วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ประท้วงที่สหรัฐ ไม่ใช่ปัญหา‘คนดี-คนไม่ดี’! / โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

On November 21, 2016

คอลัมน์ : ทรรศนะแสงสว่าง
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์

หลังจากผลการเลือกตั้งออกมาว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะและจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 45 ก็เกิดเหตุการณ์ประท้วงในหลายมลรัฐ ในไทยก็มีการวิจารณ์กันต่างๆนานา บ้างพูดติดตลกว่าชาวอเมริกันเลียนแบบการประท้วงในไทยที่ไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง บ้างเปรียบเทียบทรัมป์กับอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร หรือเป็นผู้นำที่ไม่ใช่ “คนดี” จึงถูกประชาชนปฏิเสธ

อันที่จริงประชาธิปไตยอเมริกากับไทยแตกต่างกันมากจนยากที่จะเปรียบเทียบกันได้ ไม่ใช่ปัญหาเรื่อง “คนดี” หรือ “คนไม่ดี” มาเป็นผู้นำแบบที่พูดกันในบ้านเรา การประท้วงเกิดจากการไม่ยอมรับความคิดของทรัมป์เรื่องการเหยียดผิว เพศ ศาสนา ซึ่งขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนอันเป็นคุณค่าพื้นฐานของเสรีประชาธิปไตย

ตรงกันข้ามกับการประท้วงในไทยที่ใช้วาทกรรมปฏิเสธ “คนเลว” และเรียกร้อง “คนดี” มาเป็นผู้นำ โดยไม่ยึดมั่นอย่างจริงจังต่อการปกป้องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เช่นสังคมไทยไม่จริงจังกับการดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณี “ฆ่าตัดตอน” ในสงครามยาเสพติด หรือกรณีกรือเซะและตากใบ เพียงแต่นำปัญหาดังกล่าวมาโจมตีในทางการเมืองเท่านั้น

ถ้าสังคมไทยจริงจังกับปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน ทุกฝ่ายก็ต้องเรียกร้องให้เอาผิดกรณีสลายการชุมนุมปี 2553 หรือย้อนไปในประวัติศาสตร์ที่รัฐใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนก็ไม่เคยมีผู้มีอำนาจสั่งการต้องรับผิดทางกฎหมายแต่อย่างใด และภายใต้อำนาจรัฐบาล คสช. สิทธิมนุษยชนในเรื่องเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมืองก็ไม่เคยมี ชนชั้นกลางไทยที่รังเกียจทรัมป์ก็ดูเหมือนจะยินดีอยู่ภายใต้อำนาจรัฐบาล คสช. ตลอดมา

ที่ประชาชนอเมริกันออกมาประท้วงทรัมป์ เพราะพวกเขารับไม่ได้กับความคิดเรื่องเหยียดผิว เพศ ศาสนา แต่พวกเขาก็ไม่ได้เรียกร้องให้กองทัพทำรัฐประหาร ประชาชนอเมริกันที่ปฏิเสธทรัมป์บอกว่า การประท้วงคงไม่มีผลต่อการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี คงต้องรออีก 4 ปีถึงจะได้เลือกคนใหม่ แต่การประท้วงเป็นการส่งสัญญาณว่าในฐานะผู้นำสหรัฐ ทรัมป์คงไม่สามารถทำอะไรตามอำเภอใจได้ง่ายๆ

ทำไมการปกป้องสิทธิมนุษยชนจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชาวอเมริกัน คำตอบเพราะสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ได้มาจากการต่อสู้และการสูญเสียมหาศาล เช่นสงครามกลางเมืองในการเลิกทาสสมัยประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ที่ฆ่ากันตาย 5-6 หมื่นคน การต่อสู้เพื่อสิทธิเท่าเทียมของคนผิวดำและอื่นๆที่สะท้อนภาพน่าเศร้าของผู้ถูกกดขี่

ริชาร์ด รอร์ตี (Richard Rorty) นักปรัชญาชาวอเมริกัน มองว่า “การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนดูเหมือนจะไม่ได้เป็นผลมาจากความรู้ทางศีลธรรมที่เพิ่มพูนขึ้น แต่ทั้งหมดล้วนเกิดจากการได้ยินเรื่องราวอันน่าเศร้าและสะเทือนอารมณ์” พูดอีกอย่างว่า ความก้าวหน้าของสิทธิมนุษยชนเกิดจากเรื่องราวอันน่าเศร้าของบรรดาผู้ถูกกดขี่และการต่อสู้ของพวกเขา

ในสังคมที่ชนชั้นนำและพระสงฆ์พูดถึงหรือเทศนาศีลธรรมมากเป็นพิเศษอย่างสังคมไทย กลับไม่ใช่สังคมที่ผู้คนมีความรู้สึกอ่อนไหวและโศกเศร้าต่อผู้ถูกกดขี่ เราจึงได้เห็นภาพรอยยิ้ม อาการหัวเราะของผู้คนที่มุงดูการเอาเก้าอี้ฟาดศพที่ถูกแขวนคอที่ท้องสนามหลวงในเหตุการณ์ 6 ตุลา เห็นการเชียร์ให้ล้อมปราบคนเสื้อแดงในปี 2553 กระทั่งเห็นพระที่เป็นแกนนำปกป้องความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ออกมาปลุกเร้าให้ปราบปรามอีกฝ่ายโดยไม่เศร้าโศกกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้เพราะสังคมเราเน้นศีลธรรมแบบศาสนาที่ผูกกับความจงรักภักดีต่อชนชั้นปกครอง ซึ่งเป็นคนละฐานคิดกับศีลธรรมสมัยใหม่ที่ให้คุณค่าสูงสุดกับสิทธิมนุษยชน

พัฒนาการของสิทธิมนุษยชนเริ่มขึ้นจากการนิยามความหมายของมนุษย์สมัยใหม่ที่นิยามตัวเองว่า เราคือ “ปัจเจกบุคคลที่มีอิสระในการกำหนดตัวเอง” นี่เป็นความหมายของมนุษย์เชิงนามธรรมและเป็นสากล เราเป็นใคร ไม่ใช่เพราะว่าเรามาจากครอบครัวไหน ชนชั้นอะไร เพศ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรมอะไร ทั้งหมดนั้นอาจเป็นอัตลักษณ์หรือลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคน แต่ทุกคนมีความเป็นมนุษย์ในความหมายสากลคือเป็นปัจเจกบุคคลที่มีอิสระในการกำหนดตัวเอง

ฉะนั้นในฐานะที่เป็นมนุษย์ ไม่ว่าเราจะอยู่ในรัฐไหน นับถือศาสนา เพศ ภาษา วัฒนธรรมอะไร เราย่อมต้องมีเสรีภาพทางความคิดเห็น การแสดงออก การมีส่วนร่วมทางการเมือง และสิทธิเสรีภาพอื่นๆเท่าเทียมกัน การปกครองแบบเผด็จการจึงเป็นการกดขี่ ลดทอนความเป็นมนุษย์ของเรา

นักปรัชญาอย่างเจอร์เกน ฮาเบอร์มาส (Jurgen Habermas) มองว่าสิทธิมนุษยชนคือ “ศีลธรรมสมัยใหม่” ที่ปกป้องความหมายของความเป็นมนุษย์สมัยใหม่ สิทธิมนุษยชนกับเสรีประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ เพราะประชาธิปไตยคือการยอมรับอำนาจสูงสุดของประชาชน ส่วนสิทธิมนุษยชนคือหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพด้านต่างๆของปัจเจกบุคคล อำนาจเสียงข้างมาก การบัญญัติกฎหมาย ผลประโยชน์ส่วนรวม จะต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคล

ฉะนั้นเราจึงเข้าใจได้ว่า ทำไมในสังคมเสรีประชาธิปไตยอย่างอเมริกา ประชาชนจึงประท้วงทรัมป์ที่ชนะการเลือกตั้ง เพราะความคิดของทรัมป์ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นคุณค่าเชิงอุดมคติของเสรีประชาธิปไตย

การประท้วงจึงเป็นเรื่องปรกติที่ต้องเกิดขึ้น การไม่ประท้วงต่างหากที่ผิดปรกติ แต่การประท้วงย่อมไม่เลยเถิดไปจนถึงทำให้เสียงข้างมากไร้ความหมาย เพราะขัดกับหลักการยอมรับเสียงข้างมากตามระบอบประชาธิปไตย

มันเป็นเพียงการแสดงออกของประชาชนที่ยืนยันคุณค่าเชิงอุดมคติของประชาธิปไตย และเป็นการส่งสัญญาณเตือนประธานาธิบดีคนใหม่ว่า คุณไม่สามารถทำอะไรที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ง่ายๆ


You must be logged in to post a comment Login