วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

นักวิชาการต้องชี้นำสังคม! / โดย Pegasus

On December 19, 2016

คอลัมน์ : เพื่อชาติประชาชน
ผู้เขียน : Pegasus

เวลาแห่งการเลือกตั้งคงใกล้จะถึงแล้ว เหล่าทหารได้เวลากลับกรมกองแล้ว ต่อไปก็เหลือแต่นักการเมือง ทั้งพรรคการเมืองเดิมและพรรคการเมืองที่สนับสนุนทหาร โดยอาศัยเงื่อนไขรัฐธรรมนูญเรื่องสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จากการแต่งตั้งจำนวนมาก

เงื่อนไขในรัฐธรรมนูญที่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบนี้ หากจะหวังให้ฝ่ายพรรคการเมืองเป็นผู้อธิบายข้อเสียของรัฐธรรมนูญอย่างตรงไปตรงมาคงยาก เพราะบางพรรคการเมืองอาจหวังว่า ส.ว. จะเป็นฝ่ายของตนเอง หากทหารไม่มีบทบาทต่อไป พรรคการเมืองที่ได้เปรียบจาก ส.ว.แต่งตั้งนี้ก็จะมีผลกับฝ่ายที่จะขึ้นมามีอำนาจ สะท้อนถึงความพยายามใส่ร้ายป้ายสีระบบรัฐสภามาเป็นเวลาหลายสิบปีในเรื่องเผด็จการรัฐสภา ซึ่งอาจเกิดขึ้นจริงๆ เพราะเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญและฝ่ายพรรคประชานิยมก็เป็นไปได้ไม่ยากนัก

เมื่อรัฐธรรมนูญถูกเขียนเพื่อเอื้อให้เกิดเผด็จการรัฐสภา และทหารอาจไม่มีโอกาสทำรัฐประหารเพื่อให้ใครมาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้อีก เผด็จการฝ่ายพลเรือนก็จะอยู่ได้ยาว แม้ประชาชนจะเลือกพรรคการเมืองใหม่ตามวาระก็ตาม อำนาจก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม พรรคเสียงข้างน้อยอาจจัดตั้งรัฐบาลแทนพรรคเสียงข้างมาก ซึ่งขัดกับเจตนาของประชาชนและระบอบประชาธิปไตย

เมื่อไม่อาจให้พรรคการเมืองเป็นผู้เผยแพร่ วิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญ นักวิชาการจึงควรรับหน้าที่นี้ ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็บอกว่าอยากรับฟังเสียงวิจารณ์อยู่แล้ว ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือรัฐบาลเองก็คงไม่ขัดข้องเมื่อถึงเวลานี้

เดิมนักวิชาการเคยเคลื่อนไหวเรื่องรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อมีการรัฐประหารกลับเงียบหายไป เพราะ คสช. ต้องการควบคุมสถานการณ์จนกว่าจะถึงการเปลี่ยนผ่าน มาบัดนี้ภารกิจดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว นักวิชาการควรเปิดตัวเข้ามาอธิบายว่ารัฐธรรมนูญที่ดีคืออะไรอีกครั้ง

เหตุผลที่ต้องมีการเปรียบเทียบและอธิบายเรื่องรัฐธรรมนูญอีกครั้ง เพราะหลังจากการเลือกตั้งผ่านไปจะมีการนำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาใช้บังคับ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสืบทอดอำนาจของการรัฐประหารเนื่องจากความจำเป็นพิเศษที่ทราบกันดีแล้ว แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว ความจำเป็นที่จะมีรัฐธรรมนูญแปลกประหลาดเช่นนี้ก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เมื่อเป็นเช่นนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงสมควรเกิดขึ้น

นอกจากนี้การวิจารณ์ข้อดีข้อเสียของรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้นก็จะทำให้การนำรัฐธรรมนูญมาใช้ไม่ออกนอกลู่นอกทางมากเกินไปจนกว่าจะมีการแก้ไขตามที่สมควรจะเป็น

เวลานี้นักวิชาการจึงสมควรช่วยกันอธิบายที่มาที่ไปของ ส.ว. ว่าควรเป็นอย่างไร การแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยที่เป็นสากลนั้นเป็นอย่างไร องค์กรอิสระควรมีขอบเขตแค่ไหนจึงจะเหมือนนานาอารยประเทศที่เป็นแบบฉบับ

เสรีภาพของประชาชนควรมีข้อจำกัดมากน้อยแค่ไหนจึงจะไม่ถือว่าเป็นการรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลและการสื่อสารไม่ควรถูกปิดกั้นนั้นเป็นอย่างไร

ความยุติธรรมจะมีหลักประกันให้กับประชาชนอย่างไร และหลักการประชาธิปไตยที่เป็นสากลเป็นอย่างไร ทั้งหมดก็เพื่อยุติการโหมกระพือให้คนในชาติเกิดความเกลียดชังกันด้วยข้อมูลที่เป็นเท็จ

จึงถึงเวลาแล้วที่นักวิชาการควรตื่นจากการจมอยู่กับอดีตอันขื่นขม และออกมาชี้นำสังคมเพื่อเสริมสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงให้เกิดขึ้น ชักนำสังคมไทยให้พ้นจากความเกลียดชังและเกิดความสามัคคีกันอีกครั้งบนพื้นฐานของหลักการที่ใช้เหตุผลแทนการปลุกระดมจากทุกฝ่าย


You must be logged in to post a comment Login