วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ขายแล้วจงรีบตาย / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On January 16, 2017

คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

ปัญหาหนึ่งของผู้สูงอายุที่ไม่มีบุตรหลานเลี้ยงดูคือ การมีบ้านอยู่อาศัยแต่ไม่มีรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่ต้องการขายบ้านเพื่อเปลี่ยนเป็นเงิน ทางออกที่ดีที่สุดคือการทำสัญญาว่าจะโอนกรรมสิทธิ์บ้านให้กับผู้ต้องการซื้อหลังจากที่เจ้าของบ้านตายไปแล้ว ภายใต้เงื่อนไขว่าผู้ซื้อต้องมอบเงินจำนวนหนึ่งให้ก่อนตามข้อตกลง

รัฐบาลอเมริกันเล็งเห็นถึงปัญหาของผู้สูงอายุที่เลยวัยเกษียณ พวกเขาไม่ได้ทำงานแล้ว ไม่มีรายได้ แต่มีบ้านพักอาศัยเป็นของตัวเองจากการผ่อนส่งกับสถาบันการเงินเมื่อหลายสิบปีก่อน ซึ่งเป็นทรัพย์สินมีมูลค่าสูงเพียงอย่างเดียวที่สามารถแปรเป็นเงินก้อนใช้ยังชีพไปจนถึงวันที่พวกเขาจากโลกนี้ไป จึงออกมาตรการ “จำนองแบบย้อนกลับ” (Reverse Mortgage) เพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มนี้

การจำนองแบบย้อนกลับช่วยบรรเทาปัญหาผู้สูงอายุให้มีเงินใช้จ่ายเลี้ยงชีพจนกว่าจะจากโลกนี้ไป โดยนำสินทรัพย์ที่เป็นที่อยู่อาศัยไปเป็นหลักประกันเงินกู้จากสถาบันการเงิน ต่างจากการกู้เงินทั่วไปตรงที่ผู้กู้ยังคงกรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของทรัพย์สิน

สินเชื่อประเภทนี้ครบกำหนดเมื่อผู้กู้เสียชีวิต หลังจากผู้กู้เสียชีวิตจึงนำบ้านไปขายทอดตลาด ขายได้เท่าใดก็นำไปชำระคืนเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยก่อน หากมีเงินเหลือก็สามารถตกทอดเป็นมรดกถึงทายาทได้

บ้านเราเคยมีการนำเรื่องนี้มาพิจารณาเมื่อต้นปี 2016 แต่จะคืบหน้าไปแค่ไหนไม่ทราบได้ อย่างไรก็ตาม มันคือหนึ่งในวิธีการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ประเทศที่เจริญแล้วกำลังทำกันอยู่ แต่เรื่องที่จะนำมาเสนอในวันนี้มีความวิจิตรพิสดารยิ่งกว่านั้น และค่อนไปทางเสี่ยงดวงเหมือนซื้อหวย

หวยบ้าน

ฝรั่งเศสมีการจัดการกับปัญหานี้แตกต่างออกไป เรียกว่า “Viager” เป็นการตกลงกันเองระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อโดยไม่มีสถาบันการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยทั่วไปทำกันได้ 3 วิธีคือ

1.ผู้ซื้อจ่ายเงินก้อนเต็มจำนวนเท่าที่ผู้ขายเรียกร้อง ไม่ต่างไปจากการซื้อขายบ้านทั่วไป เว้นเสียแต่ผู้ซื้อยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านที่ซื้อจนกว่าผู้ขายจะเสียชีวิต

2.ผู้ซื้อจ่ายเงินก้อนจำนวนหนึ่ง และชำระเงินรายเดือนอีกจำนวนหนึ่งตลอดไปจนกว่าผู้ขายจะเสียชีวิต

3.ผู้ซื้อชำระเงินรายเดือนตลอดไปจนกว่าผู้ขายจะเสียชีวิตโดยไม่มีการชำระเงินก้อนงวดแรก

ไม่ว่าจะทำข้อตกลงกันแบบไหนก็ตาม ผู้ซื้อไม่มีกรรมสิทธิ์ใดๆทั้งสิ้นในบ้านหลังนั้นจนกว่าจะปฏิบัติตามข้อตกลงจนครบทุกข้อ และเจ้าของเดิมเสียชีวิตไปแล้วเท่านั้น ซึ่งนั่นหมายความว่า ผู้ขายยังคงเป็นเจ้าของและยังมีสิทธิอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นจนกว่าจะตาย และหากผู้ซื้อขาดส่งรายเดือนแม้แต่เดือนเดียวก็จะไม่มีสิทธิเรียกร้องใดๆทั้งสิ้น เงินที่ชำระไปแล้วตกเป็นของผู้ขายทั้งหมด

ด้วยเหตุนี้เองผู้ซื้อส่วนใหญ่จึงเลือกทำสัญญาวิธีที่ 2 หรือ 3 และที่สำคัญที่สุดคือมองหาผู้ขายสูงวัยที่สุขภาพไม่ค่อยดี เพราะเขาอาจได้เป็นเจ้าของบ้านคนใหม่หลังจากที่จ่ายเงินรายเดือนไปเพียงไม่กี่งวดเท่านั้น ซึ่งคล้ายกับการถูกหวยนั่นเอง

ตอบแทนน้ำใจ

การทำข้อตกลงซื้อขายบ้านแต่โอนกรรมสิทธิ์หลังจากเจ้าของเดิมเสียชีวิตไปแล้วหรือ Viager นั้น ในฝรั่งเศสมีปริมาณระหว่าง 10-15% ของจำนวนซื้อขายบ้านทั้งหมด ซึ่งนับว่าไม่น้อยเลยทีเดียว

ปี 1965 อังเดร ฟรังซัวส์ ราฟเฟรย์ ทนายความวัย 47 ปี ทำข้อตกลงซื้อขายอพาร์ตเมนต์ใจกลางเมืองอาร์ลส์ ของฌาน กาลม็อง ลูกความวัย 90 ปี โดยอังเดร ฟรังซัวส์ เลือกชำระแบบจ่ายรายเดือนๆละ 2,500 ฟรังก์ จนกว่าฌานจะเสียชีวิต

เงิน 2,500 ฟรังก์ในยุคนั้นน่าจะราวๆ 10,000 บาท ซึ่งนับว่าเป็นเงินจำนวนมากสำหรับเมื่อ 50 ปีก่อน แต่ฌานนั้นอายุเลยเกณฑ์อายุเฉลี่ยคนทั่วไปถึง 20 ปี อีกทั้งการที่อังเดร ฟรังซัวส์ รู้จักกับฌานมาก่อน เขารู้ว่าฌานสูบบุหรี่มาตั้งแต่อายุ 20 ปี และชอบดื่มไวน์ราคาถูกเป็นประจำ

แม้ว่าฌานจะยังสามารถเดินเหินไปไหนมาไหนได้ แต่ไม่เคยออกกำลังกายนอกจากขี่จักรยานแถวๆบ้านเป็นบางครั้งเท่านั้น ฌานอายุยืนมาถึง 90 ปีก็นับว่าเกินความคาดหมายไปมากแล้ว เธออาจต้องการตอบแทนอังเดร ฟรังซัวส์ ที่ให้บริการเธอตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา การซื้อขายบ้านครั้งนี้ดูเหมือนคนซื้อจะมีแต่ได้กับได้เท่านั้น

พลาดท่าเสียที

ฌานยังคงดำเนินชีวิตแบบเดิม ดื่มไวน์ สูบบุหรี่เป็นประจำ เธอคงแก่เกินแกงไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ ซึ่งนั่นเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับอังเดร ฟรังซัวส์ แต่แล้วในปี 1970 ฌานก็ฉลองวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 95 ปี โดยไม่มีวี่แววว่าอยากจะกลับบ้านเก่า

ปี 1975 สุขภาพของฌานทรุดลง เธอเลิกขี่จักรยาน แต่ยังคงเดินเหินได้เองโดยไม่ต้องนั่งรถเข็น และจัดงานวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 100 ปีให้กับตัวเอง เวลาผ่านไปปีแล้วปีเล่าจนถึงปี 1985 ฌานฉลองวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 110 ปี เธอยังคงมีสุขภาพแข็งแรง แต่สายตาพร่ามัว มองอะไรไม่เห็น หยิบจับอะไรไม่ถูก จึงจำใจต้องย้ายออกจากบ้านไปอยู่ที่สถานพยาบาล

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่มีใครอาศัยอยู่ในบ้านแล้วแต่เจ้าของเดิมยังคงมีชีวิตอยู่ ข้อตกลงในสัญญา Viager นั้น ผู้ซื้อจะย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านได้ก็ต่อเมื่อผู้ขายเสียชีวิตแล้วเท่านั้น

ปี 1988 กินเนสเวิลด์เรคคอร์ดจดบันทึกอย่างเป็นทางการว่า ฌาน กาลม็อง เป็นบุคคลที่มีอายุมากที่สุดในโลก ต่อมามีบุคคลอื่นพยายามโต้แย้งว่ามีอายุมากกว่าฌาน แต่หลังจากตรวจสอบหลักฐานแล้วพบว่าฌานมีเอกสารยืนยันที่น่าเชื่อถือมากที่สุด จึงยังคงตำแหน่งผู้มีอายุมากที่สุดในโลก

ปี 1995 ฌานฉลองวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 120 ปี เธอตัดสินใจเลิกบุหรี่ ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะเป็นห่วงสุขภาพตัวเอง แต่เป็นเพราะสายตาเธอย่ำแย่จนถึงขั้นมองไม่เห็นแสงไฟที่อยู่ตรงหน้า ทำให้ไม่สามารถจุดบุหรี่ได้ และเธอก็ไม่ต้องการรบกวนคนอื่นให้ช่วยจุดบุหรี่ให้

ในปีเดียวกันนี้เอง อังเดร ฟรังซัวส์ ก็ด่วนเสียชีวิตไปเสียก่อน เขาส่งเงินรายเดือนให้กับฌานรวมแล้วมากกว่า 900,000 ฟรังก์ ซึ่งสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงของบ้าน

ภรรยาของอังเดร ฟรังซัวส์ ไม่มีทางเลือก หากเธอยุติการส่งเงินให้กับฌาน เงิน 900,000 ฟรังก์ที่สามีส่งมาตลอดระยะเวลา 30 ปีก็จะสูญไปกับสายลมโดยไม่ได้อะไรเลย เธอตัดสินใจดิ้นรนหาเงินมาส่งค่างวดต่อ จนกระทั่งฌานยอมแพ้ชีวิต ตัดสินใจหยุดหายใจในวันที่ 4 สิงหาคม 1997 รวมอายุ 122 ปี ครองตำแหน่งผู้มีอายุยืนที่สุดในโลก

ฌานเล่าถึงวันที่พบกับอังเดร ฟรังซัวส์ เป็นครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1995 ก่อนหน้าที่เขาจะเสียชีวิตเพียงไม่กี่เดือน เธอกล่าวติดตลกกับอังเดร ฟรังซัวส์ ว่า “พวกเราทุกคนล้วนแล้วแต่ตัดสินใจผิดพลาด” ซึ่งเธอน่าจะหมายถึงการที่อังเดร ฟรังซัวส์ คาดว่าจะได้บ้านราคาถูกกลับกลายเป็นต้องเสียเงินจำนวนมาก


You must be logged in to post a comment Login