วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

Oh my god! / โดย ลอย ลมบน

On January 10, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : ลอย ลมบน

ใครได้อ่านข่าวนี้ก็ต้องอุทานว่า Oh my god!

จะไม่ให้อุทานได้อย่างไรไหว เมื่อนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยผลสรุปงบประมาณและปริมาณการกำจัดผักตบชวาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555-2559

โอ้แม่เจ้า! ช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เราใช้งบประมาณแผ่นดินซึ่งมาจากเงินภาษีประชาชนในการกำจัดผับตบชวาสูงถึง 2,500 ล้านบาท (อ่านว่าสองพันห้าร้อยล้านบาท)

เงินจำนวนนี้เราสามารถกำจัดผักตบชวาได้ 24 ล้านตัน

ลองเอาจำนวนงบประมาณที่ใช้ไปกับจำนวนผักตบชวาที่กำจัดได้มาบวกลบคูณหารกันดูว่าใช้งบประมาณกำจัดผักตบชวาต่อตันไปเท่าไร

แถมการกำจัดผักตบชวาต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี

การจัดสรรงบประมาณกำจัดผักตบชวามีหน่วยงานหลักที่ได้รับเงินส่วนนี้ไปดำเนินการคือ กรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร และกรมทรัพยากรน้ำ

ทั้งนี้ ดูเหมือนว่าการกำจัดผักตบชวาจะเป็นงานที่ไม่มีวันจบสิ้น เราต้องเสียงบประมาณในการดำเนินการทุกปี ไม่รู้ว่ากว่าผักตบชวาต้นสุดท้ายจะถูกกำจัดให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย เราต้องเสียงบประมาณกันกี่หมื่นกี่แสนล้าน และต้องใช้เวลาอีกกี่ปีจึงจะกำจัดได้หมด

ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณอย่างนายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ออกมาชี้แจงว่า

“ขณะนี้ไม่ได้ของบกำจัดผักตบชวาเพิ่ม ที่ทำล่าสุดเป็นโครงการจิตอาสาประชารัฐทำร่วมกับท้องถิ่น และจากการสำรวจผักตบชวาขณะนี้มีจำนวน 6.2 ล้านตัน ได้กำจัดไปแล้วประมาณ 2.5 ล้านตัน หรือประมาณ 40% คิดว่าภายในเดือนมีนาคมน่าจะกำจัดหมด

ประเด็นคือ หากจะกำจัดหมดทุกต้นคงเป็นไปไม่ได้ ที่ผ่านมาเรากำจัดใหญ่แบบบิ๊กคลีนนิ่ง หลังจากนั้นเป็นการดูแลแบบเก็บเล็ก ซึ่งท้องถิ่นต้องช่วยกันเก็บตลอดเวลาเหมือนที่จังหวัดนครนายกทำ เมื่อกำจัดครั้งใหญ่แล้ว พอมีผักตบชวาเกิดขึ้นก็ต้องรีบเก็บ เพราะผักตบชวาเติบโตเร็ว มีเกือบทุกพื้นที่ บางครั้งอยู่ในที่เอกชนการสำรวจอาจจะตกหล่น แต่ที่เป็นแหล่งน้ำสาธารณะได้สำรวจมาหมดแล้ว และกำลังทำงานอยู่”

นั่นเป็นคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณกำจัดผักตบชวา

เป็นเหตุผลที่รับฟังได้หรือไม่ ประชาชนผู้เสียภาษีอย่างเราต้องใช้สะดือตรอง

อย่างไรก็ตาม จากคำชี้แจงของอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองจะเห็นว่าการกำจัดผักตบชวาเป็นงานที่ต้องทำตลอดชาติไม่มีวันจบ และไม่มีวันที่ผักตบชวาจะหมดไปจากแหล่งน้ำลำคลองของไทย ดังนั้น จึงต้องทำกันต่อไป และเมื่องานยังมีทำต่อเนื่องไปยาวๆ งบประมาณก็ต้องถูกจัดสรรเพื่อการนี้ต่อไปอีกยาวๆด้วยเช่นกัน

ที่นายมณฑลบอกว่าผักตบชวาขยายพันธุ์ได้เร็วเป็นเรื่องจริง หากไม่กำจัดอย่างต่อเนื่อง แม้จะทำบิ๊กคลีนนิ่งไปแล้ว แต่หากละเลยก็จะกลับเต็มแม่น้ำลำคลองอีก

ถ้ามองอย่างเข้าใจธรรมชาติก็ต้องยอมรับความจริงว่าไม่มีทางกำจัดผักตบชวาให้หมดไปได้อย่างเด็ดขาด

ทำให้ต้องเข้าใจและยอมรับความจริงว่าเราต้องเสียงบประมาณในการกำจัดผักตบชวาต่อไป โดยไม่รู้ว่าเมื่อไรจะไม่ต้องจัดงบประมาณเพื่อการนี้

หากมองในแง่ลบก็อาจคิดได้ว่านี่เป็นช่องว่างที่จะทำให้คนไม่ดีใช้หากินกับงบประมาณในการกำจัดผักตบชวาได้

งบกำจัดผักตบชวาเป็นเหมือนขุมทรัพย์ของคนคิดไม่ซื่อ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณนี้จะทุจริตคิดไม่ซื่อกันทุกคน

หากจะกำจัดผักตบชวาให้สิ้นซากต้องทำเป็นวาระแห่งชาติ

แม้จะต้องจัดงบประมาณก้อนใหญ่ก็ต้องยอม แต่จะต้องเป็นการจัดงบประมาณก้อนสุดท้ายสำหรับเรื่องนี้

แม้จะดูเป็นเรื่องที่บ้าไปหน่อย เป็นแนวคิดเผด็จการไปนิด แต่ชักเห็นด้วยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่พูดไว้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมปีที่แล้วว่า

“ขนาดปัญหาผักตบชวายังต้องสั่งการเอง ถ้าทุกคนเห็นแล้วเก็บกันคนละต้นปัญหานี้คงหมดไปนานแล้ว ก่อนหน้านี้มี พ.ร.บ. เกี่ยวกับผักตบ ปี 2456 แต่ก็ยกเลิกไป จะเอาหรือไม่ถ้าใครปล่อยให้มีผักตบอยู่ในบ้านต้องถูกปรับต้นละ 100 บาท ทำไมต้องให้สั่งทุกเรื่อง เพราะท้ายที่สุดผักตบก็ไหลลงคลอง ทำให้น้ำไม่ระบาย แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร ใช้คนกี่คน ทหารไม่ต้องทำงานอื่นเลยหรือ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่เองก็ทำงานไม่ไหว ปัญหาผักตบต้องถูกกำจัดอย่างมีคุณภาพ ยั่งยืน เพราะ 1 ต้นสามารถกระจายเป็น 100 ต้นภายใน 30 วันโดยการแพร่เกสร การแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดคือต้องเก็บมันขึ้นมาคนละต้น”

ย้อนไปดูพระราชบัญญัติสำหรับการกำจัดผักตบชวา พ.ศ. 2456 ที่ยกเลิกไป มีข้อที่น่าสนใจดังนี้

มาตรา 3 เมื่อได้ประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ในที่ใด ถ้าในที่นั้นผักตบชวาเกิดขึ้น หรือมีอยู่ในที่ของผู้ใด ให้ถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้อยู่ในที่นั้นจะต้องทำลายผักตบชวาตามความในพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 4 ถ้าผักตบชวามีอยู่ในที่ใดมากมายเกินกำลังของผู้อยู่ในที่นั้นจะกำจัดได้ ให้เจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่เรียกระดมแรงราษฎรช่วยกันกำจัด ให้ถือว่าการกำจัดผักตบชวาเป็นสาธารณประโยชน์อย่างหนึ่ง

มาตรา 5 วิธีกำจัดผักตบชวานั้น ให้เก็บเอาผักตบชวาขึ้นไว้บนบกผึ่งให้แห้งแล้วเผาไฟเสีย

มาตรา 6 ผู้ใดไม่กระทำตามหน้าที่แลคำสั่งในการที่ได้กล่าวมาในมาตรา 3, มาตรา 4, มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัตินี้ ผู้นั้นมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษปรับครั้งหนึ่งเป็นเงินไม่เกินสิบบาท หรือจำคุกไม่เกินเจ็ดวัน หรือทั้งปรับแลจำด้วยทั้งสองสถาน

มาตรา 7 ผู้ใดพาผักตบชวาเข้าไปในเขตท้องที่ซึ่งใช้พระราชบัญญัตินี้ก็ดี ปลูกหรือเลี้ยงหรือปล่อยให้ผักตบชวางอกงามในที่ห้ามตามพระราชบัญญัตินี้ก็ดี หรือเอาผักตบชวาทิ้งลงในแม่น้ำลำคลองห้วยหนองใดๆก็ดี ผู้นั้นมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษปรับครั้งหนึ่งเป็นเงินไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับแลจำด้วยทั้งสองสถาน

ถ้าไม่อยากทิ้งงบประมาณละลายแม่น้ำไปกับการกำจัดผักตบชวาทุกปี และมีแนวโน้มว่าจะต้องเพิ่มงบกับงานนี้ทุกปี บางทีการรื้อฟื้นพระราชบัญญัติสำหรับการกำจัดผักตบชวา พ.ศ. 2456 ขึ้นมาปัดฝุ่นใช้ใหม่โดยปรับแก้ให้เข้ากับยุคสมัยจะเป็นทางออกที่น่าสนใจ

ไม่รู้ว่าผู้มีอำนาจทั้งหลายจะสนใจจริงจังกับเรื่องนี้หรือเปล่า หรือพอใจกับการจัดงบประมาณไปกำจัดผักตบชวาอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุดต่อไป


You must be logged in to post a comment Login