วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

ไม่ต้องแบกศาสนา / โดย พระพยอม กัลยาโณ

On February 28, 2017

คอลัมน์ : สำนักข่าวพระพยอม
ผู้เขียน : พระพยอม กัลยาโณ

น่าสลดใจกรณี นายอนวัช ธนเจริญณัฐ อายุ 65 ปี ใช้เชือกผูกคอตัวเองเสียชีวิตคาเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์บริเวณตลาดกลางคลองหลวง ปทุมธานี เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 44 กับวัดพระธรรมกาย ภรรยาให้ข้อมูลว่านายอนวัชเป็นคนเครียดและต้องกินยาคลายเครียดมาหลายปีแล้ว และเคยมาทำบุญที่วัดพระธรรมกายเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เคยบวชเณรที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงเตือนไว้ว่า “จงอาศัยศาสนาเหมือนม่วงแพ ข้ามฝั่งไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องแบกแพ” หมายความว่า จะนับถือศาสนาก็ไม่จำเป็นต้องแบกศาสนาว่าเป็นของเรา เป็นของใคร ใครดีกว่า หรือต้องมาหนักหน่วงเจ็บปวดกับศาสนา เช่นที่บอกว่า ถ้าจะถอนหญ้าคาเอาไปทำหลังคามุงจากเพื่อช่วยทำให้เราร่มเย็น ไม่โดนแดดโดนฝน ไม่ว่าจะเป็นหญ้าคาก็ดี ทางมะพร้าวก็ดี ต้นจากก็ดี สำคัญอยู่ที่ว่าเมื่อถอน กำดีมั้ย จับดีมั้ย ถ้าจับไม่ดี กำไม่ถูกวิธี หญ้าคาก็บาดมือได้

เหมือนคนนับถือศาสนาก็ทำให้เจ็บปวดถึงขั้นบาดเจ็บล้มตาย เช่น เอาศาสนามาเป็นสงคราม ยึดถือศาสนาจนทำลายชีวิตตัวเองก็มี นี่คือการหลงผิด ติดยึด วัดพระธรรมกายจะปฏิเสธอย่างไรก็แล้วแต่ กรณีนายอนวัชเคยทำบุญที่วัดมาก่อน เลยทำให้มาปลิดชีวิตเพราะความเครียดเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย ซึ่งท่านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็บอกว่าเสียใจ แต่จะให้ใครมารับผิดชอบคงยาก เพราะเป็นเรื่องการยึดถือ นับถือที่ทำให้เจ็บปวดถึงตาย

ดังนั้น การที่พระพุทธเจ้าเปรียบว่า ของอะไรในโลกนี้มีทั้งดีและไม่ดี ถ้าดีก็ศึกษาเรียนรู้ดี มีแต่สุข เหมือนคนได้หลังคากันแดดกันฝน ย่อมอยู่สบายและเป็นสุข ถ้านับถือศาสนาไม่ถูกวิธี ชีวิตก็เกิดทุกข์ได้ เพราะฉะนั้นการนับถือศาสนาอย่างถูกต้อง ควรเรียนรู้ศึกษาให้ดี ถูกต้อง เหมาะสม ดีงาม จะได้ไม่ต้องเจ็บ ไม่ต้องล้ม ไม่ต้องตาย ไม่ต้องมาผูกคอตายอย่างที่เป็นข่าว เพราะศาสนาไม่ควรต้องทุกข์ถึงขั้นต้องทำลายชีวิต

ทำไมไม่รักษาชีวิตเพื่ออยู่รักษาธรรม สืบธรรมให้ดีงามไว้ ควรจะดำรงชีวิตที่ดีงามก่อนที่เราจะจากโลกนี้ไป ถ้าเราอ้างเพื่อศาสนา แต่จิตเศร้าหมองตลอดเวลาก็จะเป็นทุกข์ หาสุขได้ยาก แต่ถ้าเราเกี่ยวข้องกับศาสนาแบบมีปัญญา เราก็จะไม่ทุกข์ร้อน ไม่ถึงกับต้องฆ่าตัวตาย ศาสนาสอนให้เราพ้นทุกข์ ไม่ใช่ยุให้เราเป็นทุกข์

ดังนั้น ต้องรู้ว่าถ้าใช้ศาสนา เกี่ยวข้องกับศาสนา ต้องจับให้ถูกต้อง อย่าจับผิด จะได้ไม่เป็นทุกข์ ไม่เอาศาสนามาทุกข์ อย่างที่ปราชญ์ท่านหนึ่งคือ คุณเสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิตสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ประเภทปรัชญา บอกว่า อาจารย์ทิ้งกากที่ผิดทางไว้ แต่ลูกศิษย์ก็ไปกอดกากเป็นทุกข์ของศาสนาอย่างไม่ควรจะเป็นเลย

เจริญพร


You must be logged in to post a comment Login