วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

จดหมายลูกโซ่ / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On November 14, 2016

คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

จดหมายลูกโซ่เป็นวิธีที่คนสมัยโบราณใช้เป็นเครื่องมือในการกระจายข้อมูลข่าวสารไปสู่คนจำนวนมาก ประสิทธิภาพอันเหลือเชื่อของมันทำให้ในเวลาต่อมาวิธีการนี้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ปัจจุบันเรารู้จักกันในชื่อธุรกิจแชร์ลูกโซ่

จดหมายลูกโซ่มีประวัติย้อนหลังไปถึงช่วงต้นคริสต์ศักราช ตำนานเล่ากันว่า หลังจากพระเยซูสิ้นพระชนม์ราว 53 ปี พระองค์ได้เขียนบทบัญญัติหนึ่งเอาไว้แล้วรับสั่งให้เทวดาเกเบรียลนำมาซ่อนใต้แผ่นหินในเมืองไอโคเนียม โดยจารึกบนแผ่นหินว่า “พรจงมีแด่ผู้ที่พลิกแผ่นหิน”

แผ่นหินนั้นมีน้ำหนักมาก ไม่มีใครสามารถพลิกมันได้ แต่แล้วราว 2 ปีต่อมา เด็กชายวัย 6 ขวบคนหนึ่ง สามารถยกแผ่นหินขึ้นอย่างง่ายดายเหมือนยกสำลี ภายใต้แผ่นหินพบจารึกของพระเยซู

จารึกดังกล่าวถูกส่งมอบให้กับท่านผู้หญิงคิวบา และเธอได้ทำการคัดลอกข้อความของพระเยซูตีพิมพ์แจกจ่าย มีใจความโดยสังเขปประมาณว่า ขอให้ทุกคนหยุดทำงานใดๆหลังพระอาทิตย์ตกดินวันเสาร์เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่วันพักผ่อน วันอาทิตย์เป็นวันบริสุทธิ์ห้ามทำกิจกรรมใดๆนอกเหนือไปจากกิจกรรมที่ถวายแด่พระเจ้า เช่น การอธิษฐาน การอ่านพระคัมภีร์ และการขอบคุณพระเจ้า

ผู้ที่ได้รับสำเนาจากท่านผู้หญิงคิวบาได้ทำการคัดลอกข้อความอีกหลายฉบับเพื่อส่งต่อให้กับญาติพี่น้องและมิตรสหาย โดยบางคนได้เพิ่มเติมข้อความต่อท้ายว่า “ผู้ที่คัดลอกสำเนาส่งต่อจะได้รับพรจากพระเจ้า ผู้ที่ไม่ทำจะถูกสาป”

แน่นอนว่าตำนานที่มาบทบัญญัติพระเยซูเป็นเพียงเรื่องที่เล่าต่อๆกันมา แต่การส่งจดหมายลูกโซ่ข้อความจากพระเยซูนั้นเกิดขึ้นจริง และส่งต่อกันมาเรื่อยๆจนถึงราวกลางศตวรรษที่ 17 นับว่าเป็นการส่งจดหมายลูกโซ่ครั้งแรกๆของโลก และมีการส่งต่อกันยาวนานที่สุด

เรี่ยไรเงิน

ปี 1888 คริสตจักรเมทอดิสต์แห่งหนึ่งในรัฐอิลลินอยส์ประสบปัญหาทางการเงินอย่างใหญ่หลวง พวกเขาขาดเงินจำนวน 16,000 ดอลลาร์ ซึ่งนับว่าเป็นเงินจำนวนมากมายมหาศาลในยุคสมัยนั้น

ลูซี่ ไรเดอร์ เมเยอร์ หัวหน้าคณะอุบาสิกา จำได้ว่าทางโบสถ์เคยได้รับจดหมายขอรับบริจาคปัจจัยเพื่อการกุศลหลายต่อหลายครั้ง ตอนนี้โบสถ์เกิดขัดสนเงินทองจึงน่าจะลองทำจดหมายขอรับบริจาคจากผู้ที่ศรัทธาได้บ้าง

ไอเดียของลูซี่นั้นไม่หวังว่าจะได้เงิน 16,000 ดอลลาร์จากใครคนใดคนเหนึ่ง เพราะนั่นเป็นเงินจำนวนมหาศาลเลยทีเดียว เธอต้องการเงินบริจาคเพียงแค่คนละ 10 เซ็นต์ จากจำนวนจดหมายลูกโซ่ 1,500 ฉบับที่ทำขึ้นมา

ลูซี่ขอให้ผู้ที่ได้รับจดหมายทำสำเนาส่งต่อให้กับเพื่อนฝูงอีกคนละ 3 ฉบับ หากทุกคนทำตามนี้เท่ากับจะมีผู้ได้รับจดหมายลูกโซ่ลำดับที่ 2 จำนวน 4,500 ฉบับ และถ้าผู้ได้รับจดหมายลำดับที่ 2 ทำสำเนาต่อก็จะมีผู้ได้รับจดหมายลูกโซ่ลำดับที่ 3 จำนวน 13,500 ฉบับ รวมยอดแค่ 3 ลำดับชั้น จะมีจำนวนผู้ได้รับจดหมายมากเกือบ 20,000 ฉบับ ถ้ามีการส่งต่อกันไปเรื่อยๆก็จะเป็นจำนวนหลักแสนอย่างรวดเร็ว

ไม่มีใครรู้ว่าจดหมายลูกโซ่ของลูซี่ถูกกระจายออกไปมากน้อยแค่ไหน แต่เงินบริจาคที่ได้รับมียอดรวม 6,000 ดอลลาร์ สมมุติว่าทุกคนบริจาคคนละ 10 เซ็นต์ตามที่ขอรับบริจาค ก็เท่ากับมีคนได้รับจดหมายลูกโซ่จำนวนไม่ต่ำกว่า 60,000 คน

สะกิดต่อมโลภ

ปี 1935 สถานการณ์การเงินอเมริกาถึงจุดตกต่ำที่สุดจากเหตุการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจ คนหัวใสแต่ใจคดได้ก่อตั้งบริษัทระดมเงิน (ทุน) ทำการซ้ำเติมผู้มีรายได้น้อยด้วยการหลอกให้เข้ามาสู่วงจรแชร์ลูกโซ่

มันเป็นช่วงเวลาที่ขัดสนที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์อเมริกา บริษัทกำมะลอชื่อ Prosperity Club (สมาคมมั่งคั่ง) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า Send-a-Dime (ส่ง 10 เซ็นต์) ก่อตั้งขึ้นในเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด เพื่อหลอกเอาเงินจากประชาชน

วิธีการก็คือ บริษัทส่งจดหมายไปยังกลุ่มเป้าหมาย จากนั้นให้ผู้ที่ได้รับจดหมายทำสำเนาส่งต่อให้กับคนอื่น ยิ่งส่งมากเท่าไร รวดเร็วเท่าไร เขาก็จะได้รับผลตอบแทนมากขึ้นตามลำดับ

กติกาง่ายๆคือ ในจดหมายจะมีรายชื่อและที่อยู่ 5 รายชื่อ ให้ส่งเงินบริจาค 10 เซ็นต์ให้กับรายชื่อแรก จากนั้นให้ทำสำเนาจดหมายส่งให้กับเพื่อน 5 คน โดยคัดลอกรายชื่อทั้งหมดยกเว้นรายชื่อแรกที่คุณส่งเงินไปให้ จากนั้นใส่ชื่อและที่อยู่ของคุณเองต่อเป็นลำดับสุดท้าย

เมื่อถึงเวลาที่ชื่อของคุณถูกเลื่อนมาเป็นอันดับแรก เท่ากับว่ามีคนส่งจดหมายลูกโซ่ที่มีรายชื่อคุณจำนวน 15,625 ฉบับ คุณจะได้รับเงิน 1,562.50 ดอลลาร์ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะคุณลงทุนเพียงแค่ 10 เซ็นต์เท่านั้น

มาไว ไปไว

บางคนอาจสงสัยว่าการทำแบบนี้บริษัทจะได้อะไร? คำตอบคือเขาขายแบบฟอร์มจดหมายลูกโซ่ที่มีรายชื่อผู้ที่อยู่ในวงจรจดหมายลูกโซ่ หากใครไม่ได้รับจดหมายลูกโซ่แต่อยากเข้ามาร่วมวงก็ต้องซื้อแบบฟอร์มนี้ไปในราคา 5 ดอลลาร์

หนังสือพิมพ์เดนเวอร์โพสต์ฉบับประจำวันที่ 29 เมษายน 1935 พาดหัวข่าวว่าจดหมายลูกโซ่ถูกจำหน่ายออกไปราว 350,000 ฉบับ ขณะที่สำนักงานไปรษณีย์รายงานว่ามีจดหมายลูกโซ่ส่งมาราว 165,000 ฉบับ มันกองสุมท่วมสำนักงานจนเจ้าหน้าที่คัดแยกกันไม่หวาดไม่ไหว

จดหมายเหล่านี้จ่าหน้าซองถึงคนในรัฐอื่นๆทั่วอเมริกา เมื่อถึงต้นเดือนพฤษภาคม 1935 จำนวนจดหมายลูกโซ่เพิ่มขึ้นถึงระหว่าง 450,000-800,000 ฉบับ มากเสียจนเจ้าหน้าที่ต้องทำงานล่วงเวลากันแบบหามรุ่งหามค่ำ

สุดท้ายแล้วมีผู้ที่ได้รับเงินจากจดหมายลูกโซ่เพียงไม่กี่คน และได้ไม่ครบตามจำนวนที่คาดหวัง ผู้ที่ได้รับผลตอบแทนเต็มเม็ดเต็มหน่วยมีแค่บริษัทที่ขายแบบฟอร์มจดหมายลูกโซ่แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ทำให้ผู้เสียหายกล่าวหาสำนักงานไปรษณีย์ว่ามีส่วนช่วยเหลือผู้กระทำความผิด

แม้จดหมายลูกโซ่จะขาดสะบั้น แต่ยังมีจดหมายที่รอการจัดส่งในที่ทำการไปรษณีย์มากกว่า 100,000 ฉบับ รัฐบาลสั่งอายัดจดหมายและยึดเงินในจดหมายที่รวบรวมได้กว่า 3,000 ดอลลาร์ ตกเป็นทรัพย์สินของประเทศ

วัฏจักรทองคำ

จดหมายลูกโซ่หายไปนานเกือบ 50 ปี ต่อมาในปี 1978 นักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดคนหนึ่งทำจดหมายลูกโซ่ออกมาจำหน่ายให้กับเพื่อนนักศึกษาในราคา 50 ดอลลาร์ เรียกว่าจดหมาย The Circle of Gold

ในจดหมายลูกโซ่มีรายชื่อและที่อยู่จำนวน 12 รายชื่อ ผู้ซื้อจะต้องส่งเงิน 50 ดอลลาร์ให้กับผู้ที่มีรายชื่อลำดับแรก จากนั้นให้คัดลอกรายชื่อทั้งหมดยกเว้นรายชื่อแรกแล้วใส่ชื่อตัวเองต่อเป็นลำดับสุดท้าย นำแบบฟอร์มนี้ไปขายต่อให้กับกลุ่มเป้าหมายคนอื่น

ว่าไปแล้ววิธีการไม่ได้แตกต่างไปจากจดหมายลูกโซ่ของสมาคมมั่งคั่ง ต่างกันก็แค่จำนวนรายชื่อและราคาจำหน่ายจดหมายลูกโซ่เท่านั้น เจโทร แพททิต หนึ่งในลูกค้ารายแรกๆเล่าว่า เขาทำเงินได้ 9,000 ดอลลาร์จากจดหมายลูกโซ่นี้

เจโทรทำเงินจากธุรกิจหลอกลวงนี้ได้เพราะเขาอยู่ลำดับต้นๆของแชร์ลูกโซ่ แต่สมาชิกลำดับต่อจากเขาแทบจะไม่มีใครสามารถขายแบบฟอร์มจดหมายลูกโซ่ได้เลย พวกเขาสูญเงิน 100 ดอลลาร์ไปโดยเปล่าประโยชน์

กลยุทธ์จดหมายลูกโซ่ยังคงถูกนำมาใช้ล่อเหยื่ออย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากการโพสต์ในสื่อโซเชียลมีเดียที่มีให้เห็นแทบทุกวัน แม้เวลาจะล่วงเลยมานานกว่าพันปีแล้วก็ตาม


You must be logged in to post a comment Login