วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2567

เที่ยวก่อนตาย / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On March 13, 2017

คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

ผู้รักการเดินทางท่องเที่ยวมักได้ยินคำว่า “สถานที่ที่ควรไปก่อนตาย” ซึ่งมีความหมายว่าสถานที่นั้นมีความสวยงามน่าประทับใจ หากไม่ได้ไปชมถือว่าพลาดมากๆ แต่การเที่ยวแบบไม่ดูตาม้าตาเรือบางครั้งอาจต้องแลกด้วยชีวิต

ปี 1965 นิวคอมบ์ ม็อตต์ เซลส์แมนหนุ่มผู้รักการท่องเที่ยว เดินทางไปพักร้อนที่สแกนดิเนเวีย ด้วยวัยเพียง 27 ปี เขาท่องเที่ยวไปยังประเทศต่างๆแล้วเกือบ 20 ประเทศ รวมถึงเคยใช้ชีวิตช่วงสั้นๆระยะหนึ่งอยู่ในเม็กซิโก

นิวคอมบ์มาจากครอบครัวมีอันจะกิน จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยแอนติออก รัฐโอไฮโอ เขาผ่านงานมาแล้วหลายบริษัท ตั้งแต่พนักงานหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ผู้ช่วยห้องแถลงข่าวสภาผู้แทนราษฎร ครูโรงเรียนประถมต้น ก่อนจะมาจบที่ตำแหน่งพนักงานขายตำราเรียนระดับปริญญาตรี

การพักร้อนเป็นไปอย่างราบรื่นจนกระทั่งใกล้กำหนดเวลาเดินทางกลับอเมริกา นิวคอมบ์วางแผนจะนั่งรถประจำทางจากประเทศฟินแลนด์ไปยังนอร์เวย์ แต่พนักงานสายการบินที่เขาจองตั๋วเครื่องบินกลับอเมริกาแนะนำให้ไปเที่ยวเมืองเคิร์กเคเนส เมืองชายแดนนอร์เวย์ติดกับรัสเซีย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการท่องเที่ยวหายนะครั้งนี้

ขอไปเหยียบสักครั้ง

พอได้ยินคำว่ารัสเซียนิวคอมบ์ก็หูผึ่งขึ้นมาทันที เขาใฝ่ฝันมานานแล้วว่าจะไปเหยียบแผ่นดินรัสเซียสักครั้งในชีวิต แต่ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาของสงครามเย็นระหว่างอเมริกาและรัสเซีย การขอวีซ่าค่อนข้างยุ่งยาก

การเดินทางไปยังเมืองเคิร์กเคเนสที่อยู่ห่างจากชายแดนรัสเซียเพียงไม่กี่ไมล์ดูเหมือนจะเป็นคำตอบที่ดี นิวคอมบ์จับเครื่องบินเที่ยวแรกไปยังเมืองเคิร์กเคเนสโดยทันที

เคิร์กเคเนสเป็นเมืองเล็กๆในชนบท ไม่ค่อยมีอะไรให้ชมมากนักนอกจาก “ฟยอร์ด” หรืออ่าวที่ล้อมรอบด้วยหน้าผาสูงชัน แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่ต้องใช้เวลามากสักหน่อย

เหตุผลหลักที่เขาเดินทางมาเคิร์กเคเนสเพราะมันอยู่ใกล้ชายแดนรัสเซีย อีกฟากหนึ่งของเคิร์กเคเนสคือบอริสเกลบ เมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เมืองหนึ่งของรัสเซีย

ตลาดชายแดน

ด่านเคิร์กเคเนส-บอริสเกลบเป็นจุดผ่อนปรนที่ยอมให้คนรัสเซียและคนนอร์เวย์สามารถผ่านเข้า-ออกได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่า ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นคนนอร์เวย์ผ่านด่านไปซื้อสุราและยาสูบในฝั่งรัสเซียเพราะมีราคาถูกมาก นอกจากนี้ฝั่งรัสเซียยังมีสถานเริงรมย์หลายแห่งไว้คอยให้บริการ

การเดินทางข้ามพรมแดนโดยไม่ต้องใช้วีซ่าสงวนสิทธิ์ให้คนนอร์เวย์และรัสเซียเท่านั้น ส่วนคนสัญชาติอื่นไม่ได้รับสิทธินี้ ซึ่งนิวคอมบ์รู้ดี แต่เขาแค่หวังว่าอย่างน้อยขอให้ ตม.รัสเซียช่วยประทับตราลงในหนังสือเดินทางเพื่อจะนำไปโม้กับเพื่อนๆว่าเคยไปรัสเซียมาแล้ว

เช้าวันรุ่งขึ้นนิวคอมบ์ขึ้นรถประจำทางจากโรงแรมในเมืองเคิร์กเคเนสมุ่งหน้าไปที่ด่านชายแดน ปัญหาก็คือเขาพูดภาษานอร์เวย์ไม่ได้ และคนขับรถประจำทางก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้

นิวคอมบ์บอกกับคนขับรถประจำทางว่าจะเดินทางไปที่ด่านบอริสเกลบ คนขับรถจึงจอดรถกลางทางแล้วชี้ให้เขาเดินไปตามทางที่บอก แทนที่จริงๆแล้วต้องพานิวคอมบ์ไปที่ด่านชายแดนเพื่อยื่นคำร้องขอเดินทางผ่านแดน

สมใจปรารถนา

นิวคอมบ์ลงจากรถประจำทางเดินเท้าไปตามทางที่คนขับรถบอก ในที่สุดเขาก็มาโผล่ที่เมืองบอริสเกลบ ประเทศรัสเซียจริงๆ ซึ่งนั่นหมายความว่าเขาเดินข้ามชายแดนมาตามช่องโหว่ที่ไม่มีทหารตรวจ

วิหารบอริสเกลบสร้างขึ้นในสมัยศตวรรษที่ 17 เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของรัสเซีย ขอเพียงย่างเท้าเข้าวิหารนิวคอมบ์ก็สามารถคุยโม้โอ้อวดอย่างเต็มปากเต็มคำว่าได้มาเหยียบแผ่นดินรัสเซียแล้ว

แต่ยังไม่ทันได้ทำอะไร ทหารรัสเซียก็กรูกันเข้ามาห้อมล้อมขอดูหนังสือเดินทาง นิวคอมบ์ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องใหญ่โตอะไร เพราะเขาแค่เดินหลงเข้ามา พยายามอธิบายว่าเขาแค่เดินมาเรื่อยๆ ไม่ได้ตั้งใจจะหลบด่าน แต่จู่ๆก็มาโผล่ที่ฝั่งรัสเซีย

ทหารรัสเซียไม่เชื่อคำกล่าวอ้าง จับตัวนิวคอมบ์ไปสอบปากคำ คำถามแรกคือ “คุณเป็นสายลับซีไอเอหรือเปล่า?” คำอธิบายของนิวคอมบ์ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ เพราะดูเหมือนรัสเซียตั้งธงจับกุมตัวนิวคอมบ์เอาไว้แล้ว

แลกตัวนักโทษ

ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปีสายลับรัสเซีย อิกอร์ ไอวานอฟ ถูกรัฐบาลสหรัฐจับกุมตัวในข้อหาทำจารกรรม รัสเซียติดต่อขอแลกตัวนักโทษ ให้คำมั่นว่าจะปล่อยตัวนิวคอมบ์หากสหรัฐยอมปล่อยตัวอิกอร์

รัฐบาลสหรัฐไม่สนใจข้อเสนอ เพราะเกรงว่าหากยินยอมตามข้อเรียกร้อง ในอนาคตรัสเซียอาจลักพาตัวคนอเมริกันเพื่อใช้เป็นเครื่องมือต่อรองอีกก็ได้

ทางด้านรัสเซียไม่มีหลักฐานผูกมัดนิวคอมบ์ว่าเป็นสายลับ จึงได้แต่เพียงตั้งข้อหาลักลอบเข้าเมือง การพิจารณาคดีกินเวลา 2 เดือน นิวคอมบ์ถูกตัดสินว่ามีความผิด ต้องโทษใช้แรงงานในค่ายกักกันเป็นเวลา 18 เดือน

ระหว่างถูกจำขังขณะรอฟังคำพิพากษา นิวคอมบ์รู้สึกไม่ปลอดภัย เขาเขียนจดหมายขอความช่วยเหลือถึงกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ แต่ก็ไม่เกิดผลใดๆ

เดือนมกราคม 1966 นิวคอมบ์ถูกนำตัวขึ้นรถไฟเดินทางไปยังค่ายกักกันเพื่อรับโทษ ระหว่างการเดินทางไปยังค่ายกักกันนี้เอง นิวคอมบ์ก็เสียชีวิตจากบาดแผลถูกเชือดที่ลำคอในห้องน้ำบนรถไฟ

รัสเซียทำรายงานการเสียชีวิตว่านิวคอมบ์ฆ่าตัวตายด้วยการเชือดคอตัวเอง ศพของเขาถูกส่งกลับสหรัฐ ญาตินำศพไปให้เจ้าหน้าที่ชันสูตรอีกครั้ง นอกจากแผลถูกเชือดที่ลำคอแล้วยังพบบาดแผลถูกแทงด้วยของมีคมทั่วร่างกายกว่า 60 แห่ง

จากการชันสูตรของเจ้าหน้าที่อเมริกัน เป็นที่แน่ชัดว่านิวคอมบ์ไม่ได้ฆ่าตัวตาย แต่ใครจะเป็นมือสังหารและสาเหตุที่ต้องลงมือนั้นไม่มีใครรู้ นักวิเคราะห์บางคนให้ความเห็นว่า บางทีนิวคอมบ์อาจเห็นกิจกรรมลับๆทางการทหารบางอย่างบริเวณวิหารบอริสเกลบ เพราะมีข่าวลือว่าทหารรัสเซียใช้เป็นที่ติดต่อกับสายลับฝั่งนอร์เวย์ แต่ที่แน่ๆคือ นิวคอมบ์เสียชีวิตเพียงเพราะอยากเหยียบแผ่นดินรัสเซีย


You must be logged in to post a comment Login