วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2567

ญี่ปุ่นเผชิญวิกฤตแรงงาน / โดย กองบรรณาธิการ

On December 16, 2016

คอลัมน์ : รายงาน
ผู้เขียน : กองบรรณาธิการ

ญี่ปุ่นเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานเพิ่มมากขึ้น สาเหตุหลักเกิดจากการเป็นประเทศสังคมสูงวัย จำนวนคนวัยทำงานลดต่ำ โดยธุรกิจโรงแรม ภาคบริการขนส่งโดยสาร งานดูแลคนชรา ธุรกิจร้านอาหาร และอุตสาหกรรมก่อสร้าง ได้รับผลกระทบมากที่สุด

นอกจากการเป็นประเทศสังคมสูงวัยแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งของปัญหา เกิดจากคนวัยหนุ่มสาวเลือกอาชีพ โดยส่วนใหญ่จะเลือกงานออฟฟิศ และงานที่เหนื่อยน้อยแต่ค่าตอบแทนดี

ด้วยปัญหานี้ ผู้ประกอบการธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหารขนาดใหญ่ มีสาขาหลายแห่งทั่วประเทศ ต่างปรับกลยุทธ์เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้

หลายบริษัทที่ขาดแคลนบุคลากร ใช้วิธีปรับขึ้นค่าจ้าง เพื่อจูงใจผู้หางาน และมัดใจลูกจ้างที่อยู่ปัจจุบันไม่ให้ลาออก ขณะบางบริษัทใช้วิธีลดเวลาทำงานลง เช่น กลุ่มภัตตาคาร Royal Host ลดเวลาทำงานจาก 24 ชั่วโมงลง 2 สาขา ที่โตเกียวและโอซาก้า

มาตรการอีกส่วนหนึ่งที่ใช้แก้ปัญหา คือทำสัญญาระยะยาวกับลูกจ้าง และจ้างนักศึกษาต่างชาติมาทำงานพาร์ตไทม์ แต่การจ้างนักศึกษาต่างชาติมีข้อจำกัด เนื่องจากกฎหมายอนุญาตให้ทำงานได้เพียงสัปดาห์ละไม่เกิน 28 ชั่วโมง

ส่วนภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งชาวญี่ปุ่นมองว่า เป็นอาชีพ “งานมาก เงินน้อย และจำนวนวันให้ลาพักร้อนน้อย” ทำให้หาคนงานยาก อัตราการเปิดรับคนงานในเดือนตุลาคม อยู่ที่ 6 ต่อ 1 หมายถึงผู้หางาน 1 คน มี 6 บริษัทเสนอรับเข้าทำงาน

ขณะงานดูแลคนชรา และธุรกิจร้านอาหาร อัตราการเปิดรับบุคลากร 3 ต่อ 1 ตรงกันข้ามกับงานออฟฟิศที่ผู้หางานต้องแย่งตำแหน่งงานกัน จากอัตราการเปิดรับบุคลากรเพียง 0.3 ต่อ 1

ภาคการเกษตรในชนบท ก็ประสบปัญหาเช่นกัน แต่รัฐบาลแก้ด้วยการอนุมัติให้จ้างบุคลากรต่างชาติที่จบปริญญาสาขาเกษตรศาสตร์ได้ โดยให้เข้าไปทำงานในเขตที่กำหนดไว้เป็นพิเศษ 5 จังหวัด คืออะคิตะ อิบาระกิ ไอจิ และนะงะซะกิ

สำหรับปัญหาขาดแคลนแรงงาน ไม่ใช่เรื่องใหม่ของญี่ปุ่น แต่สถานการณ์ในปีนี้หนักกว่าที่ผ่านมา และมีแนวโน้มขาดแคลนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

แนวทางแก้ปัญหาหนึ่งที่มองกันว่าง่าย คือการเปิดรับบุคลากรจากต่างประเทศ แต่ดูเหมือนญี่ปุ่นจะระมัดระวังมากต่อมาตรการนี้


You must be logged in to post a comment Login