วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

ทำอย่างไรเมื่อ‘ล้มละลาย’? / โดย Pegasus

On March 20, 2017

คอลัมน์ : เพื่อชาติประชาชน
ผู้เขียน : Pegasus

ล้มละลายมีอยู่ 2 ด้านคือ ล้มละลายทางการเงินกับล้มละลายทางความน่าเชื่อถือ ซึ่งปรกติจะมีความเกี่ยวข้องกัน ยกตัวอย่างเงินหมดตัว คนก็ไม่กล้าเข้าใกล้ เพราะกลัวจะถูกยืมเงินแล้วไม่จ่าย ซึ่งก็คือหมดความเชื่อถือนั่นเอง ดังนั้น จะเห็นได้ว่า 2 เรื่องนี้สัมพันธ์กันอยู่

อย่างไรก็ตาม บางครั้งก็อาจแยกจากกันได้ เช่น คนที่มีความร่ำรวยทางการเงินคงไม่คิดจะยืมเงินใคร แต่เป็นคนที่คดโกงหรือได้เงินจากการปล้นชิง ก็จะเป็นกรณีเดียวกันคือล้มละลายทางความน่าเชื่อถือ เมื่อไม่น่าเชื่อถือ ผู้คนก็ไม่อยากเข้าใกล้ ไม่ใช่เพราะกลัวถูกยืมเงิน แต่กลัวถูกปล้น

อีกด้านหนึ่ง คนที่ล้มละลายทางการเงิน ไม่มีแม้แต่จะกิน แต่เป็นคนซื่อสัตย์ เป็นคนจริงใจ ก็ยังเป็นคนที่น่าเชื่อถือ อาจได้รับความช่วยเหลือให้ยืมเงินก็ได้ เพราะเป็นคนดี ดังนั้น คนดีอาจล้มละลายทางการเงิน แต่ยังมีความน่าเชื่อถือ

ทีนี้ลองดูกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือ ล้มละลายทั้งทางการเงินและความน่าเชื่อถือ โดยเปรียบเทียบกับประเทศเวเนซุเอลาที่ทุกคนเห็นพ้องกันว่าล้มละลายทั้งด้านการเงินคือเงินเฟ้ออย่างมาก ประชาชนไม่มีเงินจะจับจ่ายใช้สอย เพราะนโยบายสังคมนิยมยึดกิจการของภาคเอกชนมาให้รัฐบริหารเองแบบรัฐวิสาหกิจ ซึ่งรู้ดีว่าต้องขาดทุนย่อยยับแน่นอน สุดท้ายก็ทำให้ประเทศขาดสภาพคล่อง เงินของรัฐบาลไม่มี อย่างนี้ถือเป็นการล้มละลายทางการเงิน ทั้งยังมีปัญหาการสืบทอดอำนาจจากผู้นำในอดีตสมัยที่ปกครองประเทศด้วยระบบราชการแบบรัฐวิสาหกิจและไม่ยอมลงจากอำนาจ เพราะกลัวสูญเสียผลประโยชน์ต่างๆ ขณะที่ประชาชนก็หมดความเชื่อถือแล้ว ต่างชาติก็ไม่เชื่อถือ รัฐบาลที่มีกำลังทหารในมือจึงยังใช้เป็นเครื่องมือกดขี่ประชาชนเพื่อรักษาอำนาจของคนไว้ได้

ประเทศที่ล้มละลายทั้งทางการเงินและความน่าเชื่อถือเช่นนี้ ผลที่ตามมาคือ ประชาชนทุกข์ยากลำบาก แม้แต่อาหารที่จะประทังชีวิตก็ยังแทบไม่มี ทั้งที่เคยเป็นประเทศที่ร่ำรวยมาก่อน เพราะเป็นสมาชิกกลุ่มโอเปก มีเงินทองมากมายมาจากน้ำมัน ซึ่งประเทศไม่ควรตกต่ำขนาดนี้ แต่เพราะการเมืองไร้สมรรถภาพและแนวทางเศรษฐกิจที่สวนทางกับทฤษฎีการพัฒนาประเทศแบบเสรี จึงส่งผลให้ประเทศหมดเนื้อหมดตัวในเวลาอันรวดเร็ว

แนวทางการแก้ปัญหาสำหรับประเทศที่ล้มละลายทั้งทางการเงินและความน่าเชื่อถือนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การเลือกระหว่างเงินและความน่าเชื่อถือ ซึ่งตามปรกติความน่าเชื่อถือมีความสำคัญมากที่สุด หากมีความน่าเชื่อถือแล้ว การลงทุนและการสนับสนุนด้านการเงินจากต่างประเทศก็จะกลับคืนมา

ขณะนี้เวเนซุเอลายังหาทางออกไม่ได้ เพราะกลุ่มอำนาจทางการเมืองเก่ายังไม่ยอมสละอำนาจและพยายามใช้กำลังทหารเพื่อสืบทอดอำนาจของตนต่อไป ซึ่งมองกันว่าหากเวเนซุเอลาต้องการหลุดพ้นจากสถานการณ์นี้ สิ่งแรกคือต้องเปลี่ยนขั้วทางการเมืองจากฝ่ายสังคมนิยมซ้ายจัดมาเป็นฝ่ายเป็นกลางที่สามารถพูดคุยกับประเทศที่มีฐานะทางการเงินมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มยุโรปหรือสหรัฐให้รู้เรื่องเสียก่อน นอกจากนั้นประเทศในอเมริกาใต้ก็ต้องให้การสนับสนุน

เมื่อเวเนซุเอลาได้ผู้นำคนใหม่แล้ว แนวทางเศรษฐกิจย่อมเปลี่ยนไปตามกลไกการตลาด ยกเลิกการผูกขาด และต้องยอมให้บริษัทต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการในประเทศ โดยอาจมีเงื่อนไขที่จะได้ประโยชน์สูงสุดกับประเทศ ออกกฎหมายต่อต้านการผูกขาดซึ่งจะมีผลให้กลุ่มอำนาจและผลประโยชน์เก่าต้องยอมวางอำนาจและปล่อยเงินออกมา ขณะเดียวกันก็ต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้บริษัทข้ามชาติควบคุมรัฐบาลและเศรษฐกิจของชาติด้วย

เมื่อการเมืองเป็นประชาธิปไตยและเศรษฐกิจเสรีปรับตัวแข่งขันกันแล้ว ต้องยกระดับสังคมที่มีความยากลำบากให้กลับฟื้นขึ้นมาทั้งความเป็นอยู่และสวัสดิการต่างๆ เพื่อให้มีกำลังใจลุกขึ้นมาร่วมกันสร้างชาติต่อไป

ปัญหาที่ต้องแก้ไขลำดับแรกจึงต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้กลับคืนมาให้เร็วที่สุดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งต้องรอจนกว่าชาวเวเนซุเอลาจะสามารถเปลี่ยนผู้นำประเทศที่มีทหารหนุนหลังอยู่ขณะนี้ให้ได้ก่อน เพื่อให้ได้ผู้นำใหม่ที่เคารพประชาชน เคารพระบอบประชาธิปไตย ความน่าเชื่อถือก็จะกลับคืนมา ทุกอย่างก็จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง


You must be logged in to post a comment Login