วันพฤหัสที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เศรษฐกิจไอโอ / โดย ลอย ลมบน

On February 21, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : ลอย ลมบน

ดราม่าเรื่องเงินคงคลังที่ลดฮวบลงไปอย่างมากนับตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 มาเร็วไปเร็วเหมือนพลุที่ถูกจุดสว่างวาบเดียวแล้วหายไป

ทั้งนี้ ได้ฟังหลายฝ่ายชี้แจงก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า ที่เงินคงคลังในปัจจุบันเหลือน้อยเพราะยังไม่ถึงวงรอบการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ เมื่อถึงวงรอบการจัดเก็บรายได้เงินคงคลังก็จะเพิ่มขึ้นเอง

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ติดใจเรื่องตัวเลข แต่ยังมีคำถามน่าสนใจว่า เงินคงคลังที่หายไปนั้นเอาไปใช้ทำอะไรบ้าง

อีกคำถามที่ต้องการคำตอบเหมือนกันคือ เงินกู้ที่รัฐบาลชุดนี้กู้มาจำนวนมากนั้นเอาไปใช้จ่ายอะไรบ้าง เพราะเท่าที่ฟังคำชี้แจงมีเพียงว่ากู้เอามาลงทุนเพื่ออนาคตประเทศ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดกับประชาชนว่าคือการลงทุนด้านใด และส่งผลดีอย่างไรต่ออนาคตของประเทศ

นอกจากเงินกู้จำนวนมากที่กู้มาก่อนหน้านี้แล้ว เร็วๆนี้รัฐบาลยังมีโครงการกู้เงินมาชดเชยขาดดุลงบประมาณช่วงกลางปีงบประมาณ 2560 เพิ่มอีก 190,000 ล้านบาท จากที่ตั้งงบประมาณขาดดุลทั้งปีที่ 360,000 ล้านบาท

เห็นว่ากู้มาเพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวรอบใหม่

รัฐบาลคาดหวังว่าเงินกู้ก้อนนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 3-4% โดยกระทรวงการคลังได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยล่าสุดไว้ว่าจะขยายตัวได้ 3.1-4.1% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.2%

การจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลเป็นเรื่องปรกติที่ทุกฝ่ายยอมรับ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย เพราะมีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ตั้งแต่รัฐบาลทหาร คสช. เข้ามาบริหารประเทศได้จัดทำงบประมาณแบบขาดดุลมาอย่างต่อเนื่อง รวมยอดแล้วกว่า 550,000 ล้านบาท แต่ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจของประเทศยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควรจะเป็น

แน่นอนว่าปัจจัยจากเศรษฐกิจภายนอกก็เป็นส่วนหนึ่ง เมื่อภาคการส่งออกยังไม่ฟื้นตัว และต้องเผชิญกับความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉพาะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ไม่แน่นอนตั้งแต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้าสินค้าจึงต้องบริหารความเสี่ยงนี้ให้ดี จะหวังพึ่งพา ธปท. ในการรักษาเสถียรภาพค่าเงินอย่างเดียวคงไม่ได้

นอกจากต้องบริหารความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ภาคธุรกิจยังต้องบริหารความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม มีกูรูด้านการเงินมองในแง่ดีว่าปีนี้จะมีเงินทุนจากต่างชาติเข้าไทยมากขึ้นหลังจากไม่กล้าเข้ามาลงทุนในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เพราะมองว่าท่ามกลางความผันผวนในสหรัฐ ยุโรป ไทยมีความได้เปรียบประเทศอื่น เนื่องจากมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง อ่อนไหวต่อปัจจัยข้างนอกน้อย และมีหนี้สาธารณะต่ำเพียง 43% ของจีดีพี ทำให้สามารถใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้

สรุปความได้เปรียบเดียวที่มีอยู่ในมือตอนนี้คือ ยังสามารถกู้เงินมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก เพราะหนี้สาธารณะยังไม่เกินเพดานที่กำหนดไว้

มุมมองด้านเศรษฐกิจซึ่งมาจากประเด็นเงินคงคลังลดฮวบ ยอดขาดดุลงบประมาณเพิ่มต่อเนื่องนั้นมีหลายมุมมอง

ในส่วนของภาครัฐแน่นอนว่าต้องมองในด้านบวก เช่นกรณีนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เชื่อว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2560 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2559

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 3.0-4.0 จากอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออก การลงทุนและใช้จ่ายของภาครัฐ และการบริโภคในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากความต้องการซื้อสินค้าและบริการของครัวเรือน สอดคล้องกับการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ และรายได้ของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้นจากปริมาณผลผลิตที่ขายได้และราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น

กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในภาพรวมปี 2560 ว่าจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 3.0-4.0 จากการลงทุนและการใช้จ่ายของภาครัฐที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท การส่งออกคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.5-3.5 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

อัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลงและราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นจากปีก่อนส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรของไทยปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในปี 2560 ที่คาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 1.5-2.0 ต่อปี โดยมีปัจจัยหลักมาจากราคาพลังงาน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อปัจจัยด้านค่าขนส่งสินค้า ต่อเนื่องมายังราคาสินค้าและบริการที่ประชาชนอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องเช่นกัน จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2.8 จากปี 2559 สามารถสร้างรายได้ให้ระบบเศรษฐกิจประมาณ 1.83 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 จากปีก่อน

ต่างจากมุมมองของผู้ที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทหาร คสช. อย่างนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลที่แล้ว ที่เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาปากท้องประชาชนให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจาก 2 ปีกว่าที่รัฐบาล คสช. บริหารประเทศ ถือว่าการบริหารงานด้านเศรษฐกิจล้มเหลว เนื่องจากมีแต่รายจ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ขณะที่การจัดเก็บรายได้เข้ารัฐไม่เข้าเป้า ส่วนโครงการประชารัฐนั้นก็ลอกเลียนแบบจากอดีตมาแทบทั้งสิ้น

“เราจะต้องช่วยกันประคับประคองเศรษฐกิจให้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง ไม่ควรโยนความรับผิดชอบไปให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาแก้ปัญหาอยู่ร่ำไป ถ้าไม่เชื่อรัฐบาล คสช. ไปสอบถามนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงดูก็แล้วกันว่า เครื่องยนต์ที่ใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยที่มีอยู่ 4 เครื่องนั้นดับไปแล้วกี่เครื่อง และเศรษฐกิจของไทยเข้าขั้นโคม่าแล้วหรือยัง หรือถูกเข็นเข้าไปอยู่ในห้องไอซียูแล้ว”

จะเห็นว่าการให้ข้อมูลข่าวสารด้านเศรษฐกิจจากภาครัฐนั้นชี้ว่ามีทิศทางที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง จนถูกมองว่าเป็นเพียงการปฏิบัติการทางข่าวสาร หรือที่เรียกว่าการทำไอโอ (Information Operation) ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่ารัฐบาลประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ เพราะพูดจนประชาชนบางส่วนเชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศไม่มีปัญหา และมีแนวโน้มที่สดใสรออยู่ในอนาคตอันใกล้

อย่างไรก็ตาม มุมมองของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายที่ถูกมองว่าตรงข้ามกับรัฐบาลหรือจะสู้ความรู้สึกที่แท้จริงของประชาชน เพราะประชาชนสามารถสัมผัสได้ด้วยตัวเองว่าสภาพเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันเป็นอย่างไร

แม้ที่ผ่านมาการทำไอโอของฝ่ายรัฐจะมีประสิทธิภาพ แต่ความจริงก็คือความจริง ความหลงเชื่อตามการทำไอโอจะเกิดขึ้นได้เพียงชั่วคราว เมื่อความจริงที่สัมผัสได้กับตัวเองกับข่าวสารที่ได้รับจากการปฏิบัติการไอโอของฝ่ายรัฐแตกต่างกัน

ที่โหมประโคมกันว่าไทยกำลังเข้าสู่เศรษฐกิจยุค 4.0 มีแนวโน้มเป็นไปอย่างนั้นจริงๆ หรือเป็นแค่เศรษฐกิจไอโอ


You must be logged in to post a comment Login