วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

อนาคตในกับดักของอดีต? / โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

On January 10, 2017

คอลัมน์ : ทรรศนะแสงสว่าง
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์

ทันทีที่เริ่มต้นปีใหม่ในวันแรก 1 มกราคม 2560 ก็มีแถลงข่าวจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า “อาจจะจัดเลือกตั้งไม่ทันในปี 2560” นับเป็นการขยันสร้างผลงานตั้งแต่วันแรกของปี แม้จะเป็นวันหยุดก็เร่งรีบประกาศให้ทราบ แต่เป็นการเร่งรีบให้ทราบถึง “ความล่าช้า” ต่างอย่างสิ้นเชิงกับการรวบรัดในการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เพื่อให้การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชเป็นไปได้ตามความประสงค์ของผู้มีอำนาจ

ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนความมั่นใจในอำนาจของรัฐบาล คสช. ที่เชื่อว่า “เอาอยู่” ทั้งการเมืองทางโลกและการเมืองทางสงฆ์ โดยการ “เอาอยู่” ไม่จำเป็นต้องอธิบายว่าอยู่บน “มาตรฐาน” อะไร ดังเช่นการจับกุม “ไผ่ ดาวดิน” ในความผิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพียงคนเดียวจากคนที่แชร์ข่าวต้องห้ามหลายพันคน และสื่อที่เผยแพร่ข่าวก็ไม่ได้มีความผิด อีกทั้งการถอนสิทธิประกันตัวด้วยข้อกล่าวหา “เย้ยหยันอำนาจรัฐ” ก็ไม่ใช่ข้อกล่าวหาที่มีอยู่ในฐานความผิดของกฎหมายใดๆ

เช่นเดียวกับการแจ้งข้อหากว่าร้อยคดีในกรณีวัดพระธรรมกายก็ดำเนินไปบนความมั่นใจในอำนาจภายใต้ข้ออ้างการบังคับใช้กฎหมายที่ถูกสังคมตั้งคำถามตลอดมาว่า เป็นการบังคับใช้กฎหมายบนหลัก “ความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย” กับทุกฝ่ายหรือไม่

กรณีจับกุมและถอนสิทธิประกันตัวไผ่ ดาวดิน สะท้อนความกลัวอนาคตที่ต่างไปจากอดีต นั่นคืออนาคตของคนรุ่นใหม่ที่ปรารถนาเสรีภาพและประชาธิปไตย ดังที่อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ พูดเสมอว่า “สังคมอารยะจะไม่เอาคนหนุ่มสาวของตนเองไปกักขังเพียงเพราะเขามีความคิดที่แตกต่างจากผู้มีอำนาจ”

ขณะที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ มองอย่างสอดคล้องกันว่า “เพราะคนหนุ่มสาวแบบนี้ไม่ใช่หรือที่จะสร้างคำถามใหม่และคำตอบใหม่ให้แก่สังคมในอนาคต การจับกุมคุมขังหรือปิดปากคนหนุ่มคนสาวคือการทำให้สังคมไม่มีวันที่จะได้เผชิญกับคำถามใหม่และคำตอบใหม่ สังคมนั้นจึงถูกสาปให้วนเวียนอยู่กับปัญหาเก่าและทางออกเก่า ซึ่งไม่ตอบปัญหาไปตลอด และเสื่อมลงจนไร้อารยธรรมในที่สุด”

การปิดปากและจับกุมคุมขังคนหนุ่มสาวเท่ากับเป็นการปิดกั้นอนาคตที่ก้าวหน้า แต่นี่คือวิถีแห่งการเมืองไทยในปัจจุบัน เป็นวิถีที่กักขังอนาคตไว้ใน “กับดักแห่งอดีต” เป็นอดีตที่สวยงามในจินตนาการของคนแก่ที่กลัวการเปลี่ยนแปลง

ที่ว่าเป็นกับดักแห่งอดีตในจินตนาการคนแก่ที่กลัวการเปลี่ยนแปลง เพราะการกระทำต่อไผ่ ดาวดิน ไม่ได้วางอยู่บนพื้นฐานของคุณค่าแบบอดีตและคุณค่าสมัยใหม่เลย กล่าวคือ การคุมขังเด็กหนุ่มคนหนึ่งเพียงเพราะแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติไม่สามารถอ้างได้ว่าเป็นการกระทำตามคุณธรรมของผู้ปกครองแบบโบราณตามคำสอนของพุทธศาสนาได้เลย ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่าถูกหลักความยุติธรรมภายใต้ระบบนิติรัฐในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ การคุมขังไผ่ ดาวดิน เกิดจาก “ความกลัว” อนาคตล้วนๆ เป็นความกลัวอนาคตที่อยู่บนฐานความเชื่อมั่นในอำนาจที่มีอยู่

ส่วนการแก้กฎหมายเรื่องแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชก็คือการแสดงอำนาจแบบอดีตโดยตรง เป็นอำนาจอาณาจักรที่ผูกขาดการควบคุมศาสนจักรมาแต่ยุคเก่า คือยุคก่อน 2475 ย้อนไป ทำให้เห็นชัดว่าอนาคตของคณะสงฆ์และพุทธศาสนาไทยถูกตรึงอยู่กับอำนาจแบบอดีตเสมอมา

ทั้งนี้เพราะสังคมไทยนับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่มีการตั้งคำถามอย่างจริงจังว่า “รัฐสมัยใหม่ควรมีหน้าที่ทางศาสนาอย่างไร” เรามีคำตอบสำเร็จรูปว่า รัฐไทยสมัยใหม่ต้องควบคุมคณะสงฆ์และอุปถัมภ์พุทธศาสนาแบบเดียวกับรัฐสมัยเก่า

ขณะที่พระสงฆ์เองแม้ต้องการจะมีปากมีเสียงและมีสิทธิเสนอชื่อพระเถระที่สมควรเป็นประมุขของพระสงฆ์ทั้งประเทศ แต่ก็ไม่เคยคิดจะแยกศาสนจักรเป็นอิสระจากรัฐเพื่อที่พระสงฆ์กลุ่มต่างๆ นิกายต่างๆ จะมีสิทธิเลือกผู้นำของตนเองภายใต้ระเบียบใหม่ วิธีการแบบใหม่ที่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ดังเช่นในโลกตะวันตกที่มีการแยกศาสนจักรจากการเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างการปกครองของรัฐ ทำให้ศาสนจักรเป็นองค์กรเอกชนและมีอิสระปกครองกันเองภายใต้ข้อตกลงร่วมกันของแต่ละนิกาย

เมื่อเป็นเช่นนี้อนาคตของคณะสงฆ์และพุทธศาสนาไทยจึงติดกับดักแห่งอดีต ถูกกำหนดด้วยอำนาจและวิถีคิดแบบอดีต เป็นพุทธศาสนาเพื่ออดีตมากกว่าจะเป็นพุทธศาสนาเพื่ออนาคต ผิดกับการค้นพบสัจธรรมของพุทธะที่ไม่ใช่การค้นพบสัจธรรมเพื่ออดีต แต่เป็นการค้นพบสัจธรรมเพื่อปัจจุบันและอนาคตที่ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม สรรพสิ่งล้วนอยู่ภายใต้กฎของความเปลี่ยนแปลง ประวัติศาสตร์รัฐประหารครั้งต่างๆที่ผ่านมาที่พยายามตรึงสังคมให้อยู่กับอดีต ในที่สุดก็ไม่สามารถตรึงอยู่ได้ตลอดไป เพราะสภาพสังคม เศรษฐกิจ วิถีชีวิตแบบสมัยใหม่ของผู้คน ล้วนมีลักษณะก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา ศาสนาก็เช่นกัน แม้จะเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ แต่ก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีอะไรคงเดิมอย่างแท้จริง

สักวันหนึ่งกลุ่มอำนาจที่พยายามตรึงสังคมให้ติดกับดักแห่งอดีตก็คงต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของพวกเขา ดังเช่นอดีตผู้นำเผด็จการของไทยและของหลายๆประเทศในโลก


You must be logged in to post a comment Login