วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

ความจริงกับอำนาจ? / โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

On March 27, 2017

คอลัมน์ : ทรรศนะแสงสว่าง
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่าเขาคือ “ช่างซ่อมประชาธิปไตย” ฝ่ายประชาธิปไตยอาจจะขำๆกับคำพูดทำนองนี้ เพราะไม่ว่าวาทกรรม “ประชาธิปไตย 99.99 %” ไม่ว่าวาทกรรม “ทุกคนต้องอยู่ใต้กฎหมาย เสมอภาคตามกฎหมาย” กระทั่งคำแนะนำให้คนไทยมี “หิริโอตตัปปะ” ล้วนไม่สอดคล้องกับสภาวะความเป็นจริงที่เป็นมาและเป็นอยู่

นั่นคือความเป็นมาของรัฐบาล คสช. ที่มาจากรัฐประหารแล้วจะมาเป็น “ช่างซ่อมประชาธิปไตย” ได้อย่างไร และเมื่อการทำรัฐประหาร การสลายการชุมนุมที่มีประชาชนเสียชีวิตร่วม 100 คน เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่ไม่มีใครเคยรับผิด แล้วจะบอกว่าทุกคนอยู่ใต้กฎหมายได้อย่างไร มิพักต้องเอ่ยถึงว่าใครกันแน่ที่ควรจะมีหิริโอตตัปปะ?

สังคมไทยยุคนี้อะไรคือความจริงไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับว่าใครหรือคนกลุ่มไหนมี “อำนาจสถาปนาความจริง” ฉะนั้นความจริงจึงไม่เคยดำรงอยู่โดยปราศจากอำนาจสถาปนาความจริง

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ในบทความ “วัตรวิถีนอกรัฐ” ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ พูดถึงการสถาปนา “ความจริงนอกรัฐ” ช่วงแรกๆชนชั้นนำเป็นฝ่ายสถาปนาความจริงนอกรัฐคือ นำเข้าความจริงจากตะวันตก เช่น ความจริงทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การจัดการองค์กรสมัยใหม่ เป็นต้น ความจริงใดๆที่นำเข้ามาจะต้องไม่ขัดแย้งกับ “ความจริงของรัฐ” คือความจริงของ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ซึ่งเป็นความจริงสูงสุดที่ไม่อาจนำความจริงอื่นใดมาตั้งคำถามและตรวจสอบได้

ใครที่สถาปนา “ความจริงทางศาสนานอกรัฐ” คือความเชื่อแนวปฏิบัติทางศาสนาที่อยู่นอกเหนือจากความเชื่อ แนวปฏิบัติที่รัฐรับรองอย่างเป็นทางการ ผ่านระบบการศึกษาและอำนาจนิยามคณะสงฆ์ของรัฐ ความจริงทางศาสนาเช่นนั้นย่อมถือเป็น “ภัย” ต่อความมั่นคงของรัฐ

ฉะนั้นไม่ว่าครูบาศรีวิชัยที่แม้จะเป็นพระอุปัชฌาย์ถูกต้องตามธรรมวินัย แต่ไม่มีตราตั้งพระอุปัชฌาย์ที่ออกโดยมหาเถรสมาคม ไม่ว่าพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ที่เทศนาวิจารณ์การนำทหารร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 เรื่อยมาถึงกบฏผีบุญ พระพิมลธรรม และวัดพระธรรมกาย ล้วนแต่สร้างความจริงทางศาสนานอกรัฐ หรือสร้างแนวคำสอน แนวปฏิบัติ และการเผยแผ่ที่นอกกรอบของคณะสงฆ์กระแสหลัก ก็ย่อมถูกระแวงจากผู้มีอำนาจรัฐและนำมาสู่การปราบปรามหรือจับกุมคุมขังในที่สุด

สำหรับความจริงที่สถาปนาขึ้นโดยชนชั้นปกครองและพระสงฆ์ที่ประกาศความจงรักภักดีต่ออุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ย่อมเป็นความจริงที่ยอมรับได้เสมอ จึงไม่แปลกที่หัวหน้าคณะรัฐประหารจะกลายเป็น “ช่างซ่อมประชาธิปไตย” ส่วนนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งกลายเป็น “ฝ่ายทำลายประชาธิปไตย” จึงไม่แปลกที่กิตติวุฑโฒ เจ้าของวาทกรรม “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” และพระพุทธะอิสระจะเป็น “พุทธแท้” ขณะที่วัดพระธรรมกายเป็น “พุทธเทียม” ที่เป็นภัยความมั่นคง

ความจริงที่สังคมยอมรับจึงไม่ได้ถูกยอมรับเพราะมีเหตุผลในตัวมันเองที่ควรยอมรับ แต่เพราะอำนาจที่สถาปนาความจริงทำให้สังคมยอมรับ ถ้าใครไม่ยอมรับหรือคัดค้านโต้แย้งก็ย่อมมีอันเป็นไป

แน่นอนความจริงของ “ฝ่ายประชาธิปไตย” ย่อมจะฟังดูมีเหตุผล ไม่ว่าเรื่องเรียกร้องการเลือกตั้ง สิทธิและเสรีภาพทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ความยุติธรรมบนหลักนิติรัฐและอื่นๆ แต่อำนาจสถาปนาความจริงของฝ่ายประชาธิปไตยไม่ได้มีพลังเทียบเท่ากับอำนาจสถาปนาความจริงของอีกฝ่าย

ฉะนั้นความจริงของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนจะเกิดขึ้นและเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ในสังคมได้ก็ต่อเมื่อมีอำนาจที่เข้มแข็งในการสถาปนาความจริงดังกล่าวให้ลงหลักปักฐานในสังคมไทย

เพราะความจริงทุกอย่างในโลกนี้ย่อมอาศัยอำนาจสถาปนาทั้งนั้น ความจริงทางศาสนาที่อยู่กับสังคมมนุษย์มาหลายพันปียิ่งอาศัยอำนาจอย่างซับซ้อน เช่น อำนาจของพระเจ้า อำนาจของพระศาสดาผู้ทรงคุณวิเศษ อำนาจบารมีของผู้นำทางศาสนา และที่ขาดไม่ได้คือ “อำนาจรัฐ” ทุกศาสนาล้วนอาศัยอำนาจรัฐมาหลายพันปี ศาสนาหลักๆจึงไม่อยากแยกจากรัฐ เพราะการผูกติดกับรัฐนอกจากทำให้รัฐส่งเสริมความจริง (ความเชื่อ) ทางศาสนาโดยการปลูกฝังแก่ประชาชนแล้ว สถาบันศาสนาและชนชั้นนำทางศาสนายังมีสถานะ อำนาจ อภิสิทธิ์ต่างๆอีกด้วย

ในโลกตะวันตกที่ศาสนาแยกจากรัฐได้ เพราะมีการสถาปนาความจริงชนิดใหม่ นั่นคือ ความจริงของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนขึ้นมาแทนที่ความจริงแบบศาสนา ขณะเดียวกันความจริงทางปรัชญา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจ และอื่นๆ ก็ถูกสถาปนาขึ้นภายใต้อำนาจรัฐที่เป็นเสรีประชาธิปไตย

สิ่งที่เราเห็นในสังคมไทยเวลานี้คือ “สภาวะอิหลักอิเหลื่อ” ของอำนาจสถาปนาความจริงทางการเมืองและทางศาสนาของรัฐไทย คือการพูดถึงสิ่งดีที่ตนเองไม่ได้เป็นและกล่าวหาคนอื่นให้เลวร้ายเกินกว่าที่พวกเขาเป็น

นั่นคือฝ่ายกุมอำนาจสถาปนาความจริงจะบอกว่ารัฐไทยเป็นเผด็จการก็ไม่กล้าบอก จึงต้องบอกว่าเป็นประชาธิปไตย 99.99% บ้าง เป็นช่างซ่อมประชาธิปไตยบ้าง ขณะที่บรรดาเครือข่ายสนับสนุนอำนาจรัฐก็บอกว่าพวกตนเป็นพุทธแท้ คนอื่นเป็นพุทธเทียม


You must be logged in to post a comment Login