วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

ปัจจัยภายนอกหนุนเสรีภาพ / โดย Pegasus

On January 16, 2017

คอลัมน์ : เพื่อชาติประชาชน
ผู้เขียน : Pegasus

ในการปฏิวัติใหญ่ของประชาชน หรือแม้แต่การต่อสู้แบบอหิงสาของคานธี เรามักจะคิดกันเองว่าการต่อสู้โดยประชาชนในชาตินั้นๆจะนำมาซึ่งเสรีภาพของตนเอง โดยตัดปัจจัยอื่นออกเสียหมดสิ้น ทั้งที่มักจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

เริ่มตั้งแต่ยุคสมัยใหม่ การประกาศอิสรภาพของชาวอเมริกันต่อเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ปัจจัยภายนอกที่นำชัยชนะมาให้ระหว่างสงครามยืดเยื้อคือ การมาถึงของกองทัพฝรั่งเศส

การปฏิวัติเป็นสาธารณรัฐของฝรั่งเศส แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องของประชาชน คือการถูกสังหารหมู่และแม่ค้าขายหมูบุกพระราชวัง แต่ปัจจัยภายนอกก็มีส่วนสำคัญ ได้แก่ การเกิดภัยธรรมชาติอย่างร้ายแรงติดต่อกันนาน ทำให้ประชาชนเกิดความหิวโหยอย่างหนักจนต้องเรียกร้องให้ผู้ปกครองหาขนมปังมาให้ แต่คำตอบจากราชินีคือ “ถ้าไม่มีขนมปังก็ไปหาเค้กมากินแทน” ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เกิดความแค้นของประชาชนจนบุกปล้นคุกบาสตีลเพื่อหากระสุนมาใช้กับอาวุธปืนที่ไม่มีกระสุนเพียงพอ

การปฏิวัติของเมนเชวิคต่อด้วยบอลเชวิคของเลนินในการปฏิวัติรัสเซียนั้น เพราะรัฐบาลของพระเจ้าซาร์ขณะนั้นพ่ายแพ้ต่อญี่ปุ่น และสังคมยังเป็นระบบเกษตรกรรมมากกว่าอุตสาหกรรม ปัจจัยนี้จึงทำให้กองทัพของรัสเซียที่ยิ่งใหญ่พ่ายแพ้อย่างง่ายดาย

ส่วนทางตะวันออก ประชาชนชาวฮั่นทนการปกครองของราชวงศ์ต้าชิงไม่ไหวก็ประกาศตนเป็นอิสระ ใช้แนวทางคริสต์ศาสนานำในการต่อสู้จนสามารถยึดเมืองใหญ่ๆสร้างอาณาจักรของตนเองได้ แต่ขาดการสนับสนุนจากชาวตะวันตก ไม่ช้าก็ถูกปราบปรามจนหมดสิ้น

ด้านญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงประเทศได้ เพราะนายพลเรือจัตวาเพอร์รีนำเรือรบกำลังไอน้ำเข้ามาในญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ต่อมาราชสำนักและโชกุนซึ่งก็คือเผด็จการทหารได้ต่อสู้กันด้วยอาวุธของชาติตะวันตก ซึ่งใช้ปัจจัยภายนอกเช่นกัน จนเกิดการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นมหาอำนาจในเวลาต่อมา

จีนในยุคของเจียง ไคเช็ค ราชสำนักแมนจูโดนชาติตะวันตกยึดพระราชวังต้องห้ามได้ สูญเสียทรัพย์สินจำนวนมาก ทั้งยังพ่ายแพ้กองทัพเรือของญี่ปุ่น กลุ่มกบฏนักมวยเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมากจนเกิดการแตกแยกกันเป็นเสี่ยงๆ เหล่านักรบก็แยกตัวเป็นอิสระกลายเป็นยุคของนักรบ สุดท้ายเจียง ไคเช็ค ก็ปราบปรามจนหมดสิ้นหลังจีนก๊กมินตั๋งนำโดยนายแพทย์ซุน ยัตเซ็น ล้มล้างระบอบต้าชิงและหยวน ซื่อไข่ ได้ ซึ่งถ้าไม่มีการแทรกแซงจากตะวันตกและญี่ปุ่นแล้ว การจะโค่นล้มราชวงศ์แมนจูก็นับว่ายากเย็นยิ่ง

ต่อมาสมัยเหมา เจ๋อตุง สามารถบั่นทอนกำลังของเจียง ไคเช็ค ได้ เพราะเจียง ไคเช็ค ต้องต่อสู้กับญี่ปุ่นพร้อมๆกับพรรคคอมมิวนิสต์ กองทัพญี่ปุ่นจึงเป็นผลดีต่อการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ของเหมา เจ๋อตุง อย่างไม่ต้องสงสัย

ยังมีการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจในหลายยุคหลายสมัยต่อมา เช่น การปฏิวัติในอิหร่าน การพ่ายแพ้ของรัสเซียในอัฟกานิสถาน สงครามอ่าวเปอร์เซีย ฯลฯ ทุกเหตุการณ์มีปัจจัยหนึ่งที่เหมือนกันคือ ปัจจัยภายนอกมาบั่นทอนความเข้มแข็งของรัฐเผด็จการ ตามด้วยประชาชนที่ต้องการต่อสู้อย่างไม่ท้อถอยเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ด้วยเหตุนี้ปัจจัยภายนอกจึงเป็นลมฟ้าอากาศที่โหดร้าย ทำให้รัฐต้องสูญเสียเงินตราไปจำนวนมาก หรือสงครามจากประเทศอื่นๆก็ตาม อาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆภายในประเทศไม่ยากนัก

ปัจจุบันมาตรฐานโลกเรื่องสิทธิเสรีภาพนั้นมีองค์กรรองรับมากมายที่พร้อมให้การสนับสนุนการเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยทั้งทางตรงและทางอ้อม การที่ประเทศทำมาค้าขายกับใครก็ยาก ยกเว้นมหามิตรจีนซึ่งได้เปรียบดุลการค้ามาโดยตลอดนั้น ก็เพราะปัจจัยภายนอกที่ต่างชาติไม่คบ หรือเลือกคบในบางประเด็นเท่านั้น ถือเป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่งในการต่อสู้หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

เราจึงต้องไม่ละเลยการแสวงหาปัจจัยภายนอกที่จะมาสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย และจำกัดการคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่


You must be logged in to post a comment Login