วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

ปรองดองหรือรุนแรง? / โดย Pegasus

On February 27, 2017

คอลัมน์ : เพื่อชาติประชาชน
ผู้เขียน : Pegasus

ขณะที่ประกาศสร้างความปรองดอง สิ่งที่ได้รับจากรัฐคือความรุนแรง อาจทำให้เกิดความงุนงงว่าแล้วเราจะไปทางไหนกันแน่ หรือจะเร่งกำจัดฝ่ายตรงกันข้ามแล้วหาทางอภัยโทษให้กับกลุ่มตนเอง ในทำนองต่อยเพื่อนแล้วบอกว่าเราดีกันนะ อภัยหลังล้างคราบเลือดอย่างนั้นหรือ

อยู่ดีๆก็ประกาศใช้มาตรา 44 ให้นำกำลังเข้าควบคุมวัด หรือออกคำสั่งให้เร่งยึดทรัพย์โดยไม่ต้องรอการพิจารณาคดีตามกระบวนการยุติธรรม เป็นเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับความยุติธรรมซึ่งทุกคนเข้าใจ แม้จะอยู่ภายใต้เผด็จการทหาร แล้วจะเรียกร้องให้มีความปรองดองไปทำไมเมื่อจะใช้ความรุนแรงเป็นกระแสนำ
ความปรองดองคงไม่ได้หมายความเพียงการอยู่อย่างสงบเรียบร้อย แต่อย่างน้อยก็ต้องไม่มีการกระทำอะไรที่ใช้ความรุนแรง ไม่ใช้อำนาจนอกกฎหมายปรกติเช่นมาตรา 44 ซึ่งกฎหมายมาตรานี้ในสถานการณ์ปรกติถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

แม้การใช้มาตรา 44 เป็นการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ไม่ให้รับโทษ แต่ไม่ได้คุ้มครองถึงกรณีที่มีการกระทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่

ในเมื่อความปรองดองซึ่งเป็นการทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบเรียบร้อยกลับถูกปฏิเสธด้วยภาครัฐเองเช่นนี้ ความร่วมมือและการพูดคุยเพื่อจะให้เกิดความปรองดองก็คงเป็นแค่การออกข่าวรายวันไปเรื่อยๆเท่านั้น

ไม่ต่างจากกรณีความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เรียกร้องความปรองดองกันมาโดยตลอด แต่ภาครัฐโดยเฉพาะฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้มีความจริงใจที่จะทำให้เห็นว่าต้องการสร้างความปรองดองอะไรขึ้นมา นอกจากจะพยายามใช้โอกาสในการแสวงหาความได้เปรียบในการปราบปรามคู่ขัดแย้งที่เป็นผู้เห็นต่างเท่านั้น

ความปรองดองจึงยังไม่มีอะไรที่ชัดเจนว่าจะมีรูปร่างหรือวิธีการอย่างไร สิ่งที่ควรติดตามคือ สุดท้ายจะเป็นเพียงการหลอกลวงหรือซื้อเวลาไปเรื่อยๆเหมือนการเลื่อนโรดแม็พเพื่อสืบทอดอำนาจหรือไม่ หรือเพียงต้องการหลอกให้ฝ่ายที่ต้องการความปรองดองแสดงตัว เหมือนก่อนรัฐประหารที่เรียกให้ฝ่ายต่างๆไปประชุมแล้วดำเนินการยึดอำนาจตามแผนที่เตรียมการกันไว้นานแล้วโดยไม่ใส่ใจว่าประชุมอะไร

ความสงบเรียบร้อย ความสามัคคี การเลือกตั้ง ความเจริญทางเศรษฐกิจ และการค้าการลงทุนที่คาดหวังกันนั้น ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยถ้าภาครัฐยังมีการพูดและการกระทำที่สวนทางกันโดยอ้างเรื่องกฎหมายต่างๆ ทั้งที่ในทุกสถานการณ์ก็รับทราบกันดีว่ามีแต่กฎหมายจัดการฝ่ายเห็นต่าง เช่น มาตรา 44 ที่มีอำนาจสอบสวนข้างเดียว หรือกล่าวหาลอยๆเอาไว้ก่อนเพื่อผลทางการเมือง เหมือนกรณีสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ

ทั้งหมดล้วนเป็นการตอกย้ำถึงความไม่ยุติธรม โดยฝ่ายหนึ่งกระทำกับฝ่ายอื่นๆตลอดเวลา และเมื่อถึงจุดหนึ่งจะนำมาซึ่งความรุนแรงและความวุ่นวาย ก็จะนำมาซึ่งความพังพินาศของระบบต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ

แม้ว่ารัฐจะมีกำลังทหาร มีอาวุธในมือ แต่สิ่งแวดล้อมของโลกเปลี่ยนไปจากศตวรรษก่อนมากมาย แม้ในศตวรรษก่อนๆก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่าอำนาจรัฐและทหารก็ไม่อาจทนรับการลุกฮือของประชาชนได้ แม้แต่แม่ค้าขายหมูในประเทศฝรั่งเศสที่ทำให้เกิดการปฏิวัติ กรณีกรรมกรและนายทหารชั้นประทวนในรัสเซีย กรณีชาวนาในจีน กรณีนักบวชไร้แผ่นดินในอิหร่าน และคนขี้คุกในแอฟริกาใต้

เมื่อประชาชนทนไม่ได้และลุกขึ้นมาต่อสู้กับความไม่ยุติธรรมและการหลอกลวง โฆษณาชวนเชื่อและการใช้อาวุธปิดปากของผู้มีอำนาจ เมื่อนั้นก็จะเกิดกลียุค ซึ่งไม่มีใครต้องการให้เดินไปถึงจุดนั้น

ดังนั้น เมื่อจะสร้างความปรองดองก็ขอให้ปรองดองจริงๆ ต้องเลิกใช้ความรุนแรงกับประชาชน เลิกใช้กฎหมายบังคับข้างเดียวโดยไม่ฟังเสียงประชาชนแล้วอ้างว่าทำตามกฎหมาย เพราะเมื่อกฎหมายไม่ชอบธรรมก็คือเครื่องมือของความไม่ยุติธรรมนั่นเอง

การเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปโดยสันติหรือไม่จึงอยู่ที่ภาครัฐจะมัวเมาอำนาจมากน้อยแค่ไหน?


You must be logged in to post a comment Login