วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

การเลือกปฏิบัติทางศาสนาในรัฐไทย / โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

On December 5, 2016

คอลัมน์ : ทรรศนะแสงสว่าง
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผมได้ร่วมอภิปรายเรื่อง “รัฐกับศาสนจักร : พุทธศาสนาในอาเซียน” ที่มหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมกับภิกษุณีธัมมนันทา วิจักขณ์ พานิช และณัฐพงศ์ ดวงแก้ว โดยมีอาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย ดำเนินการอภิปราย

ภิกษุณีธัมมนันทาเล่าตอนหนึ่งว่า มีภิกษุณีจำนวนหนึ่งต้องการเข้าไปถวายอาลัยในการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช แต่ถูกเจ้าหน้าที่ห้ามเข้าด้วยข้ออ้างว่าแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ ถ้าจะเข้าต้องเปลี่ยนไปแต่งกายชุดดำ แล้วหลวงแม่ก็เล่าต่อว่า รัฐไทยไม่รับรองสถานภาพนักบวชของภิกษุณี (ที่ปัจจุบันมีอยู่ในไทยมากกว่า 200 รูป)

เวลาภิกษุณีจะทำพาสปอร์ตไปต่างประเทศก็ต้องใช้คำนำหน้าว่านาง นางสาว แม้แต่ไปเรียนในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ขณะที่ภิกษุณีชาวต่างชาติใช้คำว่าภิกษุณีนำหน้าชื่อได้ แต่ภิกษุณีไทยต้องใช้คำว่านาง นางสาว ภิกษุณีไทยไม่ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลและการลดหย่อนค่าโดยสารแบบเดียวกับที่พระภิกษุไทยได้รับ ภิกษุณีบางรูปที่เกษียณราชการแล้วมาบวชยังต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากเงินบำนาญ แต่ไม่ได้รับสวัสดิการใดๆจากการจ่ายภาษีนั้น ยิ่งกว่านั้นเจ้าหน้าที่รัฐยังมาเก็บภาษีจากวัดภิกษุณี เช่น ภาษีอาคาร สิ่งปลูกสร้างต่างๆภายในวัดที่ถือว่าก่อให้เกิดรายได้

เรื่องราวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นปัญหา “การเลือกปฏิบัติ” ในทางศาสนาภายในรัฐไทย ซึ่งจะว่าไปก็ขัดกับทั้งหลักการพุทธศาสนาและหลักการประชาธิปไตยสมัยใหม่

ในแง่หลักการพุทธศาสนา เรามักอ้างกันว่าในสังคมไทยคนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา และพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ เช่น ในสังคมสมัยพุทธกาลซึ่งเป็นสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ พุทธะก็อนุญาตให้สตรีบวช เพราะถือว่าสตรีมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับบุรุษคือ มีธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะที่สามารถบรรลุธรรมได้เท่าเทียมกัน ฉะนั้นเมื่อชายหญิงมีธรรมชาติแห่งพุทธะที่จะรู้แจ้งธรรมได้เหมือนกันจึงควรได้รับสิทธิในการบวชเพื่อฝึกฝนบ่มเพาะความเป็นพุทธะให้งอกงามได้เสมอกัน

ข้ออ้างของพระสงฆ์ไทยที่ว่าไม่สามารถบวชภิกษุณีได้ เพราะต้องทำพิธีบวชจากสงฆ์ 2 ฝ่ายคือ จากฝ่ายภิกษุณีสงฆ์และฝ่ายพระภิกษุสงฆ์ แต่ภิกษุณีสงฆ์ขาดสูญไปแล้ว จึงไม่สามารถฟื้นการบวชภิกษุณีขึ้นใหม่ได้ การฟื้นขึ้นใหม่ย่อมขัดพระธรรมวินัย เมื่อขัดพระธรรมวินัยก็ถือว่าการบวชนั้นไม่สำเร็จเป็นภิกษุณีได้จริง

นี่เป็นเรื่องของการตีความประวัติศาสตร์ที่ต่างกัน ฝ่ายมหายานที่ยังมีการบวชภิกษุณีแสดงหลักฐานว่าภิกษุณีสงฆ์ ไม่ได้ขาดสูญไป เพราะก่อนที่ภิกษุณีเถรวาทจะหมดไปจากศรีลังกา มีภิกษุณีสงฆ์จากศรีลังกาเดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาในจีนและทำพิธีบวชสตรีชาวจีนเป็นภิกษุณีในนิกายธรรมคุปต์ ต่อมานิกายเถรวาทในศรีลังกาต้องการฟื้นวงศ์ภิกษุณีขึ้นมาใหม่จึงนิมนต์ภิกษุณีสงฆ์จากจีนมาทำพิธีบวชให้สตรีชาวศรีลังกา ภิกษุณีธัมมนันทาก็ไปบวชจากภิกษุณีนิกายเถรวาทศรีลังกานี่เอง

วิจักขณ์ พานิช มองว่าโดยปรกติแล้วธรรมวินัยเป็นเรื่องของการตีความ ซึ่งเราควรจะตีความเพื่อให้มีความเป็นไปได้ในการให้สิทธิเท่าเทียมแก่สตรี แต่คณะสงฆ์ไทยกลับตีความทุกวิถีทางเพื่อให้เป็นไปไม่ได้ คือพยายามชักแม่น้ำทั้งห้ามาอธิบายเพื่อให้การบวชภิกษุณีในไทยเกิดขึ้นไม่ได้

ที่น่าเศร้าคือ เมื่อคณะสงฆ์ไทยอ้างพระบัญชาอดีตสมเด็จพระสังฆราชบ้าง อ้างมติมหาเถรสมาคมบ้าง เพื่อห้ามพระไทยทำการบวชภิกษุณี การห้ามพระไทยทำการบวชภิกษุณีเท่านั้นยังไม่พอ แม้แต่กลุ่มภิกษุณีในไทยที่บวชมาจากต่างประเทศได้นิมนต์พระภิกษุชาวศรีลังกามาประกอบพิธีบวชแก่สตรีชาวไทยก็มีกลุ่มพระสงฆ์และนักวิชาการพุทธศาสนาออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐงดออกวีซ่าแก่พระสงฆ์ชาวต่างชาติที่ถูกนิมนต์มาทำการบวชภิกษุณีในไทย เรียกว่ากีดกันทุกวิถีทาง

แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆที่บัญญัติเกี่ยวกับการอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนาย่อมไม่นับภิกษุณีเป็นนักบวชและเป็นชาวพุทธที่ควรได้รับการอุปถัมภ์และคุ้มครองใน “มาตรฐาน” เดียวกับพระสงฆ์และชาวพุทธกลุ่มอื่นๆ

นี่คือการเลือกปฏิบัติทางศาสนาภายในรัฐไทย บางคนอาจจะบอกว่าเป็นเรื่องของคนส่วนน้อยเท่านั้น เพราะคนที่บวชภิกษุณีมาจากต่างประเทศแล้วหรือเลือกที่จะบวชเป็นภิกษุณีเป็นเพียงคนส่วนน้อย คิดแบบนี้ก็คล้ายกับการมองว่าคนที่ถูกใช้ “กฎหมายพิเศษ” ต่างๆละเมิดเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมืองก็เป็นเพียงคนส่วนน้อย คนส่วนใหญ่ไม่เห็นต้องเดือดร้อนอะไร

ถ้าคิดกันแบบนี้ก็แปลว่าสังคมเรายังห่างไกลจากความเป็นประชาธิปไตยมาก เพราะตามมาตรฐานสังคมประชาธิปไตยนั้น แม้คนเพียง 1 คนถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม หรือถูกอำนาจรัฐละเมิดเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมือง ย่อมเป็นปัญหาใหญ่ที่สังคมไม่อาจยอมรับได้ เพราะเมื่อมี 1 คนถูกละเมิดสิทธิได้ ทุกคนก็มีโอกาสจะถูกละเมิดสิทธิได้เช่นกัน

เอาเข้าจริงการเลือกปฏิบัติกรณีภิกษุณีก็ขัดกับทั้งหลักการพุทธศาสนาเอง ทั้งขัดหลักสิทธิมนุษยชน หลักเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาในระบอบประชาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญ แต่สังคมเราก็หลอกตัวเองว่าเป็นสังคมพุทธที่กำลังจะเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้


You must be logged in to post a comment Login