วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

การเมืองหลังเปลี่ยนผ่าน? / โดย Pegasus

On November 14, 2016

คอลัมน์ : เพื่อชาติประชาชน
ผู้เขียน : Pegasus

แม้ไม่มีใครพูดก็เป็นที่รู้กันว่า การรัฐประหารยึดอำนาจทั้ง 2 ครั้งในเวลาใกล้เคียงกัน สาเหตุสำคัญมีเพียงเรื่องเดียวคือ ต้องการให้ฝ่ายข้าราชการประจำกุมอำนาจในช่วงเปลี่ยนผ่านเท่านั้น แม้จะยังไม่เข้าที่เข้าทางก็ตาม แต่ก็ทำให้ “ระบบราชการ” หรือที่เรียกว่า “ระบอบอำมาตย์” ปกครองประเทศ 2 รอบ

เห็นได้ชัดเจนว่ามีปัญหาในการบริหารราชการจนทำให้เศรษฐกิจประเทศตกลงถึงจุดที่ต่ำมากๆ แม้พยายามอ้างว่าเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ดีขึ้นจากที่แย่มากๆต่างหาก หากไม่ยึดเอาคำพูดของฝ่ายการเมืองก็ดูจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยที่รายงานว่ามีการโอนเงินลงทุนไปต่างประเทศถึง 26 ล้านล้านบาท

ขนาดคนไทยยังหนีตายกันจ้าละหวั่น นักลงทุนต่างประเทศจึงไม่ต้องพูดถึง ประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินโดนีเซีย เมียนมาร์ ต่างก็เป็นเป้าหมายของนักลงทุน โดยมาเลเซียคอยดึงอยู่ข้างๆ

ภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นขณะนี้หากเลิกให้ระบบราชการบริหารประเทศเร็วเท่าไรก็ยังพอจะกอบกู้เศรษฐกิจให้กลับมามีความหวังได้ เพราะนักลงทุนต่างชาติลงทุนแล้วก็ต้องวางแผนการลงทุนระยะยาว นักลงทุนไทยก็อย่าหนีไปลงทุนต่างประเทศหมด

แต่ปัญหาทางการเมืองก็ยังมี “กับดัก” ร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะประกาศใช้ ซึ่งเป็นเครื่องมือหรือกลไกสำคัญให้ข้าราชการประจำมีอิทธิพลในการบริหารบ้านเมือง ทั้งยังอาจเปิดทางให้มหาอำนาจบางประเทศสามารถเข้ามามีอิทธิพลและยึดทำเลทองสำคัญๆได้อย่างเสรี อย่างที่พรรคการเมืองบางพรรคชอบเอามาใช้โจมตีคือ “ขายชาติ”

กระนั้นก็ตาม แม้จะอยู่ในสภาพที่เลวร้าย การเมืองไทยก็ยังมีความหวังที่จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดี เพราะความมั่นใจของประชาชนได้กลับมาเมื่อรัฐบาลประกาศชัดเจนว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามโรดแม็พ และการเลือกตั้งยังเป็นปี 2560 สถานการณ์ในตลาดหุ้นที่ผันผวนอย่างมากก่อนหน้านี้ก็กลับมาปรับตัวตามความชัดเจนของสถานการณ์

หากการลงทุนยังเป็นปรกติ ประเทศจะมีความมั่งคั่ง ประชาชนก็จะมีเงินใช้ การนำเข้าและการส่งออกก็จะกลับมาดีขึ้น แน่นอนว่าจะทำให้มีเงินหมุนเวียนภายในประเทศ เพราะประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น การค้าขายก็จะเกิดการหมุนเวียนมากขึ้น

เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาลงทุนขณะนี้จึงมีเงื่อนไขเดียวคือ การกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยเพื่อให้กลไกทางการเมืองเดินหน้าไปตามระบบ ทหารก็ต้องกลับเข้ากรมกอง แม้จะยังมีองค์กรอิสระและระบบราชการในการควบคุมฝ่ายการเมืองอยู่ก็ตาม

บทบาทของกองทัพและข้าราชการต้องไม่ทำให้ประชาชนเกิดการต่อต้านจนกลายเป็นวิกฤตของประเทศ เพราะประชาชนส่วนใหญ่รู้ดีว่าไม่สามารถพึ่งพานักการเมืองได้ โดยเฉพาะนักการเมืองที่มาจากการแต่งตั้งที่จะเป็นเครื่องมือของกลุ่มผู้มีอำนาจที่ต้องการให้มาควบคุมนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่แต่งตั้งเพราะมีความรู้ความสามารถในการบริหารประเทศ

ประชาชนไม่ยอมรับและจะเริ่มต่อสู้ในทุกรูปแบบ ซึ่งมีแต่จะทำให้ทหารและข้าราชการประจำต่างๆเกิดความพ่ายแพ้ ทั้งนี้ก็เพราะประชาชนรู้ว่านักการเมืองที่มาจากการแต่งตั้งนั้นไร้ฝีมือและความสามารถในการบริหารประเทศ ที่ยอมๆให้ในเวลาที่ผ่านมาก็เพื่อรอเวลาเท่านั้น

บทบาทของประชาชนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศ ต้องทำให้กองทัพและระบบราชการฟังเสียงประชาชน ประชาชนต้องรักษาสิทธิของตน ไม่ให้ใครแอบอ้างเพื่อโกงกินได้อีก เพราะนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมีวาระชัดเจนและสามารถตรวจสอบได้ ไม่เหมือนนักการเมืองที่มาจากการแต่งตั้งที่ยึดโยงกับผู้ที่แต่งตั้งเข้ามา

สถานการณ์บ้านเมืองทำให้ประชาชนน่าจะมองเห็นแสงรำไรในการได้อำนาจและใช้อำนาจของตนหลังจากกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถูกขบวนการสมคบคิดร่วมกันปล้นมานานจนเห็นไส้เห็นพุงของบรรดา “คนดี” นั้นว่าดีจริงหรือไม่

การเมืองหลังการเปลี่ยนผ่านที่จะทำให้ประชาชนกลับมามีอำนาจอีกครั้ง ระบอบอำมาตย์ต้องถอยกลับหรือค่อยๆลดบทบาทลง หากแข็งขืนก็จะถูกคลื่นมหาชนกลืนกินจนไร้ที่ยืนในที่สุด


You must be logged in to post a comment Login