วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2567

ปรองดองแบบไทยๆ ไม่เห็นหัวประชาชน

On February 2, 2017

เว็บไซต์ประชาไท สัมภาษณ์ ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงกระบวนการปรองดอง ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกของสิ่งที่เรียกว่า ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน สุดท้ายเราพบว่า สิ่งที่กำลังจะเกิดนี้ แท้ที่จริงอาจจะเรียกมันไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเป็น “การปรองดอง”

ตลอดช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และรุนแรงของสังคมไทยในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา หากนับตั้งแต่การเกิดขึ้นของม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อปี 2548 จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราได้ยินคำว่า “ปรองดอง”

หากยังคงจำกันได้ ภายหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสีย มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตจำนวนมาก จนมาถึงปัจจุบันภายใต้การเข้ายึดอำนาจทางการเมืองของ คสช. ซึ่งกินเวลามาเกือบ 3 ปี เราได้เห็นคณะทำงานในเรื่องการสร้างความปรองดองมากมายหลายชุด โดยแต่ละชุดต่างเกิดขึ้นในบริบทที่ไม่เหมือนกัน รวมทั้งมีรายละเอียดและข้อเสนอที่แตกต่างกันไป แต่พูดกันอย่างถึงที่สุดแล้วไม่มีรายงานเรื่องการสร้างความปรองดองชุดไหนที่ถูกนำมาใช้ในทางปฏิบัติและประสบความสำเร็จแม้แต่เพียงชุดเดียว และมากไปกว่านั้นสิ่งที่เราเรียกว่าการปรองดอง(+นิรโทษกรรม) กลับกลายเป็นหนึ่งในชนวนที่นำไปสู่การรัฐประหารเมื่อปี 2557

แน่นอนว่า การมีชนวนเพียงอย่างเดียวไม่น่าจะเป็นปัญหาลุกลามจนบานปลายมาสู่การยึดอำนาจรัฐประหาร หากว่าเมื่อ 3 ปีก่อนสังคมไทยเลือกเพียงแค่การตัดชนวนออก และปล่อยให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ใหม่ภายใต้กติกาที่เราเรียกมันว่า “ระบอบประชาธิปไตย” แทนที่จะโหมไฟใส่ชนวน ร่วมกันสร้างทางตัน จนนำไปสู่การรัฐประหารในที่สุด

อย่างไรก็ตามภายหลังการรัฐประหารได้มีความพยายามสร้างการปรองดองขึ้นมาอีกหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีครั้งใดที่ประสบความสำเร็จ เพราะส่วนหนึ่งคณะกรรมการที่ได้มีการตั้งขึ้นมาต่างก็ไม่ได้รับการยอมรับจากคู่ขัดแย้ง และไม่ได้มีผลงานที่ออกมาเป็นรูปธรรมชัดเจน

แต่ล่าสุดหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2560 เพื่อจัดตั้ง “คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง(ป.ย.ป.)” เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2560 เพื่อเดินหน้าทั้งเรื่องการปฏิรูป ยุทธศาสตร์ชาติ และการปรองดอง ท่ามกลางความสงสัยว่า การปรองดองครั้งนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และเหตุใดที่ คสช. จึงคิดว่าควรสร้างกระบวนการปรองดอง นัยทางการเมืองของการปรองดองครั้งนี้มีความหมายว่าอย่างไร ไปจนถึงคำถามที่ว่า กระบวนการที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้จะเรียกว่า การสร้างความปรองดองได้จริงหรือไม่

 

ประชาไท: หลายๆ ครั้งที่เราได้ยินเรื่องการปรองดอง รวมทั้งครั้งนี้ด้วย ช่วงเวลาที่ถูกหยิบยกมาว่าเป็นช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมืองรอบนี้มักจะไปเริ่มต้นที่ปี 2548 เป็นต้นมา การที่ย้อนกลับไปเริ่มต้นที่ปี 2548 กำลังบอกอะไรเราบ้าง

ประจักษ์: แสดงว่าเขาเริ่มนับตั้งแต่ช่วงที่เริ่มมีความขัดแย้งที่ลามไปสู่ระดับมวลชน ปี 2548 เองก็เป็นจุดเริ่มต้นของกรณีม็อบพันธมิตร ขบวนการแอนตี้ทักษิณ ซึ่งที่สุดแล้วนำไปสู่การรัฐประหารปี 2549 และจากม็อบพันธมิตรก็นำไปสู่การเกิดขึ้นของม็อบ นปช. นั่นคือความขัดแย้งสีเสื้อที่เรารู้จักกัน เขาก็เริ่มนับจากตรงนี้

จริงๆ ก็น่าสนใจ ถ้าเรามองในกรอบที่มันกว้างออกไป เวลาทั่วโลกเขาพูดถึงความปรองดองเขาหมายถึงอะไรกันแน่ และถ้าเรามองเห็นเรื่องนี้ แล้วกลับมามองประเทศก็อาจจะเห็นว่าการปรองดองที่มีการพูดถึงกันอยู่ในขณะนี้ เป็นการปรองดองแบบไทยๆ ซึ่งมันไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกับที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Reconciliation มันมีศัพท์คำหนึ่งที่ถูกเอามาพูดถึงมากขึ้นในช่วงหลังคือ ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน หรือ Transitional Justice การปรองดองเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้ มันเป็นโจทย์ของสังคมจำนวนหนึ่งว่า สังคมที่มันขัดแย้งกันรุนแรงจะสามารถกลับมาอยู่ร่วมกันได้อย่างไร เวลาเราพูดถึงความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เรากำลังพูดถึงสิ่งนี้ ซึ่งเป็นโจทย์ที่เกิดขึ้นในหลายสังคม

ในสังคมที่ขัดแย้งแตกแยกกันอย่างหนัก พูดง่ายๆ คือ รอยร้าวมันเยอะมาก ความบาดหมาง ความเกลียดชังมันเยอะมาก ซึมลึกมาก แต่ถึงวันหนึ่งคนในสังคมไม่ได้อยากอยู่ในสภาวะแบบนั้นแล้ว และรู้สึกว่าต้นทุนที่ต้องจ่ายมันเยอะเกินไป สังคมถึงทางตันและไปต่อไม่ได้ เช่นประเทศเป็นอัมพาต หรือเกิดสงครามกลางเมืองฆ่ากันจนถึงจุดที่เสียหายทั้งสองฝ่ายแล้วก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะชนะ นี่แหละเขาถึงจะเริ่มหันมาพูดเรื่องการปรองดอง มันต้องมีกระแสความต้องการของคนในสังคมด้วย ไม่ใช่แค่เป็นความต้องการของชนชั้นนำ

พอมาดูสังคมไทยตอนนี้ เลยรู้สึกแปลกเหมือนที่หลายคนตั้งคำถาม จริงๆ ถ้าเราพูดในทางการเมืองเหมือน คสช.เองก็อยู่ในสถานะที่ได้เปรียบทุกอย่าง เป็นผู้ชนะยึดกุมอำนาจหมดแล้วเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ประชามติก็ผ่าน รัฐธรรมนูญที่ออกแบบกติกาตามที่ตัวเองต้องการ โครงสร้างทางการเมืองใหม่ก็ได้ทั้งหมด กลุ่มต้านเองก็แทบไม่เหลือ พอมีใครออกมาคัดค้าน เขาก็จับกุมคุมขังดำเนินคดี พรรคการเมืองก็ดูจะสยบยอม แทบจะไม่เหลือพลังฝ่ายค้านอะไร สื่อเองก็ไม่ได้กล้าตรวจสอบ คสช. มากนัก ฉะนั้นในสภาวะแบบนี้จริงๆ ไม่มีผู้นำคนไหนในโลกที่จะมาริเริ่มกระบวนการปรองดองเอง เพราะการปรองดองมันจะเกิดขึ้นเมื่อทั้งสองฝ่ายประเมินแล้วรู้ว่า มันยืดเยื้อเกินไป และดูแล้วไม่มีใครแพ้ใครชนะ บาดเจ็บ สูญเสียทั้งสองฝ่าย เราไม่สามารถเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งได้ และอีกฝ่ายก็ไม่สามารเอาชนะเราได้ เขาเลยกลับมาสู่จุดที่มีความต้องการที่จะพูดคุยกันดีกว่า ถอยกันคนละก้าว ไม่มีใครได้หมดเสียหมด ต่างคนต่างกลืนเลือด เพื่อที่จะทำให้ประเทศไปต่อได้ เลิกรบราฆ่าฟันกัน แต่ถ้าคุณอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบทุกอย่าง ในโลกนี้มันไม่มีใครริเริ่มปรองดองหรอก คำถามที่ยังคงเป็นปริศนา การปรองดองที่อยู่ดีๆ โผล่ขึ้นมาในช่วงนี้โดย คสช. เป็นเจ้าภาพ มันมาจากไหน อย่างไร มีจุดประสงค์อะไรแอบแฝงหรือเปล่า

นั้นเป็นคำถามประการที่หนึ่ง ซึ่งคำตอบเองก็ยังไม่ชัดเจน เพราะมันเป็นการปรองดองที่ยังพูดกันในเรื่องนามธรรมมาก เรายังไม่เห็นแผนการว่าการปรองดองที่เขาพูดถึงคืออะไร แต่เท่าที่ฟังกลายเป็นว่าเขาเน้นไปที่การปรองดองแบบ Top-Down  ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะของชนชั้นนำ ซึ่งประหลาด และอาจจะเรียกว่าเป็นการปรองดองแบบไทยๆ เพราะหนึ่งเป็นการริเริ่มโดยผู้ชนะ ที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ สองคือ ที่เราพูดว่าในแง่ไทม์ไลน์เขาย้อนกลับไปที่ปี 2548 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง การที่ย้อนกลับไปตรงนั้นก็สะท้อนว่า วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองรอบนี้ เป็นวิกฤตที่ประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้อง ความขัดแย้งไม่ได้อยู่เพียงแค่ ทักษิณ และกลุ่มชนชั้นนำที่ไม่ชอบทักษิณ แต่มันกลายเป็นขบวนการมวลชนที่ต่อสู้กัน แต่พอเขามาพูดเรื่องปรองดองรอบนี้ กลายเป็นว่าไม่ค่อยมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประชาชนเท่าไหร่ ยังไม่เห็นว่าจะรวมประชาชนเข้ามาอยู่ในกระบวนการปรองดองอย่างไร เรายังไม่เห็นการปรองดองระหว่างประชาชนด้วยกัน ที่ขัดแย้งกัน ต่อสู้กัน มีอุดมการณ์ต่างกัน ว่าจะมีการปรองดองในส่วนนี้อย่างไร มีแต่เพียงการพูดถึงพรรคการเมือง แกนนำมวลชน ให้มาลงสัตยาบัน เซ็น MOU มันดูเป็นพิธีกรรมเท่านั้น

ทั้งหมดนี้มันก็ทำให้พิธีกรรมปรองดองของ คสช. หนึ่งเป็นการปรองดองที่ไม่เหมือนที่ไหนในโลก สองคือมันเป็นการปรองดองของชนชั้นนำที่ไม่เห็นวี่แววว่าจะนำไปสู่ความสงบได้อย่างไร ในเมื่อคุณไม่ได้รวมประชาชนเข้าไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง

ตัวอย่างการปรองดองที่ประสบความสำเร็จในประเทศอื่นๆ พวกเขามีปัจจัยอะไรที่ทำให้การปรองดองประสบความสำเร็จ และประเทศไปต่อได้

อันนี้เป็นประเด็นสำคัญ เพราะมันยิ่งทำให้เห็นว่าการปรองดองของไทยมันดูไม่มีทีท่าว่าจะสำเร็จ หรือเกิดมรรคผล เพราะถ้าเราดูประเทศอื่นๆ การปรองดองมันเกิดขึ้นเมื่อสังคมพร้อมจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย คือประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขขั้นพื้นฐาน เวลาเราพูดถึงความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เราหมายถึง การเปลี่ยนผ่านที่เปลี่ยนจากสังคมเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตย

ในทุกสังคมการปรองดองเกิดขึ้นในบริบทนั้น ตัวอย่างที่คนพูดถึงบ่อยครั้งคือ โมเดลของแอฟริกาใต้ ก็เป็นโมเดลหลักๆ ของการปรองดองที่ทุกคนจะต้องพูดถึง คนผิวขาว คนผิวดำ กลับมาอยู่ร่วมกันได้อย่างไร มันก็เกิดขึ้นเมื่อชนชั้นนำผิวขาวยอมที่จะสละอำนาจ และเปิดให้กระบวนการประชาธิปไตยมันเกิดขึ้น ปล่อยเนลสัน แมนเดลา ออกจากคุก ยอมให้มีการเลือกตั้งให้สิทธิกับคนผิวดำ คนมีอำนาจมากกว่ายอมที่จะถอย อันนี้แหละที่เรียกว่าปรองดอง

แอฟริกาใต้การปรองดองเกิดขึ้นในบริบทแบบนั้น หรือในชิลี อาร์เจนติน่า หรือที่อื่นๆ ก็ล้วนเกิดขึ้นในบริบทของการที่ประเทศกำลังจะเริ่มมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะถ้าเป็นบริบทที่อยู่ภายใต้เผด็จการโดยที่ยังไม่มีการปรับตัว หรือมีแนวโน้มที่จะสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง มันจะปรองดองกันได้อย่างไร ในเมื่ออีกฝ่ายยังไม่มีสิทธิอะไรทั้งสิ้น กระทั้งสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็น คุณนึกง่ายๆ เหมือนประเทศพม่าตอนที่ทหารคุมอำนาจอยู่ มันไม่มีสิ่งที่เราเรียกว่าปรองดองหรอก ไม่มีเหตุผลที่เขาจะปรองดอง หรือถ้ามันมีการปรองดอง แต่ไม่ได้เกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตย มันก็จะเป็นการปรองดองที่ไม่มีความหมายอะไร เราอาจจะเรียกมันว่า ปรองดองก็ได้ ใส่เครื่องหมายคำพูดไป แต่ขอให้เข้าใจว่ามันเป็นการปรองดองแบบไทยๆ หรือเป็นเพียงพิธีกรรมที่ไม่มีความหมาย เพราะว่าการปรองดองที่มีความหมายมันต้องผูกกับสองสิ่งคือ ความจริง กับความยุติธรรม

ก่อนที่จะกลับมาพูดถึงประเทศไทย ประเทศต่างๆ ที่อาจารย์ยกมาเป็นตัวอย่างเหล่านั้น ใครคือคนกลางในกระบวนการปรองดอง หรือกระบวนการจัดการความขัดแย้ง

ก็ต่างกันไปในแต่ละประเทศ ส่วนใหญ่ก็จะมีกรรมการอิสระขึ้นมา มีกรรมชุดหนึ่ง แอฟริกาใต้ก็มีแบบนั้น แล้วก็นำโดยคนที่เป็นที่ยอมรับจากทั้งสองฝ่าย ตอนนั้นก็คือ เดสมอนด์ ตูตู บางประเทศในละตินอเมริกาก็นำโดยคนที่ได้รับการยอมรับจากสังคม และไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงมากนัก ซึ่งในสังคมเหล่านั้นก็พอจะมีกวี นักเขียน นักวิชาการอาวุโส คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในประเทศเหล่านั้น

คำถามสำคัญของสังคมไทยก็คือ เรามีคนประเภทนี้หลงเหลืออยู่หรือไม่ คนที่เสนอชื่อออกมาแล้วคนทุกฝ่ายในสังคมจะยอมรับ ว่าอย่างน้อยๆ เขาไม่ได้เลือกข้างอย่างสุดโต่ง หรือเห็นว่าจะสามารถทำหน้าที่ได้อย่างซื่อสัตย์จริงใจ เป็นคำถามที่โยนทิ้งเอาไว้ แต่แน่นอนที่สุดทหารไม่ใช่คนที่จะมาทำหน้าที่ตรงนี้ได้ ถ้าเราดูจากโมเดลของประเทศอื่น เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลจะมาทำเอง ผู้ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายจะเข้ามาทำเองไม่ได้ แอฟริกาใต้ตอนนั้น เนลสัน แมนเดลา ก็ไม่ได้เป็นประธานเอง เพราะหากเป็นอย่างนั้นอีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่มีทางยอมรับ และก็ไม่ใช่ว่าอดีตผู้นำผิวขาวมาเป็นประธานเอง ฝ่ายคนผิวดำก็จะไม่ยอมรับอีกเหมือนกัน ฉะนั้นมันต้องเป็นคนที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ

ทีนี้ในสังคมไทย เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ทหารไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะเป็นคนกลางได้ เพราะทหารเองก็อยู่ในความขัดแย้ง และถ้าเราดูจากบทเรียนของต่างประเทศทหารจะมาทำหน้าที่เป็นคนกลางตรงนี้ไม่ได้

ตามประวัติการเมืองไทยที่ผ่านมาเราเคยมีช่วงเวลาที่จะเรียกว่า เกิดการปรองดองจริงๆ ไหม เช่นตามโมเดลที่ สปท. เสนอเรื่องกระบวนการปรองดอง โดยยกนโยบาย 66/23 ในสมัยพลเอกเปรม 66/23 เรียกว่าการปรองดองได้หรือไม่ หรือว่าช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภา ปี 2535 ซึ่งหลังจากนั้นก็มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ขึ้นมา ทั้งสองเหตุการณ์เหล่านี้ เราสามารถมองว่าเป็นการปรองดองได้หรือไม่

มันไม่ใช่นะ จริงๆ ไม่เข้าข่ายเลย หลังจากเหตุการณ์ปี 2535 มันไม่ได้มีการปรองดองอะไร เหตุการณ์มันคือทหารออกมาปราบประชาชนจนมีผู้เสียชีวิต แต่ที่สุดแล้วเหตุการณ์ครั้งนั้นทหารแพ้ สุดท้ายก็มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งที่ไต่สวนหาความจริง ซึ่งมีนักวิชาการ NGOs นายแพทย์เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ความจริงเหล่านั้นเมื่อทำเสร็จออกมาเป็นรายงานก็ถูกเซ็นเซอร์ด้วยไม่ได้เผยแพร่สู่สาธารณะ จากนั้นก็ไม่ได้มีกระบวนการอย่างอื่นที่จะสมานแผล เยียวยา หรือทำให้คู่ขัดแย้งต้องมาตกลงกันในการสร้างฉันทามติใหม่

สาเหตุที่ไม่มีกระบวนการอื่นๆ ตามมาส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่า เหตุการณ์นั้นจบลงที่ความพ่ายแพ้ของทหาร และก็ต้องกลับเข้ากรมกองไป กระบวนการแบบประชาธิปไตยก็เกิดขึ้นมาหลังจากนั้น และโจทย์ตอนนั้นเขามุ่งไปที่การปฏิรูปการเมือง โจทย์ไม่ได้มุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งปี 2535 ที่ผ่านมาอย่างไร เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเองก็อ่อนแอ ไม่ได้เข้มแข็ง เลยไม่กล้าที่จะไปแตะประเด็นอ่อนไหวอย่างเรื่องความขัดแย้ง คุณก็ต้องไปพูดเรื่องว่า ใครจะต้องรับผิดชอบในความสูญเสียตรงนั้น จะเยียวยาผู้เสียหายอย่างไร กองทัพต้องรับผิดชอบมากน้อยแค่ไหน ถ้าแตะประเด็นเหล่านี้รัฐบาลก็อาจจะโดนรัฐประหารไปแล้ว ฉะนั้นประเด็นนี้มันก็ถูกละเลยไป ไปมุ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สร้างกติกาใหม่และมองไปในอนาคต

ส่วน 66/23 ที่คนพูดถึงกับเยอะในช่วงนี้จริงๆ แล้วถ้าใครรู้ประวัติศาสตร์ก็จะรู้ว่ามันไม่ใช่การปรองดอง ถ้าเราใช้ในความหมายแบบที่สากลโลกเขาใช้กัน และตอนนั้นคนที่มีบทบาทจริงก็ไม่ใช่พลเอกเปรม แต่เป็นบิ๊กจิ๋ว พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งตอนนั้นเป็นเสธ เป็นระดับมันสมองของกองทัพ

66/23 จริงๆ แล้วมันเป็นนโยบายทางการเมือง มันเป็นกลยุทธที่ใช้เอาชนะคอมมิวนิสต์ และเป็นกลยุทธที่ประสบความสำเร็จ เป็นกลยุทธที่ฉลาดเพราะมันดึงมวลชนนักศึกษาออกจากพรรคคอมมิวนิสต์ เป้าประสงค์มันไม่ใช่การปรองดองตั้งแต่แรก ไม่ใช่การคืนดีกับฝ่ายตรงข้าม หรือไปโอบอุ้มนักศึกษา ไปโอบกอด และยอมรับว่าเราเองเป็นคนในสังคมเดียวกัน นักศึกษาควรจะมีสิทธิเสรีภาพ ควรจะมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่แบบที่เกิดขึ้นในแอฟริกาใต้ เพราะการปรองดองมันต้องมีการยอมรับด้วยว่าทั้งสองฝ่ายมีส่วนผิดพลาด ไม่มีใครถูกหมดผิดหมด เรามาจดจำอดีตร่วมกันบางอย่าง พูดความจริง สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ให้อภัยกันได้ในบางจุด ส่วนจะไปถึงขั้นเอาใครมาลงโทษหรือไม่นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน บางประเทศก็ทำได้ เช่นประเทศเกาหลีใต้ ชิลี เอาผู้นำที่มีส่วนในการละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนมาลงโทษได้

การจะปรองดองอย่างน้อยมันยอมให้ความจริงได้เปิดเผย เพื่อที่คนจะได้รู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรม ได้รับการเยียวยา เฉพาะในช่วงสิบปีที่ผ่านมามีประชาชนสูญเสียเยอะ บาดเจ็บ ล้มตาย กระทั้งสูญหาย ครอบครัวเขาอยากรู้ว่าทั้งหมดใครเป็นคนทำ ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ นี่แหละที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปรองดอง และเยียวยา 66/23 ไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องพวกนี้เลย คือมันเป็นโนบายทางการเมืองอันหนึ่งที่มาจากฐานคิดของรัฐไทยว่า จะสู้หรือเอาชนะคอมมิวนิสต์ให้ได้อย่างไร มันก็เป็นเพียงการตระหนักว่าจะชนะคอมมิวนิสต์ จะใช้วิธีการทางการทหารอย่างเดียวไม่ได้ รบกันไปก็ยืดเยื้อก็เลยต้องใช้นโยบายอย่างอื่น ใช้นโยบายทางการเมือง นโยบายในการเปลี่ยนความคิดอุดมการณ์ของคน

และยิ่งช่วงที่ผ่านมาที่มีหยิบเรื่อง 66/23 ขึ้นมาพูดอีกครั้งมันก็สะท้อนได้ว่าในเครือข่ายผู้กุมอำนาจไม่ได้ต้องการที่จะปรองดองจริงๆ

ใช่ เพราะมันเป็นการเอาชนะทางการเมือง โดยแยกสลายมวลชนของฝ่ายตรงกันข้าม และบริบทของความขัดแย้งก็ต่างกันเยอะ ช่วงนั้นเกิดสงครามกลางเมืองที่รัฐไทยสู้กับคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นองค์กรติดอาวุธทั้งคู่ หรือในแง่หนึ่งมันเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน แต่ในความขัดแย้งตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบันมันไม่ใช่แค่รัฐกับประชาชน ประชาชนก็ขัดแย้งกันเอง และมีหลายฝักหลายฝ่าย ส่วนรัฐเองก็แตกกระจายไม่มีความเป็นเอกภาพ มันก็มีชนชั้นนำหลายกลุ่มที่ขัดแย้งกัน ถ้าเทียบกันแล้วปมความขัดแย้งในปัจจุบันมันยากกว่า เพราะความขัดแย้งมันซึมลึกลงไปในระดับครอบครัว ระดับความสัมพันธ์ในชุมชน คนในหมู่บ้านเดียวกัน คนในครอบครัวเดียวกัน หรือคนในวงการเดียวกันก็ขัดแย้งกันเอง แตกแยก บาดหมางกันหมด

ถ้านับในช่วงตั้งแต่ปี 2548 มาจนถึงปัจจุบัน หากเขายังยืนยันว่าจะดำเนินการปรองดอง ในแบบของเขาจริงๆ อาจารย์คิดว่าเหตุการณ์ทางการเมือง หรือความสูญเสียทางการเมืองใดบ้างที่ห้ามลืม

การปรองดองที่มีความหมายมันต้องมีสองอย่าง คือความจริงกับความยุติธรรม ถ้าไม่อย่างนั้นจะปรองดองไปเพื่ออะไร คือถ้าเราอยู่ในจุดที่สูญเสีย หรือเราเป็นพ่อแม่ของผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมือง หรือถูกตัดสินจำคุก เราก็คงจะถามว่าจะปรองดองเพื่ออะไร หรือปรองดองในความหมายไหน และสิ่งที่ได้รับกลับมามันแทบไม่มีคำตอบ หรือไม่มีประโยชน์สำหรับเขาเลย

การปรองดองที่บอกว่า ต่อไปนี้เรามาตกลงกันมาเซ็นสัญญากันว่า ต่อไปนี้เราจะไม่ทะเลาะกันอีก แต่ความสูญเสียในอดีตที่ผ่านมาล่ะ มันไม่ต้องมีใครรับผิดชอบเลยเหรอ มันคล้ายๆ กับว่า ผมเป็นผู้มีอิทธิพลคนหนึ่ง และผมมีกำลังมาก ตอนนี้ผมต่อยทุกคนจนสลบเหมือดกองอยู่กับพื้น และผมบอกว่าทุกคนลุกขึ้นมาและบอกกับทุกคนว่า ตอนไปนี้ผมจะไม่ทะเลาะกับพวกคุณแล้วนะ พวกคุณก็อย่าทะเลาะกันเองอีก และอย่ามาทะเลาะกับผมด้วย เดินหน้าต่อไปดีกว่า แต่เดินหน้าไปตามกฎกติกาที่ผมสร้างไว้ และผมเรียกการกระทำแบบนี้ว่าการปรองดอง

ในแง่หนึ่งนี่คือการมัดมือชก ในสถานการณ์ที่ฝ่ายหนึ่งคุมอำนาจทุกอย่าง ขณะที่คนสลบเหมือดก็ไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะพูดได้ว่าไม่อยากปรองดอง เพราะอาจจะเหยียบซ้ำ มันก็เป็นการปรองดองไฟท์บังคับของผู้ชนะที่มีเหนือผู้แพ้ เพื่อให้ผู้แพ้สยบยอม

การปรองดองมันเกิดขึ้นเอง หรือปล่อยให้ระยะเวลาเยียวยาความขัดแย้งไม่ได้ มันไม่เหมือนกับแฟนเลิกกัน ช่วงแรกไม่พูดไม่คุยกัน แต่เวลาผ่านไปสักพักก็กลับมาคุยกันได้ แต่นี่คือสังคมที่แตกแยกกันอย่างรุนแรง ซึ่งมีทั้งการบาดเจ็บและความสูญเสีย มันไม่ง่ายที่จะกลับมาสมานรอยร้าว หรือกลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง ถ้าทะเลาะกันโดยไม่สูญเสียอาจจะง่ายกว่า ถ้าผมแค่ด่าคุณเฉยๆ ต่อให้หยาบคายแค่ไหนความบาดหมางมันอยู่แค่ระดับหนึ่ง แต่ถ้าขั้นยิงกัน ฆ่ากัน หรือผมไปฆ่าลูกหลานคุณ ความบางหมาดมันลึกกว่านั้นเยอะ และโอกาสที่คุณอยากจะกับมาคุยกับผมมันยากกว่านั้นเยอะ

สังคมไทยช่วง 10-12 ปีที่ผ่านมามันเกิดความสูญเสียเยอะ และเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง กปปส. เจ้าหน้าที่รัฐเองก็เสียชีวิต เพราะฉะนั้นถ้าจะปรองดอง เยียวยากันจริงๆ ทุกฝ่ายต้องมีโอกาสได้พูดถึงบาดแผลของตัวเอง ฉะนั้นที่คุณถามว่าเหตุการณ์อะไรที่ห้ามลืม คำตอบมันคือทุกเหตุการณ์ แม้จะมีบางฝ่ายที่เป็นผู้ถูกกระทำซ้ำๆ มากกว่า แต่มันต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้พูด

แม้แต่เนลสัน แมนเดลา เองก็ยอมรับฝ่ายของตัวเองมีการใช้อาวุธในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพ เพราะมีบางการกระทำที่เป็นเป็นการละเมิดสิทธิของฝ่ายตรงข้ามเช่นกัน มันก็ต้องพูดทั้งหมด โลกนี้ไม่ใช่สีขาวดำ ไม่ได้มีแค่เทพกับมาร ถ้ายังมองว่าเป็นเทพกับมารก็ไม่จำเป็นต้องปรองดอง เพราะอย่าลืมว่าจะปรองดองได้ต้องมีความจริง กับความยุติธรรม และเมื่อเรารู้ความจริงแล้ว แน่นอนสังคมต้องทวงถามถึงความยุติธรรม ไม่เช่นนั้นการรู้ความจริงเพียงอย่างเดียวก็อาจจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ไม่ใช่มองหาความยุติธรรมจากอดีตอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องเห็นความยุติธรรมในเวลาปัจจุบันด้วย เพราะจนถึงตอนนี้ก็ยังมีคนถูกละเมิดสิทธิ มีคนถูกจับติดคุกอยู่ ณ วินาทีที่เรากำลังคุยกันอยู่นี้ ยังมีการปิดกั้น ไม่ให้คนได้พูด ไม่ให้คนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ความจริงก็ไม่มีวันปรากฎ ในสภาพแบบนี้คนที่ได้รับความอยุติธรรมเขาจะอยากปรองดองได้อย่างไร

สิ่งที่เราเห็นอยู่มันเลยทำให้อดคิดไม่ได้ว่า การปรองดองครั้งนี้ มันคือการจัดระเบียบทางการเมืองใหม่แค่นั้นเอง และเป็นการทำให้ชนชั้นนำกลุ่มอื่นๆ และภาคประชาชนไม่ว่ากลุ่มใดก็ตามต้องยอมศิโรราบ และเงียบเสียง ความหมายมันอาจจะมีแค่นี้ เพราะจริงๆ แล้วเขาก็อาจจะยังกลัวว่าระเบียบทางการเมืองใหม่ที่เขาจัดไว้ เมื่อถึงเวลาหนึ่งมันอาจจะมีคนลุกขึ้นมาต่อต้าน คัดค้านอีก การปรองดองของเขาก็เป็นการกำราบล่วงหน้า ว่าต่อไปนี้อย่าก่อปัญหาอีก และให้ทุกคนมาอยู่ภายใต้กติการที่ข้าพเจ้ากำหนด เล่นไปตามบทที่ข้าพเจ้าวางไว้ให้

ถ้าเรามองว่านี่คือการปรองดอง ซึ่งเป็นการปรองดองที่ไม่รวมประชาชนเข้าไปอยู่ในกระบวนการใดๆ ทั้งสิ้นมันก็เป็นได้เพียงแค่การหลอกตัวเองชั่วคราวเท่านั้นเอง


You must be logged in to post a comment Login