วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

‘รถตุ๊กตุ๊ก’รุกตลาดโลก

On January 9, 2017

นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะจากยุโรปและสหรัฐ เดินทางมาเยือนไทยโดยมีสิ่งหนึ่งบันทึกไว้ในโปรแกรมท่องเที่ยวว่า “ต้องใช้บริการ” ไม่เช่นนั้นจะทำให้รู้สึกว่า “มาไม่ถึงไทย”

นั่นคือการนั่งรถตุ๊กตุ๊กตระเวนชมกรุงเทพฯ ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติรู้สึกว่า มันให้อารมณ์คล้ายนั่งรถสปอร์ตเปิดประทุน เนื่องจากได้สัมผัสอากาศธรรมชาติ ได้รับรู้กลิ่นไอท้องถิ่นเต็มรูปแบบ

เสน่ห์ดังกล่าวของตุ๊กตุ๊ก ทำให้ยานยนต์เล็กประเภทนี้ของไทย เป็นที่รู้จักกว้างไกลไปหลายประเทศ ก่อให้เกิดการเลียนแบบ ใช้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการท่องเที่ยว และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

จริงแล้ว ถิ่นที่เป็นต้นตำรับยานยนต์ประเภทนี้มีหลายประเทศ เช่น อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งใช้ชื่อในภาษาท้องถิ่นแตกต่างกันไป

ปัจจุบัน ตุ๊กตุ๊กกลายเป็นแท็กซี่และรถโดยสารทางเลือกใหม่ในหลายประเทศ ทำให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตส่งออก โดยอินเดียครองความเป็นเจ้าตลาดตามด้วยจีน ขณะชื่อในประเทศส่วนใหญ่ใช้คำว่า “ตุ๊กตุ๊ก”

ฝรั่งเศสนำเข้าตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าจากไทยเมื่อ 6 ปีที่แล้ว นำไปให้บริการนักท่องเที่ยวในกรุงปารีสโดยทีมงาน Allo Tuktuk ปรากฏว่าได้รับความนิยมเกินคาด ทำให้ตุ๊กตุ๊กกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของสถานที่ท่องเที่ยวกรุงปารีสหลายแห่งมาถึงปัจจุบัน

เนเธอร์แลนด์มีตุ๊กตุ๊กเช่นกัน แต่ผลิตใช้เองโดยบริษัท Tuk Tuk Factory เช่นเดียวกับสหรัฐที่ผลิตใช้ในประเทศเองโดยบริษัท eTuk USA

ตลาดสำคัญของตุ๊กตุ๊กที่ขยายตัวต่อเนื่อง อยู่ที่ทวีปแอฟริกา ปัจจุบันมีใช้เป็นแท็กซี่และรถโดยสารหลายประเทศ ประกอบด้วยอียิปต์ กาน่า แทนซาเนีย เอธิโอเปีย ไนจีเรีย ซูดาน ไลบีเรีย กินี และแอฟริกาใต้

ประเทศแอฟริกาส่วนใหญ่ ใช้ตุ๊กตุ๊กเป็นรถโดยสารแทนมอเตอร์ไซค์ เนื่องจากประหยัดค่าใช้ด้านเชื้อเพลิง มีความสะดวกสบาย ค่าโดยสารถูกกว่ารถยนต์โดยสาร 4 ล้อ และปลอดภัยกว่ามอเตอร์ไซค์

ที่ไลบีเรีย รถโดยสารตุ๊กตุ๊ก ซึ่งมีชื่อในท้องถิ่นว่า “เกเก้ห์” กลายเป็นอาชีพสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากการจ้างงานในตำแหน่งคนขับแล้วกว่า 5,000 ตำแหน่ง

กระแสความนิยมตุ๊กตุ๊กตามที่ระบุ เป็นความเคลื่อนไหวน่าสนใจเกี่ยวกับยานยนต์ “กึ่งแฟชั่น” ที่ส่วนใหญ่ใช้ในเมือง และสถานที่ท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม มองในมุมส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ แม้ไทยจะเป็นถิ่นตุ๊กตุ๊กเลื่องชื่ออันดับต้นๆ ของโลก แต่ดูเหมือนไม่มีแผนส่งออกตุ๊กตุ๊กอย่างจริงจัง

ทำให้อินเดียและจีนครองตลาดรถคลาสสิกน่ารักประเภทนี้ได้อย่างมั่นคง 


You must be logged in to post a comment Login