วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2567

พื้นที่สาธารณะ? / โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

On November 14, 2016

คอลัมน์ : ทรรศนะแสงสว่าง
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์

เห็นข่าวชาวนาฆ่าตัวตายเพราะปัญหาราคาข้าวตกต่ำ แต่โฆษกรัฐบาลออกมาบอกว่าเป็น “ช่างแอร์” ทำให้นึกถึงการฆ่าตัวตายของลุงนวมทอง ไพรวัลย์ เพื่อประท้วงรัฐประหารปี 2549 ถ้าจำไม่ผิดโฆษกกองทัพบกในเวลานั้นก็ออกมาปรามาสว่า “ไม่มีใครยอมตายเพื่ออุดมการณ์”

อันที่จริงประชาชนในประเทศนี้ต้องการ “พื้นที่สาธารณะ” ในการเสนอปัญหาของพวกเขาให้สังคมรับรู้และให้รัฐบาลนำไปแก้ไข แต่การสร้างพื้นที่สาธารณะของประชาชนไทยในศตวรรษที่ 21 ก็เป็นไปอย่างยากเย็นแสนเข็ญ โดยเฉพาะคนตัวเล็กๆหรือคนไร้อำนาจต่อรองในสังคม บางครั้งต้องแลกด้วยอิสรภาพ แม้กระทั่งชีวิต เพื่อให้รัฐบาลและสังคมหันมามองปัญหาความทุกข์ยากของพวกเขา

พื้นที่สาธารณะคืออะไร เจอร์เกน ฮาเบอร์มาส (Jurgen Habermas) นักปรัชญาชาวเยอรมัน อธิบายว่าหมายถึง พื้นที่ที่ปัจเจกบุคคลมีส่วนร่วมในการถกเถียงด้วยเหตุผล เพื่อแสวงหาความจริงและผลประโยชน์ส่วนรวมภายใต้เสรีภาพ การเปิดกว้าง ไม่กีดกัน โดยทุกคนมีความเสมอภาคในฐานะเป็นคนเท่ากัน การถกเถียงอย่างเสรีในพื้นที่สาธารณะทำให้เกิดการตรวจสอบนโยบายรัฐบาล รวมทั้งแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและอื่นๆ

ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ชนชั้นกลางในยุโรปสร้างพื้นที่สาธารณะขึ้นในร้านกาแฟ สโมสรเสวนา วารสารด้านวรรณกรรม แต่ก็มีเพียงชนชั้นกลางที่มีเงินและมีการศึกษาดีเท่านั้นที่เข้าถึงพื้นที่สาธารณะดังกล่าวได้ คนจนและสตรีถูกกีดกันออกไป

ในศตวรรษที่ 19-20 พื้นที่สาธารณะเปิดกว้างแก่คนทุกชนชั้นมากขึ้น เพราะมีพื้นที่สื่อมวลชนเพิ่มมากขึ้น แต่อำนาจรัฐและความเจริญทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อนขึ้นทำให้สื่อไม่อาจเป็นอิสระจากอำนาจรัฐและเศรษฐกิจได้จริง เช่น รัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมักแทรกแซงสื่อ กลุ่มนักธุรกิจเจ้าของสื่อเองก็มีวาระซ่อนเร้นทางเศรษฐกิจและการเมืองของกลุ่มพวกตนในการเสนอข่าวสารและความคิดเห็นสู่สาธารณชน

อย่างไรก็ตาม ในทรรศนะของฮาเบอร์มาส การเกิดขึ้นของพื้นที่สาธารณะคือรากฐานของการสร้างประชาธิปไตย อุดมการณ์ของพื้นที่สาธารณะ “การถกเถียงอย่างเสรีและเท่าเทียม” คืออุดมการณ์ที่เปิดพื้นที่ให้กับ “ทุกคน” อย่างเสมอภาค แม้ในความเป็นจริงอาจไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้าร่วมถกเถียงในพื้นที่สาธารณะได้ แต่พื้นที่สาธารณะยังคงเป็นสิ่งที่ควรแสวงหา สร้างขึ้น และขยายให้คนทุกระดับเข้ามามีส่วนร่วมได้มากที่สุด

หนทางที่เป็นไปได้คือ การสร้างประชาธิปไตย เพราะความเป็นประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะเป็นหลักประกันอย่างยั่งยืนให้กับการมีเสรีภาพในการถกเถียงเพื่อแสวงหาความจริง ความถูกต้อง และผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน

เมื่อพื้นที่สาธารณะเป็นอุดมการณ์ที่สัมพันธ์กับประชาธิปไตย การสร้างและขยายพื้นที่สาธารณะจึงเป็นการเดินทาง จะเห็นได้ว่าจากศตวรรษที่ 18 จนถึงวันนี้ ประเทศเสรีประชาธิปไตย ผู้หญิง เพศที่สาม และคนกลุ่มอื่นๆ สามารถสร้างและมีส่วนร่วมในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น เพื่อผลักดันปัญหาของกลุ่มตัวเองให้กลายเป็นประเด็นสาธารณะที่สังคมเห็นชอบและรัฐนำไปแก้ไข หรือบัญญัติกฎหมายรับรองสิทธิและโอกาสเข้าถึงการบริการสาธารณะต่างๆ

ในสังคมไทยที่ไม่ใช่สังคมเสรีประชาธิปไตยยังไม่มีเสรีภาพทางการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองอย่างแท้จริง พื้นที่สาธารณะที่รองรับการถกเถียงด้วยเหตุผลอย่างเสรีใน “ทุกเรื่อง” ที่เกี่ยวกับปัญหาสังคมและการเมืองจึงยังไม่เกิดขึ้นจริง

การจำกัดเสรีภาพในพื้นที่สาธารณะของสังคมไทยไม่ใช่จำกัดตาม “ขอบเขต” ของเสรีภาพในความหมายว่าทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็น ถกเถียงด้วยเหตุผลอย่างเสรีในทุกเรื่อง ตราบที่ไม่ละเมิดเสรีภาพหรือก่ออันตรายแก่บุคคลอื่น แต่อำนาจรัฐไทยจำกัดเสรีภาพภายใต้กรอบ “ความเป็นไทย” ที่กำหนดว่าเรื่องใดพูดได้ เรื่องใดพูดไม่ได้

นอกจากนี้ทัศนคติของรัฐราชการและชนชั้นกลางไทยมักไม่เอื้อต่อการขยายพื้นที่สาธารณะให้คนตัวเล็กๆ คนไร้อำนาจต่อรองเข้าถึง ดังที่มีการดูถูกว่าคนชนบทต่างจังหวัดไร้การศึกษา ไม่รู้ประชาธิปไตย ถูกนักการเมืองมอมเมาด้วยนโยบายประชานิยม ตกเป็นเครื่องมือนักการเมือง จนกระทั่งความนิยมในนโยบายพรรคการเมืองบางพรรคและนักการเมืองบางคนที่ชนชั้นกลางกรุงเทพฯบางกลุ่มไม่ชอบก็ถูกบิดเบือนเป็นเพียงการถูกหลอกและความโง่เขลา กระทั่งดูถูกว่าเป็น “ขี้ข้า” นักการเมือง

เมื่อเป็นเช่นนี้เสียงของคนระดับล่างจึงถูกจับผิดและบิดเบือน แทนที่จะถูกส่งเสริมให้แสดงออกและขยายพื้นที่ให้ทุกคนได้แสดงออกอย่างเท่าเทียมที่สุด

ยิ่งกว่านั้นชนชั้นกลางไทยที่ตื่นตัวแสดงความเห็นทางการเมืองในยุคปัจจุบันก็ไม่ใช่กลุ่มคนที่แสดงออกว่ายึดมั่นในอุดมการณ์พื้นที่สาธารณะที่เน้นการมีส่วนร่วมถกเถียงด้วยเหตุผลอย่างเสรีในฐานะคนเท่ากัน ดังนั้น บทบาทในการแสดงความเห็นทางการเมือง การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชนชั้นกลางในเมืองกว่า 10 ปีมานี้ กลายเป็นบทบาทที่สนับสนุนอำนาจและวัฒนธรรมที่ไม่ได้เอื้อให้เกิดการถกเถียงด้วยเหตุผลอย่างเสรี

เมื่อการถกเถียงด้วยเหตุผลอย่างเสรีในฐานะคนเท่ากันเกิดขึ้นไม่ได้ ย่อมเท่ากับสังคมไม่มีพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการแสวงหาความจริง ความถูกต้องเป็นธรรม เพื่อสร้าง “ฉันทามติ” ร่วมกันเกี่ยวกับผลประโยชน์ส่วนรวม ทุกอย่างย่อมถูกบิดเบือนด้วยอำนาจของชนชั้นนำ เช่น อุดมการณ์ที่รับใช้ผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยถูกอธิบายให้เชื่อว่ารับใช้ผลประโยชน์ของทุกคน เป็นต้น


You must be logged in to post a comment Login