วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

‘ฟิเดล คาสโตร’กับคิวบา / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

On December 5, 2016

คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โทรทัศน์ทางการของคิวบาได้ออกประกาศข่าวการอสัญกรรมของฟิเดล คาสโตร ซึ่งถือเป็นการปิดฉากผู้นำคนสำคัญของโลกในยุคสงครามเย็นคนหนึ่ง

ฟิเดล คาสโตร เกิดใกล้เมืองบิราน คิวบา ในวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ. 1926 บิดาคือ อังเกล คาสโตร ซึ่งเป็นเจ้าที่ดินและเจ้าของไร่อ้อยที่มั่งคั่ง มารดาเป็นเพียงคนรับใช้ที่เป็นภรรยาคนที่ 2 ของอังเกล ฟิเดล คาสโตร เติบโตในครอบครัวที่มั่งคั่งในคิวบาที่ยากจนมาก เข้าศึกษาวิชานิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยฮาวานา ได้รับอิทธิพลชาตินิยมและสังคมนิยม ทำให้มีความสนใจในเรื่องการเมืองมากขึ้น

ค.ศ. 1947 ฟิเดล คาสโตร เริ่มสนใจปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคม จึงได้เดินทางไปยังสาธารณรัฐโดมินิกันเพื่อเข้าร่วมขบวนการปฏิวัติโค่นล้มเผด็จการราฟาเอล ทรูจิลโล ที่ครองอำนาจมาตั้งแต่ ค.ศ. 1930 แต่ล้มเหลวตั้งแต่แรก ฟิเดล คาสโตร จึงเดินทางไปยังโบโกตาเพื่อร่วมในการปฏิวัติโคลอมเบีย จากนั้นก็กลับมาคิวบาเพื่อต่อต้านอำนาจของประธานาธิบดีฟัลเจนซิโอ บาติสตา

ค.ศ. 1952 ฟิเดล คาสโตร เตรียมลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ในเดือนมีนาคม พล.อ.บาติสตาก่อการยึดอำนาจ ล้มเลิกการเลือกตั้ง และสถาปนาเผด็จการ ปรากฏว่าระบอบการบริหารของบาติสตาได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ฟิเดล คาสโตร จึงรวมกำลังฝ่ายค้านเพื่อต่อต้านและวางแผนที่จะต่อสู้ด้วยอาวุธ วันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1953 ฟิเดล คาสโตร และพลพรรค 150 คน ได้โจมตีค่ายทหารที่มอนกาดา โดยหวังจะให้เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติ แต่ประสบความล้มเหลว ถูกจับกุมและถูกตัดสินจำคุก 15 ปี

ฟิเดล คาสโตร ถูกปล่อยตัวจากคุก ค.ศ. 1955 เขาได้จัดตั้งกลุ่ม “26 กรกฎา” เพื่อดำเนินการปฏิวัติต่อไป เขาและราอูล น้องชาย ได้เดินทางไปยังเม็กซิโกเพื่อรวบรวมกำลังชาวคิวบาลี้ภัย และได้พบกับเช กูวารา นักปฏิวัติชาวอาร์เจนตินา ที่มีความเห็นร่วมกันว่าลาตินอเมริกาทั้งหมดจะพ้นจากความยากจนโดยการปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธ โดยการโค่นล้มอำนาจเผด็จการและขับไล่อิทธิพลครอบงำของอเมริกา ซึ่งจุดเริ่มการปฏิวัติคือประเทศคิวบานั่นเอง

วันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1956 ฟิเดล คาสโตร ราอูล และเช กูวารา นำกำลังราว 80 คน และอาวุธอีกจำนวนหนึ่ง เดินทางจากเม็กซิโกขึ้นบกที่ชายฝั่งใกล้เมืองมันซานิโญทางตอนใต้ของประเทศ แม้ต่อมารัฐบาลสามารถกวาดล้างปราบปรามกำลังส่วนใหญ่ได้ แต่ฟิเดล คาสโตร ประสบความสำเร็จในการสร้างกองกำลังบนเทือกเขาเซียรา มาเอสตรา และต่อสู้ด้วยรูปแบบสงครามกองโจร ภายใน 2 ปี กองกำลังปฏิวัติขยายตัวอย่างมาก ฟิเดล คาสโตร ตั้งรัฐบาลคู่ขนานและเริ่มยึดได้หลายเมือง เผด็จการบาติสตาสูญเสียความชอบธรรมมากขึ้น ในที่สุดเดือนมกราคม ค.ศ. 1959 บาติสตาหนีจากประเทศไปยังโดมินิกัน ฟิเดล คาสโตร ยึดกรุงฮาวานาและสถาปนาอำนาจได้สำเร็จ ขณะนั้นเขาอายุ 32 ปี

จากนั้นฟิเดล คาสโตร ก็เริ่มสร้างประเทศโดยใช้นโยบายชาตินิยม โอนกิจการวิสาหกิจสำคัญและไร่ขนาดใหญ่เข้าเป็นของรัฐ จำกัดการถือครองที่ดิน และขึ้นภาษีบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะสหรัฐ นำมาซึ่งความสัมพันธ์อันตึงเครียด ฟิเดล คาสโตร เดินทางเยือนสหรัฐเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1959 โดยคำเชิญของสมาคมหนังสือพิมพ์อเมริกา แต่ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ปฏิเสธที่จะต้อนรับและพบกับฟิเดล คาสโตร

ฟิเดล คาสโตร สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหภาพโซเวียต ทำให้โซเวียตส่งผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากมาให้คำปรึกษาในการพัฒนาเศรษฐกิจ เมื่อบริษัทน้ำมันสหรัฐไม่ผลิตน้ำมันปิโตรเลียมให้คิวบา ฟิเดล คาสโตร ก็ซื้อน้ำมันจากโซเวียต ทำให้ความสัมพันธ์คิวบากับโซเวียตใกล้ชิดกันมากขึ้น ในที่สุดสหรัฐก็ตัดความสัมพันธ์กับคิวบา

ในวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1961 ฟิเดล คาสโตร ประกาศให้คิวบาเป็นรัฐสังคมนิยม จากนั้นเพียง 3 วัน กลุ่มคิวบาลี้ภัยฝ่ายขวาก็รวมกำลังกันถึง 1,400 คน ยกพลขึ้นบกที่อ่าวพิกเพื่อล้มล้างรัฐบาลฟิเดล คาสโตร แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ

วันที่ 1 พฤษภาคม ฟิเดล คาสโตร ประกาศเลิกใช้ระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ประกาศใช้แนวทางลัทธิมาร์กซ์-เลนินเป็นหลักในการปกครอง และกระชับความสัมพันธ์กับโซเวียต โดยรับความช่วยเหลือทางการทหารและยินยอมให้โซเวียตติดตั้งขีปนาวุธในคิวบา กรณีนี้นำมาสู่วิกฤตการณ์ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1962 เมื่อประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ยื่นคำขาดให้โซเวียตถอนขีปนาวุธจากคิวบา โดยนำกำลังทางเรือล้อมเกาะ วิกฤตจบลงใน 13 วัน โดยโซเวียตยอมผ่อนปรน ถอนขีปนาวุธจากคิวบา

หลังจากนั้นฟิเดล คาสโตร ก็ประกาศปกครองประเทศด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ตั้งตนเองเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์คิวบา โดยแสดงท่าทีชัดเจนในการสนับสนุนการต่อสู้ด้วยอาวุธของกลุ่มฝ่ายซ้ายประเทศลาตินอเมริกา และสนับสนุนการจัดตั้งองค์กรกลุ่มประเทศโลกที่สาม รัฐบาลสหรัฐพยายามหลายครั้งที่จะล้มล้างรัฐบาลฟิเดล คาสโตร แต่ไม่สำเร็จ คิวบากลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์หนึ่งเดียวในเขตอิทธิพลของสหรัฐ

แต่กระนั้นฟิเดล คาสโตร ก็ถูกโจมตีในฐานะผู้นำที่ใช้อำนาจเผด็จการ ใช้อำนาจรัฐควบคุมสื่อมวลชน ห้ามการเคลื่อนไหวของฝ่ายค้าน ประชาชนจำนวนมากหนีออกจากประเทศและไปตั้งชุมชนผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่ที่รัฐฟลอลิดา สหรัฐ แต่อีกด้านหนึ่งฟิเดล คาสโตร ก็ประสบความสำเร็จด้านนโยบายเศรษฐกิจโดยความช่วยเหลือของโซเวียต จนกระทั่ง ค.ศ. 1991 โซเวียตล่มสลาย เศรษฐกิจคิวบาจึงประสบวิกฤตอย่างหนัก ฟิเดล คาสโตร พยายามแก้ไขโดยปฏิรูปเศรษฐกิจให้มีเสรีมากขึ้น ขยายการติดต่อการค้ากับประเทศอื่น ส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้วิกฤตผ่อนคลายลง

ฟิเดล คาสโตร เริ่มมีอาการป่วย จึงมอบอำนาจให้ราอูลรับตำแหน่งแทนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008 ในระยะนี้คิวบาเริ่มกลับเข้าสู่ประชาคมนานาชาติ การถึงแก่อสัญกรรมของฟิเดล คาสโตร อาจประเมินได้ว่า ด้านหนึ่งฟิเดล คาสโตร คือจอมเผด็จการที่รักษาอำนาจไว้ที่ตนเองและละเมิดสิทธิมนุษยชน ปราบปรามฝ่ายค้านอย่างรุนแรง แต่อีกด้านหนึ่งก็ได้รับการยกย่องเป็นตัวแทนการต่อต้านจักรวรรดินิยมและต่อสู้เพื่อประชาชนในประเทศโลกที่สาม สร้างคิวบาให้เป็นประเทศอิสระที่มีการพัฒนาไม่เหมือนประเทศใด


You must be logged in to post a comment Login