริษัทเจ้าของเรือเหาะเก็บเงินค่าธรรมเนียมใช้บริการไปรษณีย์ทางอากาศ 93 เปอร์เซ็นต์จากราคาที่ระบุไว้บนแสตมป์ ประเทศที่พิมพ์แสตมป์พิเศษจะได้เงินเพียง 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้เองกรมไปรษณีย์อเมริกาจึงพิมพ์แสตมป์พิเศษออกวางจำหน่ายแบบละกว่า 1 ล้านดวง 3 แบบก็ 3 ล้านกว่าดวง โดยหวังว่ากลุ่มนักสะสมจะกว้านซื้อแสตมป์พิเศษส่วนใหญ่ไปเก็บ ซึ่งเท่ากับว่ากรมไปรษณีย์อเมริกาจะได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะแสตมป์ไม่ได้ถูกใช้ก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับบริษัทเจ้าของเรือเหาะ

แสตมป์พิเศษวางจำหน่ายเมื่อวันที่ 19 เมษายน 1930 แต่เหตุการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาด หลังจากวางจำหน่ายไปเกือบ 2 เดือน แสตมป์ 65 เซ็นต์ถูกขายไปเพียงแค่ 20,000 ดวง แสตมป์ 1.30 ดอลลาร์ถูกขายไป 30,000 ดวง และแสตมป์ 2.60 ดอลลาร์ถูกขายไป 5,000 ดวงเท่านั้น

ช่วงเวลานั้นอเมริกาเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง การสะสมแสตมป์ 3 แบบ มีมูลค่ารวม 4.55 ดอลลาร์ แพงกว่าราคาขนมปัง 1 แถวถึง 50 เท่าตัว มีคนเพียงหยิบมือเท่านั้นที่มีปัญญาซื้อของสะสม ขณะที่คนอีกค่อนประเทศแทบจะอดตาย

กรมไปรษณีย์อเมริกาคงมองเห็นว่าหากนักสะสมไม่สนใจก็คงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะจำหน่ายแสตมป์พิเศษเพื่อใช้ส่งจดหมายทางอากาศแล้วถูกหักค่าธรรมเนียมไปถึง 93 เปอร์เซ็นต์

วันที่ 30 มิถุนายน 1930 กรมไปรษณีย์อเมริกาตัดสินใจทำลายแสตมป์พิเศษที่เหลือเกือบ 3 ล้านดวงทิ้งทั้งหมด ท่ามกลางเสียงก่นด่าจากบรรดานักสะสมที่หาเงินมาซื้อไม่ทัน ปัจจุบันแสตมป์พิเศษชุดกราฟ แซปปลิน จึงกลายเป็นของหายาก มีมูลค่าราว 1,000 ดอลลาร์ต่อดวง ทั้งๆที่จริงๆแล้วในตอนแรกถูกพิมพ์ออกมามากกว่า 3 ล้านดวง


You must be logged in to post a comment Login