วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

อดีตที่ไม่ยอมจากไป? / โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

On November 29, 2016

คอลัมน์ : ทรรศนะแสงสว่าง
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์

ในทุกสังคมต่างมี “อดีตที่ไม่ยอมจากไป” และมีวิธีเรียนรู้ที่จะจัดการกับอดีตที่ไม่ยอมจากไปแตกต่างกันไป เพราะในทุกสังคมต่างก็มีสิ่งตกค้าง หรือเรียกให้สวยงามว่า “มรดกตกทอด” จากยุคก่อนสมัยใหม่ดำรงอยู่ท่ามกลางสภาวะสมัยใหม่ด้วยกันทั้งนั้น

เมื่อสิทธิมนุษยชนและเสรีประชาธิปไตยถูกรับรู้ว่าเป็นอุดมการณ์และระบบการปกครองสมัยใหม่ของสหรัฐอเมริกา การมีทาส การเหยียดผิว เหยียดเพศจากอคติทางศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งตกค้างจากยุคก่อนสมัยใหม่ก็ยังคงมีอยู่ และในการอ้างหลักเสรีประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเพื่อเลิกทาส สังคมอเมริกันต้องจ่ายด้วยชีวิตผู้คนมหาศาลจากสงครามกลางเมือง

เช่นเดียวกันการต่อสู้เพื่อสิทธิเท่าเทียมของคนผิวสีก็ผ่านการต่อสู้ที่เจ็บปวดยาวนาน จนทุกวันนี้สหรัฐมีประธานาธิบดีที่มาจากคนผิวสี จนกระทั่งมีกฎหมายรับรองสิทธิการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ซึ่งหมายความว่ากว่าที่สังคมอเมริกันจะมีระบบเสรีประชาธิปไตยและมีกฎหมายรับรองสิทธิเท่าเทียมด้านต่างๆตามหลักสิทธิมนุษยชนได้อย่างทุกวันนี้ก็ต้องผ่านการต่อสู้ที่ยาวนาน และมีการสูญเสียที่น่าเศร้าเกิดขึ้นตลอดรายทาง

ถึงแม้ตัวระบบการปกครองและระบบกฎหมายรับรองสิทธิต่างๆจะก้าวหน้าไปไกล ทว่าสิ่งตกค้างจากยุคเก่า เช่น อคติทางเพศ การเหยียดผิว เหยียดศาสนาก็ใช่ว่าจะหายไปโดยสิ้นเชิง หากยังดำรงอยู่ในวิถีความเชื่อของผู้คนบางส่วน ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะสามารถนำอดีตที่ไม่ยอมจากในเรื่องเหยียดเพศ เหยียดผิว เหยียดศาสนา มานำเสนอในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีและได้ชัยชนะ

อย่างไรก็ตาม การนำอดีตที่ไม่ยอมจากไปมาหาเสียงกับผู้คนในสังคมที่ระบบการปกครองหรือระบบกฎหมายบนหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนก้าวมาไกลก็ไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถเปลี่ยนปัจจุบันให้ย้อนกลับสู่อดีตได้ เพราะไม่ใช่โดนัลด์ ทรัมป์ จะสามารถทำอะไรตามความคิดที่ขัดกับมาตรฐานของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนได้ง่ายๆโดยไม่ถูกต่อต้านจากฝ่ายที่อ้างหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มแข็ง

หนึ่งในอดีตที่ไม่ยอมจากไปในหลายๆสังคมคือ สำนึกเรื่องชาตินิยมเชิงศาสนา ชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์วีรกรรม และบุญคุณของชนชั้นปกครอง นักปรัชญาบางคนมองว่าสำนึกชาติพันธุ์ในความหมายดังกล่าวนี้คืออดีตที่ไม่ยอมจากไป ซึ่งทวนกระแสความเป็นสมัยใหม่

เนื่องจากชาติในความหมายสมัยใหม่นั้นมีระบบการปกครองตามรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสร้างสำนึกร่วมในความเป็น “ชาติ” ขึ้นจากการเคารพหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และอำนาจอธิปไตยของประชาชน ความรักชาติจึงแสดงออกเป็นความรักเสรีภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ เพราะอุดมการณ์ดังกล่าวเป็นรากฐานของการวางระบบสังคมและการเมืองที่เชื่อมโยงประชาชนในประเทศที่มีความหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรมเข้าด้วยกันอย่างเป็นเอกภาพ

แต่อุดมการณ์ชาตินิยมเชิงศาสนา ชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์วีรกรรม และบุญคุณของชนชั้นปกครอง คืออดีตที่ไม่ยอมจากไปที่เดินสวนทางกับความหมายของชาติสมัยใหม่ หากสังคมใดไม่สามารถหาวิธีจัดการกับอดีตที่ไม่ยอมจากไปให้อยู่ภายใต้การควบคุมกำกับของความเป็นประชาธิปไตย สังคมนั้นย่อมยากที่จะพบความสงบสุข

ทว่าสังคมไทยกลับเป็นสังคมที่ประชาธิปไตยถูกควบคุมกำกับ หรือจำกัดการเติบโตภายใต้ร่มเงาของอุดมการณ์ชาตินิยมเชิงศาสนา ชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์วีรกรรม และบุญคุณของชนชั้นปกครอง สังคมเช่นนี้จึงยากที่จะสร้างการเรียนรู้วิธีจัดการกับอดีตที่ไม่ยอมจากไป เพราะเป็นสังคมที่ระบบคุณค่าหรืออุดมการณ์แบบอดีตมีอำนาจกำหนดทิศทางอนาคต ซึ่งต่างจากสังคมอารยะที่ระบบคุณค่าหรืออุดมการณ์แห่งอนาคตเป็นกรอบในการจัดวางตำแหน่งแห่งที่และบทบาทของอดีตให้อยู่ภายใต้การควบคุมของกติกาเสรีประชาธิปไตย

ภายใต้สังคมที่ย้อนแย้งเช่นนี้ เราได้เห็นระบบคุณค่าหรืออุดมการณ์แบบอดีตเร่งผลิต “พระดี” และ “คนดี” ออกมาถี่ๆ แต่ก็ถูกระบบการสื่อสารภายใต้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและรวดเร็วฉีกหน้ากากพระดี คนดีเหล่านั้น ตกเวทีไปในเวลาอันรวดเร็ว

ขณะเดียวกันสังคมเช่นนี้ก็เป็นสังคมที่ชวน “ทะเลาะ” ในเรื่องที่ไม่ควรทะเลาะ มากกว่าจะเป็นสังคมที่ชวน “ถกเถียง” ในเรื่องที่ควรถกเถียง เช่น กรณีพูดพาดพิงคนอีสานของเบส-อรพิมพ์ รักษาผล เราไม่ควรต้องทะเลาะกันเลยว่าคนภาคไหน หรือใครลืม ไม่ลืม รัก ไม่รักชนชั้นปกครอง เพราะเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องของเสรีภาพส่วนบุคคล แต่เรื่องที่ควรถกเถียงอย่างเช่น จริงหรือไม่ที่มีการจ้างคุณเบสบรรยายให้ทหารฟังเรื่องพระราชกรณียกิจ และความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ (ซึ่งเป็นเรื่องที่ทหารมีความรู้ ความเข้าใจดีกว่า ลึกซึ้งกว่าคุณเบสอยู่แล้ว) ครั้งละ 30,000-35,000 บาท ตามที่วิจารณ์กันในโลกโซเชียล

เรื่องแบบนี้ต่างหากที่ควรถกเถียงด้วยเหตุผล เพื่อหาข้อเท็จจริงและความรับผิดชอบจากหน่วยงานราชการที่ใช้ภาษีประชาชน

พูดรวมๆคือ ในสังคมประชาธิปไตย เรื่องที่เราควรถกเถียงคือเรื่องนโยบายสาธารณะต่างๆ เช่น การแก้ปัญหาชาวนา คนยากจน การพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษา การปฏิรูปกองทัพ ศาล และฯลฯ แต่กว่าสิบปีมานี้เราแทบไม่เคยได้ถกเถียงเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง เพราะเราตกอยู่ในวังวนแห่งการทะเลาะขัดแย้งกันเกี่ยวกับเรื่องอดีตที่ไม่ยอมจากไป


You must be logged in to post a comment Login