วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2567

เวเนซุเอลาดัดหลังมาเฟีย / โดย กองบรรณาธิการ

On December 15, 2016

คอลัมน์ : รายงาน
ผู้เขียน : กองบรรณาธิการ

เมื่อเดือนที่แล้ว ผู้นำอินเดียใช้แผนฟ้าผ่าปราบคอร์รัปชันและขบวนการนอกกฎหมาย ด้วยการประกาศยกเลิกการใช้ธนบัตร 500 รูปี และ 1,000 รูปี โดยไม่บอกล่วงหน้า และให้ประชาชนนำธนบัตรดังกล่าวไปแลกเงินราคาอื่นที่ธนาคาร

การแลกเงินช่วงแรกๆเกิดความโกลาหลทั่วประเทศ เนื่องจากประชาชนตื่นตระหนก หวั่นธนาคารไม่มีเงินสำรองเพียงพอ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์คล้ายกันที่เวเนซุเอลา
โดยประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร ได้ออกกฤษฎีกายกเลิกธนบัตร 100 โบลิวาร์ มีผลบังคับใช้วันพุธที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา

สำหรับธนบัตร 100 โบลิวาร์ เป็นธนบัตรมีราคาสูงสุดเดิม ก่อนมีการพิมพ์ธนบัตรใหม่ออกมาทดแทน

ผู้นำเวเนฯ ระบุว่า มาตรการนี้เป็นแผนทำสงครามทางเศรษฐกิจกับมาเฟียข้ามชาติในโคลอมเบียและบราซิล ที่ทำให้เศรษฐกิจของเวเนฯ เสียหาย

ทั้งนี้ แก๊งมาเฟียข้ามชาติทำธุรกิจด้วยการกวาดซื้อธนบัตร 100 โบลิวาร์ ราคาถูกในตลาดมืด นำไปเก็งกำไรในลักษณะปั่นค่าเงิน ระหว่างเงินสกุลโบลิวาร์กับดอลลาร์สหรัฐ และเงินเปโซของโคลอมเบีย ทำให้ธนบัตร 100 โบลิวาร์ แทบไม่เหลืออยู่ในระบบ

มาดูโรคาดว่า แก๊งมาเฟียข้ามชาติมีเงินโบลิวาร์อยู่ในความครอบครองมากกว่า 300,000 ล้าน ส่วนใหญ่เป็นธนบัตร 100 โบลิวาร์

หลังประกาศยกเลิก ทางการเวเนฯ ได้กำหนดให้ประชาชนนำธนบัตร 100 โบลิวาร์ ไปแลกเงินราคาอื่นที่ผลิตออกมาใหม่ ภายใน 10 วัน นับจากวันนี้ (15 ธันวาคม)

เงินใหม่ที่ผลิตออกมารองรับ ประกอบด้วยเงินเหรียญ ธนบัตร 500 โบลิวาร์ และ 20,000 โบลิวาร์

อีกมาตรการหนึ่งที่ผู้นำเวเนฯ ใช้จัดการมาเฟียข้ามชาติกลุ่มนี้ คือระหว่าง 10 วัน ที่เปิดให้แลกเงินราคาอื่น ผู้นำเวเนฯ สั่งให้ปิดพรมแดนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นด่านบนบก ทางน้ำ และอากาศ กำชับเจ้าหน้าที่ด่านพรมแดนสกัดธนบัตร 100 โบลิวาร์ ไม่ให้เข้าประเทศ

เวเนฯ ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจมานาน นับจากราคาน้ำมันตกต่ำ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเผชิญความอดอยาก สินค้าอุปโภคบริโภคหลายอย่างขาดแคลน ต้องไปซื้อจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างโคลอมเบีย

นอกจากนั้น เวเนฯ ยังประสบปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง โดยเป็นประเทศเงินเฟ้อสูงสุดในโลกในปัจจุบัน คาดสิ้นปีนี้อัตราเงินเฟ้อจะพุ่งแตะ 475%

ด้วยสภาพข้าวยากหมากแพงดังกล่าว นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งจึงมองว่า การใช้มาตรการนี้มีแนวโน้มที่จะซ้ำเติมความเดือนร้อนของประชาชน

เพราะเชื่อว่า ภาคธนาคารและรัฐบาล อาจมีเงินสำรองให้แลกไม่เพียงพอต่อความต้องการ


You must be logged in to post a comment Login