วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

รัฐศีลธรรมสากลล้มเหลว / โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

On February 13, 2017

คอลัมน์ : ทรรศนะแสงสว่าง
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์

ในความหมายอย่างกว้าง ศีลธรรมเป็นเรื่องของความถูกผิด ฉะนั้นศีลธรรมจึงเกี่ยวข้องกับแทบทุกเรื่องที่สามารถตั้งคำถามได้ว่าถูกหรือผิด ควรทำหรือไม่ควรทำ

แม้ในการค้นคว้าทดลองทางวิทยาศาสตร์ซึ่งดูเหมือนจะเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง (facts) มากกว่าคุณค่า (values) ก็ยังมีคำถามว่า การค้นคว้าทดลองบางเรื่องถูกหรือผิด ควรทำหรือไม่ควรทำ หรือการค้นคว้าทดลองทางวิทยาศาสตร์ปราศจากอำนาจที่มีอคติหรือความต้องการผลประโยชน์ทางการเมืองและทางอื่นๆอยู่เบื้องหลังหรือไม่

อำนาจ ความต้องการ และผลประโยชน์ที่อยู่เบื้องหลังจะถูกหรือผิดอย่างไร จะส่งผลกระทบด้านดีหรือร้ายอย่างไรต่อสังคมมนุษย์ เป็นต้น ซึ่งสะท้อนว่าวิทยาศาสตร์ไม่ได้เป็นอิสระจากคุณค่าหรือศีลธรรมอย่างสิ้นเชิง

การเมืองยิ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเรื่องถูกผิด การเมืองจึงไม่อาจเป็นอิสระจากศีลธรรม จริงอยู่การเมืองอาจเน้นความถูกผิดตามกฎหมาย แต่ลำพังการทำถูกกฎหมายก็ไม่เพียงพอในตัวมันเอง ยกตัวอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ชนะเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก ทำให้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ทรัมป์ก็ถูกตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ และประท้วงจากจุดยืนในคุณค่าอื่นๆ เช่น หลักสิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี อุดมคติไม่เหยียดเพศ ผิว ขันติธรรมทางศาสนา และค่านิยมแบบอเมริกัน เป็นต้น

เมื่อการเมืองไม่อาจเป็นอิสระจากคุณค่า และคุณค่าเกี่ยวกับเรื่องถูกผิดเป็นเรื่องทางศีลธรรม การเมืองจึงไม่อาจเป็นอิสระจากศีลธรรม แน่นอน รัฐยิ่งไม่สามารถจะเป็นอิสระจากศีลธรรมได้เลย เพราะระบบการปกครองของรัฐย่อมขึ้นอยู่กับอุดมคติทางการเมืองการปกครอง ซึ่งเป็นระบบคุณค่าหรือระบบศีลธรรมทางสังคมแบบใดแบบหนึ่งเสมอ

แต่ระบบการปกครองและกฎหมายของรัฐสมัยใหม่ที่ก้าวหน้าย่อมวางอยู่บนพื้นฐานคุณค่าทางศีลธรรมที่เป็นสากล รัฐมีหน้าที่สร้างและส่งเสริมคุณค่าสากลดังกล่าวให้เป็น “ค่านิยมหลัก” ของสังคมหรือเป็นอุดมการณ์ทางสังคม

คุณค่าทางศีลธรรมที่เป็นสากลของรัฐสมัยใหม่ที่ก้าวหน้าเป็นอย่างไร เราอาจเข้าใจได้จากทฤษฎีพัฒนาการทางศีลธรรมของลอเรนซ์ โคลเบิร์ก (Lawrence Kohlberg) ที่แบ่งพัฒนาการทางศีลธรรมออกเป็น 3 ระดับ แต่ละระดับมี 2 ขั้นตอนคือ

1.ระดับก่อนกฎเกณฑ์ทางสังคม คนที่มีศีลธรรมระดับนี้ ขั้นแรกไม่ทำผิด เพราะกลัวจะถูกลงโทษ ขั้นที่สองจะทำถูก เพราะต้องการผลตอบแทนส่วนตัว

2.ระดับกฎเกณฑ์ทางสังคม คนที่มีศีลธรรมระดับนี้ ขั้นแรกจะไม่ทำผิด เพราะกลัวสังคมไม่ยอมรับ หรือถูกปฏิเสธจากสังคม ขั้นที่สองจะทำถูก เพราะต้องการเป็นที่ยอมรับของสังคม ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

จะเห็นว่าศีลธรรมที่สอนกันในครอบครัว สถานศึกษา ศาสนา ประเพณีวัฒนธรรมในบ้านเราจะเน้นศีลธรรม 2 ระดับนี้มากเป็นพิเศษ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมศาสนาหรือสังคมที่เน้น “ศีลธรรมแบบศาสนา” หรือใช้ฐานคิดในเรื่องถูกผิดแบบศาสนาเป็นโลกทัศน์หลัก

คำสอนทางศาสนาก็จะมีทั้งเรื่องการลงโทษ (เอานรกมาขู่) เพื่อให้คนกลัวการทำชั่ว และการให้รางวัล (เอาสวรรค์มาล่อ) ให้คนอยากทำความดี ปรัชญาในการเว้นชั่ว-ทำดีจึงเป็นเรื่อง “ส่วนตัว” คือไม่ทำชั่วเพราะกลัวว่าตัวเองจะตกนรก ทำดีเพราะต้องการให้ตัวเองได้ดีหรือได้ผลตอบแทนที่ดี เช่น ขึ้นสวรรค์ เป็นต้น

ขณะเดียวกันศาสนาก็มีมิติทางสังคม เพราะศาสนาเป็นรากฐานของประเพณีวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงคนในศาสนาเดียวกันให้เป็น “พวกเดียวกัน” ฉะนั้นศีลธรรมแบบศาสนาจึงอยู่ในระดับที่ 2 ที่ช่วยให้คนไม่ทำชั่ว เพราะกลัวสังคมที่นับถือศาสนาหรือมีประเพณีวัฒนธรรมแบบเดียวกันปฏิเสธ และช่วยให้คนทำดี เพราะต้องการให้สังคมที่นับถือศาสนาหรือมีประเพณีวัฒนธรรมแบบเดียวกันยอมรับ

3.ระดับพ้นกฎเกณฑ์เฉพาะทางสังคม หมายถึงศีลธรรมที่พ้นหรืออยู่เหนือกฎเกณฑ์เฉพาะทางสังคมและวัฒนธรรมทางศาสนาหรือประเพณีหนึ่งๆ เป็น “ศีลธรรมสากล” คนที่มีศีลธรรมสากล ขั้นแรกจะไม่ทำผิดและทำถูก เพราะคำนึงถึงประโยชน์สุขส่วนรวมหรือประโยชน์สุขของมนุษยชาติ ขั้นที่สองจะไม่ทำผิดและทำถูก เพราะเคารพความเป็นมนุษย์ของตนเองและผู้อื่นเสมอภาคกัน

จะเห็นว่าหลักการที่คำนึงถึงประโยชน์สุขของมนุษยชาติและการเคารพความเป็นมนุษย์ของตนเองและผู้อื่นเสมอภาคกันเป็นหลักการที่พ้นไปจากความเชื่อเฉพาะทางศาสนา วัฒนธรรมประเพณี อคติทางเพศ ผิว ชาติพันธุ์ และอื่นๆ เป็นหลักการที่มองตนเองและผู้อื่นในฐานะเป็น “มนุษยชาติ” ศีลธรรมสากลดังกล่าวจะงอกงามได้ในสังคมที่มีประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนก้าวหน้าเท่านั้น

สังคมไทยเป็นสังคมที่เน้นศีลธรรมระดับที่ 1 และ 2 ขาดการเน้นศีลธรรมระดับที่ 3 เพราะศีลธรรมระดับ 1 และ 2 เป็นศีลธรรมที่เน้นการปลูกฝังให้พลเมืองกลัวอำนาจ เชื่อง เชื่อฟัง เลื่อมใส และจงรักภักดีต่อชนชั้นปกครอง ความเป็นส่วนรวม ประโยชน์ส่วนรวม ความสามัคคี ความสงบสุขของสังคมเช่นนี้ย่อมมีศูนย์กลางอยู่ที่ความเชื่อฟัง เลื่อมใส และจงรักภักดีต่อชนชั้นปกครอง

ฉะนั้นถ้าถามว่ารัฐไทยเป็นรัฐที่อยู่บนพื้นฐานคุณค่าของศีลธรรมแบบไหน ศีลธรรมอันดีของสังคมไทยเป็นศีลธรรมแบบไหน หรือคนไทยมีศีลธรรมแบบไหนกัน ก็ต้องบอกว่าเป็นศีลธรรมระดับ 1 และ 2 แต่ล้มเหลวในการสร้างศีลธรรมระดับที่ 3 ซึ่งเป็นศีลธรรมสากลอันเป็นรากฐานของวัฒนธรรมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน


You must be logged in to post a comment Login