วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ฝันกลางแดด(อีกแล้ว) / โดย ลอย ลมบน

On January 23, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : ลอย ลมบน

การปฏิรูปประเทศหลังรัฐประหารตั้งแต่กลางปี 2557 เป็นไปแบบเรื่อยๆ ไม่มีอะไรโดดเด่น

ถึงกลางปีนี้รัฐบาลทหาร คสช. ก็จะทำงานครบ 3 ปี แถมโรดแม็พเลือกตั้งแน่นอนแล้วว่าจะถูกเลื่อนไปกลางปีหน้า เท่ากับว่ารัฐบาลทหาร คสช. จะอยู่ทำงานครบ 4 ปีเต็ม เท่ากับ 1 วาระของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ในช่วงปีที่ 3 ของการทำงาน เห็นรัฐบาลทหาร คสช. เริ่มขยับทำหลายเรื่องอย่างเอาจริงเอาจัง โดยเฉพาะการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองในชาติ แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าแนวทางดำเนินการเป็นอย่างไร

เรื่องความปรองดองดูจะยากกว่าการปฏิรูป เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนมาก เป็นไปตามคำโบราณว่าไว้ “มากคนมากความ” กว่าจะหาจุดร่วมกันได้คงไม่ง่าย

แต่สิ่งที่ง่ายและไม่มากความคือ การปฏิรูปที่อยู่ในขอบเขตอำนาจของรัฐบาลทหาร คสช. ที่สามารถทำได้ ต้องดูว่าจะกล้าใช้ความเบ็ดเสร็จในอำนาจทำการปฏิรูปสัก 1-2 เรื่องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เพื่อฝากเป็นผลงานก่อนลงจากอำนาจหรือไม่

อย่างไรก็ตาม แม้การปฏิรูปจะเป็นเรื่องของการใช้อำนาจ แต่ดูเหมือนว่าภายในรัฐบาลทหาร คสช. เองก็ยังไม่ตกผลึกในแนวทางการปฏิรูปประเทศสักเท่าไร

ยกตัวอย่างเช่นหลายวันก่อน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ออกมาเสนอไอเดียให้รัฐบาลทหาร คสช. ปฏิรูประบบการคัดเลือกแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดใหม่ แต่ถูกคัดค้านจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ความจริงข้อเสนอของนายสมคิดนั้นถือว่าน่าสนใจ

นายสมคิดเห็นว่าผู้ว่าราชการจังหวัดควรเป็นนักบริหารมืออาชีพ ไม่ใช่การคัดเลือกแต่งตั้งจากกระทรวงมหาดไทยเหมือนที่ทำกันอยู่ ซึ่งไม่สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ที่เปลี่ยนไปจากอดีตอย่างมาก

ปัจจุบันผู้ว่าฯควรมีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาจังหวัดมากกว่าหน้าที่ด้านความมั่นคง ต้องมีความรู้ด้านเศรษฐกิจจึงจะสามารถพัฒนาจังหวัดตัวเองให้สอดรับกับการพัฒนากลุ่มจังหวัดและโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศที่จะกระจายไปสู่ภูมิภาคได้

นายสมคิดชี้ว่า เมื่อรัฐบาลเพิ่มงบประมาณด้านการลงทุนให้ระดับจังหวัดอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมที่ได้รับงบประมาณหลักร้อยล้านบาท ปัจจุบันหลายจังหวัดได้รับการจัดสรรงบประมาณถึงหลักพันล้านบาทแล้ว หากรวมเป็นกลุ่มจังหวัดงบทะลุหลักแสนล้านบาท ดังนั้น แนวทางการคัดเลือกผู้ว่าฯก็ควรปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องเหมาะสมด้วย

นายสมคิดเสนอว่าควรใช้วิธีพิเศษคัดเลือกผู้ว่าฯจากผู้บริหารมืออาชีพ โดยเริ่มจากจังหวัดใหญ่ๆที่มีศักยภาพก่อน เพื่อให้ได้ผู้ว่าฯที่มีความรู้ความสามารถสอดคล้องกับภารกิจการพัฒนาพื้นที่

ที่สำคัญวาระการดำรงตำแหน่งต้องมีการปรับเปลี่ยนใหม่ จากเดิมที่อยู่แค่ 1-2 ปีย้าย ต่อไปต้องอยู่ยาวไม่ต่ำกว่า 4-5 ปีเป็นอย่างน้อยเพื่อให้งานต่อเนื่อง ที่สำคัญต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ ต้องมีอายุในระดับ 50 ปีต้นๆ

นายสมคิดอ้างว่าได้เสนอแนวคิดนี้ต่อ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว และนายกฯก็เห็นด้วย

จังหวัดที่จะใช้ระบบใหม่คัดเลือกผู้ว่าฯถูกชี้เป้าไปที่จังหวัดใหญ่อย่างเชียงใหม่กับภูเก็ต โดยระบุว่าหากทำได้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม แม้นายสมคิดจะบอกว่าเสนอไอเดียนี้กับ “บิ๊กตู่” แล้ว และนายกฯเห็นด้วย แต่กลับถูกค้านจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลูกพี่ใหญ่ของผู้ว่าฯทั่วประเทศ

พล.อ.อนุพงษ์ยืนยันว่าไม่รู้เรื่องนี้ แม้จะยอมรับว่าการคัดเลือกผู้ว่าฯที่เหมาะสมมีความจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัด แต่ในรัฐบาลไม่เคยคุยกันเรื่องแนวทางพิเศษในการคัดเลือกผู้ว่าฯ

เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยืนยันอย่างนี้ โอกาสที่จะได้เห็นแนวทางการพิจารณาให้ผู้บริหารมืออาชีพไปบริหารจังหวัดคงมีน้อย คงเป็นแค่แนวคิดที่ไม่ถูกนำไปปฏิบัติเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

ถ้าจำกันได้แนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการแต่งตั้งผู้ว่าฯมีมานานแล้ว

ที่เด่นชัดที่สุดเห็นจะเป็นหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 ครั้งนั้นการเลือกตั้งผู้ว่าฯถูกชูเป็นประเด็นหลัก และพรรคพลังธรรมใช้เป็นนโยบายจนชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นในสนามกรุงเทพฯ

แต่การเลือกตั้งผู้ว่าฯก็เป็นแค่นโยบายขายฝันที่ไม่อาจทำได้จริง แม้พรรคพลังธรรมจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งผู้ว่าฯถูกนำมาเป็นประเด็นเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกครั้งในช่วงการชุมนุมของม็อบนกหวีด แม้จะมีรัฐประหาร มีรัฐบาลทหารที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่กว่าจะพูดถึงแนวทางปฏิรูปการแต่งตั้งผู้ว่าฯก็ต้องรอมาจนปลายๆอำนาจ

ดูจากแนวโน้มแล้วการเปลี่ยนแปลงแนวทางแต่งตั้งผู้ว่าฯคงไม่พ้นเป็นฝันกลางแดด เข้าอีหรอบเดิมคือ ไม่มีอะไรในกอไผ่

แม้จะรู้ว่าแนวทางคัดเลือกแต่งตั้งในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับบริบทของประเทศ ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และการคัดเลือกแบบเดิมๆยังมีเรื่องการเล่นพรรคเล่นพวก ไม่รวมถึงข่าวการซื้อขายตำแหน่ง แต่ก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

หากรัฐบาลทหารที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จยังเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ทั้งที่รู้ว่าของเก่าล้าสมัย ก็ไม่ต้องหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ต้องพูดถึงเลือกตั้งผู้ว่าฯ แค่เปลี่ยนวิธีคัดเลือกแต่งตั้งยังไม่มีแนวโน้มว่าจะทำได้เลย


You must be logged in to post a comment Login