วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

วิบากกรรมรัฐธรรมนูญใหม่ / โดย ลอย ลมบน

On January 16, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : ลอย ลมบน

ก้าวข้ามปีใหม่มาไม่กี่วันการเมืองไทยมีความชัดเจนขึ้นมาอีกระดับชนิดไม่ต้องรอลุ้นนาน

ความชัดเจนที่ว่านี้มาจากปากของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

“บิ๊กตู่” เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมาได้หารือกับองคมนตรี

ประเด็นของการหารือคือ ได้รับแจ้งว่าภายหลังองคมนตรีได้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯถวายแล้ว มีพระราชกระแสรับสั่งลงมา 3-4 รายการให้แก้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จำเป็นต้องแก้ไขให้เป็นไปตามพระราชอำนาจ

สำนักราชเลขาธิการจึงทำเรื่องมาที่รัฐบาล รัฐบาลรับสนองพระบรมราชโองการ โดยจะใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เปิดช่องให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน

เมื่อแก้เสร็จแล้วจะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อ โดยใช้เวลาไม่เกิน 2-3 เดือน ถึงจะทูลเกล้าฯอีกครั้ง

ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นเรื่องของพระราชอำนาจ

จากปากคำของ “บิ๊กตู่” ชัดเจนว่าไม่ต้องรอลุ้นจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ทูลเกล้าฯไปแล้วจะได้รับการโปรดเกล้าฯลงมาหรือไม่ เพราะจะใช้อำนาจมาตรา 44 ดึงกลับมาแก้ไขใหม่

ที่ต้องใช้อำนาจพิเศษมาตรา 44 แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อนำร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้วกลับมาแก้ไขใหม่ เพราะของเดิมไม่ให้ปรับแก้ฉบับที่ผ่านประชามติแล้ว

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ใช้อยู่ในปัจจุบันกำหนดไว้เพียงว่า

“ในการออกเสียงประชามติ ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งสุดท้ายก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และภายใต้บังคับมาตรา 37/1 ถ้าผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมภายในสามสิบวันนับแต่วันประกาศผลออกเสียงประชามติ และเมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญและพระราชทานคืนมา หรือเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป”

หากไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อเปิดทางจะไม่สามารถดึงร่างรัฐธรรมนูญที่นำขึ้นทูลเกล้าฯแล้วกลับมาแก้ไขได้

ที่สำคัญการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวยังทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ต้องตกไปทั้งฉบับตามเงื่อนไขเดิม ไม่ต้องเสียเวลาเริ่มต้นนับหนึ่งยกร่างกันใหม่

เงื่อนเวลาตามที่ “บิ๊กตู่” บอกคือ ใช้เวลาแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวประมาณ 1 เดือน

จากนั้นใช้เวลาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจอีกประมาณ 2-3 เดือน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯใหม่อีกครั้ง

หมายความว่าจะส่งร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯได้อีกครั้งระยะเวลาสั้นสุดคือ 3 เดือน นานสุดคือ 4 เดือน

หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ไม่แตะเรื่องระยะเวลาในการใช้พระบรมราชวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญหลังทูลเกล้าฯที่กำหนดไว้ 90 วัน

หมายความว่าเมื่อแก้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งใช้เวลา 3-4 เดือนเสร็จและนำขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว ต้องรอพระบรมราชวินิจฉัยอีกไม่เกิน 90 วัน หรือ 3 เดือน

หลังนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯแล้วจะโปรดเกล้าฯลงมาเมื่อไรก็ได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน จะเร็วกว่านั้นหรือไม่ก็ได้แต่ต้องไม่เกินกว่า 3 เดือน

หากพ้น 3 เดือนแล้วไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯลงมาร่างรัฐธรรมนูญจะมีอันตกไป ต้องไปเริ่มกระบวนการร่างฉบับใหม่

ส่วนระยะเวลาในการจัดเลือกตั้งใหม่หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่แตะเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้เดิมที่กำหนดไว้ว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีเวลาร่างกฎหมายลูกสำคัญนาน 8 เดือน โดยให้เริ่มนับจากวันที่รัฐธรรมนูญใหม่ได้รับการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

จากนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีเวลาพิจารณาร่างกฎหมายลูกอีก 2 เดือน

ทั้งนี้ กฎหมายลูกที่สำคัญเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งมีอยู่ 4 ฉบับ

เมื่อ สนช. พิจารณากฎหมายลูกสำคัญ 4 ฉบับเสร็จแล้ว กำหนดให้ต้องจัดเลือกตั้งภายใน 150 วัน หรือ 5 เดือน

จะเลือกตั้งได้เมื่อไรต้องดูว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการได้เมื่อไร

วันใดที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ก็นับนิ้วต่อไปอีก 10 เดือนเพื่อทำกฎหมายลูก เมื่อกฎหมายลูกเสร็จก็มีเวลาสำหรับจัดเลือกตั้งอีก 5 เดือน

นี่เป็นไปตามเงื่อนเวลาเดิมที่กำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 หากไม่มีการปรับแก้ในส่วนนี้

สถานการณ์การเมืองวันนี้จึงมีความชัดเจนว่า

1.จะมีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเปิดทางให้สามารถนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติจากประชาชนแล้วกลับมาแก้ไขใหม่ได้ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯอีกครั้ง

2.การเลือกตั้งที่ตามโรดแม็พเดิมกำหนดไว้ว่าจะมีขึ้นภายในปลายปี 2560 นี้ มีอันต้องเลื่อนออกไปก่อน ส่วนจะจัดเลือกตั้งได้เมื่อไรให้รอดูความชัดเจนของรัฐธรรมนูญใหม่ว่าจะประกาศใช้ได้เมื่อใด

ส่วนสถานการณ์ที่ยังไม่ชัดเจนคือ

1.การใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อเปิดทางให้สามารถดึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติที่นำขึ้นทูลเกล้าฯแล้วกลับมาแก้ไขใหม่ได้นั้น จะมีการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวในประเด็นใดบ้าง

จะแก้เฉพาะให้อำนาจดึงร่างรัฐธรรมนูญกลับมาแก้ไข หรือจะอาศัยโอกาสนี้แก้ไขวิธีการให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่ให้มีความชัดเจนมากขึ้นว่าหากร่างรัฐธรรมนูญที่ดึงมาปรับแก้แล้วมีอันต้องสิ้นสภาพไม่ว่าด้วยเหตุผลใด จะมีวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไร จะให้ใครร่าง จะใช้เวลานานเท่าไร

2.การแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวจะมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนเวลาต่างๆให้เกิดความชัดเจนเรื่องกำหนดวันเลือกตั้งหรือไม่

วันนี้ชัดเจนว่าการเลือกตั้งเลื่อนไปเป็นกลางปีหน้า ขณะเดียวกันก็ไม่มีอะไรรับประกันว่าเมื่อถึงเวลาจะมีอะไรทำให้ต้องเลื่อนไปอีกหรือไม่

ได้แต่หวังว่ากระแสข่าวที่ลอยมาเข้าหูว่าการเลือกตั้งอาจถูกลากยาวออกไปไกลกว่ากลางปี 2561 อย่างที่พูดกันนั้นจะไม่เป็นความจริง

ถ้าหากเป็นความจริงหมายความว่าการเลือกตั้งจะไม่ใช่แค่ถูกลากยาวไปนานเกินกว่ากลางปี 2561 แต่จะถูกลากยาวไปไกลกว่านั้น ซึ่งบางกระแสพูดกันว่าอาจจะข้ามไปถึงปี 2562 หรือ 2563 กันเลยทีเดียว


You must be logged in to post a comment Login