วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

คนดีทางศาสนา / โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

On December 26, 2016

คอลัมน์ : ทรรศนะแสงสว่าง
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์

เราต่างคุ้นเคยกับคำพูดที่ว่า “ทุกศาสนาล้วนสอนให้คนเป็นคนดี” ด้วยเหตุนี้ศาสนาจึงไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะเมื่อศาสนาสอนให้คนเป็นคนดีก็แปลว่าศาสนามีประโยชน์ต่อสังคม หากสังคมไม่มีศาสนาแล้วจะอาศัยอะไรสร้างสมาชิกของสังคมให้เป็นคนดี และถ้าสังคมขาดคนดีจะสงบสุขได้อย่างไร

“คนดีทางศาสนา” คือคนเช่นไร ถ้านิยามตรงไปตรงมาก็คือ คนที่ทำตามคำสอนของศาสนาหรือมีศีลธรรมแบบศาสนา โดยคนที่จะมีศีลธรรมแบบศาสนาได้ก็คือคนที่นำคำสอนของศาสนาที่ตนนับถือมาเป็นกรอบคิดในการมองโลก มองชีวิต และเป็นแนวปฏิบัติเพื่อการมีชีวิตที่ดีตามที่ศาสนานั้นๆสอนไว้ แล้วคนดีทางศาสนาดังกล่าวคือสมาชิกที่ดีของสังคมจริงหรือ

คำตอบอยู่ที่ว่าเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมแบบไหน ถ้าเป็นสังคมโบราณซึ่งมักเป็น “สังคมศาสนา” คนดีทางศาสนาย่อมเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมเช่นนั้น เพราะในสังคมศาสนาบางแห่งถือว่าผู้ปกครองใช้อำนาจปกครองในนามของพระเจ้า การเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมเช่นนี้ก็ต้องเป็นคนที่เชื่อฟังอำนาจของผู้ปกครองที่ใช้อำนาจนั้นในนามพระเจ้า ขณะที่บางสังคมมีระบบวรรณะ 4 ที่ถือว่าพระพรหมสร้างขึ้นมา สมาชิกที่ดีของสังคมเช่นนี้คือคนที่รู้หน้าที่ตามวรรณะของตนโดยปราศจากข้อโต้แย้ง ส่วนสังคมบางแห่งถือว่าผู้ปกครองคือผู้บำเพ็ญบุญบารมีมามาก มีคุณธรรมสูงส่งกว่าคนทั่วไป สมาชิกของสังคมเช่นนี้ก็ต้องจงรักภักดีต่อผู้ปกครองเพื่อพึ่งบุญบารมี ฉะนั้นในสังคมศาสนาดังกล่าวมานี้ ศาสนาย่อมมีบทบาทสำคัญในการสร้างสมาชิกของสังคมให้เป็นคนดีที่เชื่อฟังผู้ปกครอง

ในสังคมสมัยใหม่ที่ไม่ใช่สังคมศาสนา สมาชิกที่ดีของสังคมคือ “คนดีทางศาสนา” หรือไม่ ปัญหานี้ไม่ใช่ตอบง่ายๆแค่บอกว่า ในเมื่อศาสนาสอนคนให้เป็นคนดีแล้ว คนดีทางศาสนาหรือคนที่มีศีลธรรมตามคำสอนศาสนาจะไม่ใช่สมาชิกที่ดีของสังคมสมัยใหม่ได้อย่างไร คำพูดเช่นนี้ไม่น่าจะเพียงพอ เพราะการเป็นสมาชิกที่ดีหรือเป็น “พลเมืองดี” ของสังคมสมัยใหม่นั้นต้องการสำนึกแบบใหม่ที่เป็นสากลมากกว่าสำนึกตามความเชื่อเฉพาะทางศาสนาต่างๆ

เราจะเข้าใจประเด็นดังกล่าวได้ดีเมื่อเรานึกถึงตัวอย่างคนดีทางศาสนาที่โลกรู้จักมากที่สุดคือ “มหาตมะ คานธี” ภาพลักษณ์ของคานธีที่สมถะเรียบง่าย ปฏิบัติตามหลักศีลธรรมศาสนาอย่างเข้มงวด ขณะเดียวกันก็นำหลักความเชื่อทางศาสนามาใช้ต่อสู้ทางการเมืองในเรื่อง “อหิงสา-สัตยาเคราะห์” และ “อารยะขัดขืน” จนมีส่วนสำคัญให้อินเดียมีอิสรภาพจากการตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ

นอกจากนั้นคานธียังแสดงออกถึงการมี “ขันติธรรม” ระหว่างศาสนา คือเป็นผู้มีจิตใจเปิดกว้างและอดกลั้นต่อความแตกต่างทางศาสนา คานธีเห็นอกเห็นใจคนยากจน คนชั้นล่างของสังคม และต่อสู้เพื่อให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในเรื่องอาชีพการงานและเศรษฐกิจ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งคานธีก็ปกป้องระบบวรรณะตามความเชื่อของศาสนาฮินดูที่สืบทอดมาหลายพันปี ดังที่จรัญ มะลูลีม เขียนไว้ในหนังสือ “อินเดียศึกษา” อ้างถึงคำพูดของคานธีตอนหนึ่งว่า

“ข้าพเจ้าเป็นคนหนึ่งที่ไม่ถือว่าชั้นวรรณะเป็นสถาบันที่เต็มไปด้วยอันตราย ประการแรก ชั้นวรรณะเป็นขนบธรรมเนียมและสนับสนุนให้กินดีอยู่ดีขึ้นในชาติ ตามความคิดเห็นของข้าพเจ้า ความคิดที่ว่าการกินอาหารร่วมกันหรือการแต่งงานกันระหว่างคนต่างวรรณะเป็นความจำเป็นต่อความเจริญงอกงามของชาตินั้นเป็นความคิดแบบไสยศาสตร์ที่หยิบยืมมาจากตะวันตก…”

จะเห็นว่าเพื่อปกป้องประเพณีชั้นวรรณะตามความเชื่อทางศาสนา คานธีถึงขนาดสร้าง “ผีตะวันตก” ว่าการกินอาหารร่วมกันและแต่งงานกันของคนต่างวรรณะเป็น “ความคิดแบบไสยศาสตร์” ซึ่งอันที่จริงแล้วหลายๆเรื่องที่คานธีวิจารณ์ตะวันตกก็เป็นเรื่องที่มีเหตุผล เช่นเรื่องการทำสงครามและอื่นๆ แต่การมองว่าการกินอาหารและแต่งงานร่วมกันของคนต่างวรรณะเป็นความคิดแบบไสยศาสตร์ออกจะเป็นการสร้างผีตะวันตกขึ้นมาหลอกพวกเดียวกันเองมากเกินไป

ตรงข้ามกับอัมเบดการ์ซึ่งเป็นคนวรรณะจัณฑาลที่ประกาศตนเป็นผู้นำชาวพุทธและเป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของอินเดียที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่งของโลก และยังใช้มาจนถึงปัจจุบันโดยมีการแก้ไขปรับปรุงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวระบุด้วยว่า ประเทศอินเดียเป็น “รัฐฆราวาส” (secular state) ตัวอัมเบดการ์เองเสนอให้เลิกระบบวรรณะ เรียกร้องความเสมอภาคแก่ประชาชนชาวอินเดีย

แต่เราก็ไม่ควรสรุปง่ายๆว่าเป็นเพราะอัมเบดการ์นับถือศาสนาพุทธ ความจริงคือเขามีอุดมการณ์ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว และเห็นว่าพุทธศาสนามีเนื้อหาที่เข้ากันได้กับประชาธิปไตยมากกว่าฮินดู เขาจึงเลือกนับถือพุทธศาสนา และตีความพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

ปัญหาของคานธีคือ แม้จะเป็นคนดีทางศาสนาที่ดีมากๆ แต่ถึงที่สุดแล้วในการนำศาสนามาต่อสู้ทางการเมือง คานธีก็ก้าวไปไม่ถึงหลักการสากลคือหลักสิทธิมนุษยชน เขายังยึดถือความเชื่อทางศาสนาซึ่งเป็นความเชื่อเฉพาะบุคคลและกลุ่มบุคคลให้เป็นสิ่งสำคัญมาก่อน (priority) หลักการสากล แต่อัมเบดการ์ทำตรงข้ามกับคานธี คือถือว่าหลักการสากลเป็นสิ่งสำคัญมาก่อนความเชื่อทางศาสนา เขาจึงตีความศาสนาสนับสนุนหลักการสากล

ฉะนั้นในสังคมสมัยใหม่ หากศาสนาจะสร้างคนดีให้เป็นประโยชน์ทางสังคมก็ต้องสร้างคนดีที่มีสำนึกทางสังคมที่ให้ความสำคัญมาก่อนกับหลักการสากลมากกว่าความเชื่อทางศาสนา ซึ่งเป็นความเชื่อส่วนบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ไม่ใช่สร้างคนดีประเภทที่อ้างความเชื่อทางศาสนาสวนทางกับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างที่เห็นกันมากในบ้านเรา


You must be logged in to post a comment Login