วันพฤหัสที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

คำตอบ..ชัดเจน

On January 12, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การใช้อำนาจมาตรา 44 แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อเจาะช่องให้สามารถดึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติและนำขึ้นทูลเกล้าฯแล้วกลับมาปรับปรุงแก้ไขใหม่ก่อนที่จะนำทูลเกล้าฯอีกครั้ง

ถูกตั้งคำถามว่ากระทบระยะเวลาตามโรดแม็พคืนอำนาจให้ประชาชนหรือไม่

คำตอบนี้ได้รับการอธิบายจาก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1.วันศุกร์ที่ 13 มกราคม นี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะประชุมเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557

2.เมื่อ สนช.แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีเวลา 30 วัน ในการรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติกลับมาแก้ไข

3.เมื่อรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญกลับมาแล้ว นายกฯจะแต่งตั้งกรรมการกฤษฎีกาเพื่อดำเนินการยกร่างมาตราที่จะมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทาน

4.คณะกรรมการฯที่ตั้งขึ้นมามีหน้าที่สองประการ คือ ยกร่างเฉพาะมาตรา และ ตรวจสอบให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทาน

5.คณะกรรมการฯจะมีกรรมการ 8-10 คน มีคุณสมบัติเชื่อมโยงกับเรื่องที่จะทำและเป็นกรรมการกฤษฎีกา โดยผู้ที่จะมาเป็นกรรมการ ประกอบด้วย นายวิษณุ เครืองาม นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นายอภิชาต สุขัคคานนท์ รองประธานกรธ. นายอัชพร จารุจินดา กรธ. นายพรเพชร วิชิตชลชัย สนช. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายอำพน กิตติอำพน อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด และ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

6.ยืนยันว่าไม่ถือโอกาสนี้ปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญในเรื่องอื่นๆ จะแก้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจและหมวดอื่นที่รับผลกระทบจากการแก้ไขนี้เท่านั้น ไม่แตะเรื่องสิทธิเสรีภาพ แนวนโยบายแห่งรัฐ คณะรัฐมนตรี ศาล การเลือกตั้ง องค์กร พรรคการเมือง ส.ว. ส.ส. บทเฉพาะกาล

7.เมื่อนายกฯของพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญกลับมาแล้วจะมีเวลาปรับแก้เพื่อนำกลับทูลเกล้าฯอีกครั้งภายใน 30 วัน จากนั้นเป็นเวลาที่อยู่ในพระราชอำนาจ 90 วัน

8.ยืนยันว่าไม่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเวลาจากเดิมที่กำหนดไว้ 5 ขั้นตอนประกอบด้วย ถวายร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ใน 90 วัน กรธ.ทำกฎหมายลูกให้เสร็จภายใน 240 วัน ส่งสนช.มีเวลาพิจารณากฎหมายลูกให้เสร็จใน 60 วัน ถ้าไม่เสร็จต่อเวลาได้อีกบวกอีก 30 วัน นำกฎหมายลูกที่ผ่านการพิจารณาจาก สนช.ขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงลงพระปรมาภิไภย ภายใน 90 วันเมื่อทรงพระราชทานลงมาแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนเลือกตั้งภายใน 150 วัน

สิ่งที่ชัดเจนจากปาก นายวิษณุ อีกประการ คือ การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นหลังพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 10 ซึ่งจะเป็นเมื่อใดนั้นจะเป็นไปตามพระฤกษ์ที่จะมีการกำหนดอีกครั้ง

“แน่นอนการเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นแทรกเข้ามาในช่วงเวลาอย่างนี้เป็นอันขาด แต่เมื่อไปถึงช่วงหนึ่ง แม้จะยังไม่เลือกตั้ง คงจะประกาศวันเลือกตั้งล่วงหน้าได้ จะปล่อยให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมต่างๆได้ ทั้งตั้งพรรค ประชุมพรรค หาหัวคะแนน หาเสียง โดยยังไม่ยุ่งเกี่ยวอะไรกับวันเลือกตั้ง” นายวิษณุ ระบุ

นี่คือความชัดเจนเกี่ยวกับกำหนดวันเลือกตั้งที่ยังไม่มีความชัดเจน


You must be logged in to post a comment Login