วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

หนุ่มวิศวะใจงาม / โดย วรวุฒิ สารพันธ์

On January 16, 2017

คอลัมน์ : เรื่องเล่าต่างแดน
ผู้เขียน : วรวุฒิ สารพันธ์

มนุษย์เป็นที่มาของหมาเร่ร่อน สร้างขึ้นเอง แต่ก็มองว่าเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ ไม่ควรไปข้องแวะแตะต้อง

หมาเหล่านี้กลายเป็นปัญหาในหลายพื้นที่ที่มีจำนวนมาก ส่งเสียงร้องสร้างความเดือดร้อนรำคาญ และถ่ายเรี่ยราดสกปรก

การแก้ปัญหาที่นิยมกันคือ จับไปทำลาย ซึ่งก็โหดร้ายในความรู้สึกของคนรักหมา อีกหนึ่งแนวทางแก้ปัญหาคือ มีผู้ใจดีนำไปเลี้ยงในพื้นที่เป็นหลักแหล่ง

ผู้นำหมาเร่ร่อนไปดูแลโดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงถือเป็นผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารีอย่างแท้จริง เป็นผู้กระทำความดีงามที่ควรยกย่องชื่นชม

ที่อินเดียมีหนุ่มใจดีอย่างที่ว่าคนหนึ่งชื่อ “ราเกษ สุคลา” เป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ เปิดบริษัททำธุรกิจร่วมกับภรรยาอยู่ที่นครบังคาลอร์ รัฐกรณาฏกะ ในภาคใต้ประเทศอินเดีย

เมื่อปี 2009 สุคลาซื้อโกลเดน รีทรีฟเวอร์ มาเลี้ยง และรู้สึกว่าชีวิตมีความสุขขึ้นหลังมีหมาเป็นเพื่อน จึงเกิดผูกพัน พอเห็นหมาเร่ร่อนก็สงสารเก็บไปเลี้ยง จาก 1 ตัว เพิ่มเป็น 2 และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งกลายเป็นฝูง

หนุ่มวิศวะตัดสินใจซื้อที่ชานนครบังคาลอร์กว้าง 9 ไร่ ทำเป็นฟาร์มเลี้ยงหมาเร่ร่อนอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

ปัจจุบันมีหมาในฟาร์มกว่า 735 ตัว ส่วนใหญ่เป็นหมาเร่ร่อน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นหมาที่เจ้าของเสียชีวิตแล้วไม่มีผู้ดูแลต่อ โดยมีทั้งพันธุ์แท้และพันทาง ร่างกายสมบูรณ์ก็มี พิการก็มี และเจ็บป่วยก็เยอะ

สุคลาจ้างคนดูแล 10 คน มีผู้ช่วยสัตวแพทย์รวมอยู่ด้วย ทำหน้าที่ให้อาหารและดูแลรักษาตัวที่เจ็บป่วย โดยสุคลาจะแวะไปทักทายหมาที่ฟาร์มสัปดาห์ละ 3-4 วัน

หมากินข้าววันละ 200 กิโลกรัม คลุกเนื้อไก่ในอัตราส่วนเท่ากันคือ 200 กิโลกรัม มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้วันละ 45,000-50,000 รูปี (24,750-27,500 บาท) สุคลาควักจ่ายเองประมาณ 93%

ค่าใช้จ่ายรายวันไม่ธรรมดาครับ

แต่หนุ่มวิศวะอินเดียยืนยันว่าจะทำต่อไปอย่างไม่มีกำหนด บอกว่ามันเป็นความสุขของชีวิต

น่าชื่นชมจริงๆครับ


You must be logged in to post a comment Login